ประชุมสุดยอดญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ 2023 ซ่อนเร้นเฉพาะกาล?

ประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำ ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กับยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อ 16 มีนาคม มีข้อมูลที่เปิดเผย พอจะวิเคราะห์ได้ดังนี้

สรุปภาพรวมเจรจา:

หนึ่งในไม่กี่เรื่องที่โดดเด่นชัดเจนคือ 2 ประเทศปรับความสัมพันธ์ GSOMIA สู่ระดับปกติ (completely normalize) GSOMIA (General Security of Military Information Agreement) คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางทหาร เช่น นิวเคลียร์เกาหลีเหนือ เป็นความร่วมมือตั้งแต่ 2016 และระงับไปเมื่อ 2019 จากเหตุญี่ปุ่นระงับส่งวัตถุดิบ สินค้าสำคัญบางตัวจากญี่ปุ่น ผสมกับความบาดหมางเมื่อเกาหลีเป็นอาณานิคมญี่ปุ่น 1910-45

ภาพ: หญิงบำเรอ (comfort women)
เครดิตที่มาภาพ: https://remembercomfortwomen.org/u-s-petition-to-unesco-to-include-the-comfort-women-documents/

ยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ก่อประโยชน์ด้านความมั่นคงแก่ทั้ง 2 ประเทศ แยกเรื่องนี้จากการเรียกร้องค่าชดเชยการใช้แรงงานสมัยเป็นอาณานิคมที่คาดว่ามีถึง 780,000 คน เรื่องหญิงบำเรอ (comfort women) มุมมองจุดยืนเกาหลีใต้ต่ออดีตญี่ปุ่นยังคงเดิม

ประธานาธิบดียุนอธิบายว่าเป็นนโยบายที่มุ่งมองอนาคต (future-oriented) ร่วมกัน

ข้อตกลงอีกข้อคือ ผู้นำ 2 ประเทศจะไปมาหาสู่กันและกันอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีช่วยขึ้นไป หลังระงับแล้ว 12 ปี เป็นเครื่องชี้วัดว่าความสัมพันธ์จะดีขึ้น โอกาสร่วมมือกันมากขึ้น

ลดข้อขัดแย้งทางการค้า เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนประชุมสุดยอด ทั้งคู่บรรลุแก้ข้อพิพาทการค้าที่มีอยู่ในระดับหนึ่ง ญี่ปุ่นคลายส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งๆ ที่เคยพยายามกันแล้ว ชี้ว่าทั้งคู่ยอมถอยคนละก้าว ข้อนี้ก่อประโยชน์แก่เกาหลีใต้อย่างเป็นรูปธรรม

สหรัฐได้ประโยชน์ด้วย สหรัฐขอให้เกาหลีใต้เพิ่มผลิตชิ้นส่วนชิปคอมพิวเตอร์เพื่อป้อนตลาดของตนในยามนี้ที่ขาดแคลน น่าจะเป็นอีกปัจจัยช่วยลดข้อพิพาทเรื่องนี้

โอกาสกับความท้าทาย:

แม้การกดขี่ในสมัยเป็นอาณานิคมจะผ่านมานานแล้ว ญี่ปุ่นเคยจ่ายชดเชยไปบ้าง ขอโทษบ้าง แต่คนเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งยังโกรธเคือง เรียกร้องไม่จบสิ้น เป็นประเด็นการเมือง นักการเมืองเกาหลีใต้ใช้หาเสียง เรียกคะแนนนิยม จะเห็นว่ารัฐบาลยุนกังวลเหมือนกัน จึงบอกว่าจุดยืนเกาหลีใต้ต่ออดีตญี่ปุ่นยังคงเดิม เรื่องอ่อนไหวยังเก็บไว้ ย้ำว่าการปรับสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคง ยกกรณีเกาหลีเหนือ

อันที่จริงตั้งแต่หาเสียงประธานาธิบดียุนมีจุดยืนปรับสัมพันธ์ ต่างจากพรรคที่แข็งกร้าวต่อญี่ปุ่น ถ้าอธิบายตามแนวนี้การปรับสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องแปลก

ข้อมูลปรากฏผ่านสื่อมีไม่มาก น่าเชื่อว่ามีข้อตกลงลับกับประเด็นหารือหลายข้อ ที่ปรากฏเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่แน่นอนคือ ประชุมสุดยอดญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ 2023 เป็นจุดเริ่มของการสานสัมพันธ์ใหม่ น่าจะมีความร่วมมืออื่นๆ ตามมาอีก เป็นเรื่องน่าติดตาม

มองไกลกว่าเกาหลีเหนือ:

แม้ข้อมูลที่เปิดเผยจะเอ่ยถึงภัยเกาหลีเหนือ รัฐบาลยุนมักอธิบายอย่างนั้น สอดคล้องกับที่รัฐบาลเกาหลีเหนือแสดงท่าทีแข็งกร้าว ทดสอบขีปนาวุธบ่อยครั้ง นักวิเคราะห์บางคนคิดว่าเป้าหมายหลักเป็นจีนมากกว่า Kim Gi-hyeon จาก People Power Party กล่าวว่า การสานสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอินโด-แปซิฟิกที่เผชิญภัยนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือและจีนที่ก้าวขึ้นมา

หากสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้แข็งแกร่งจะเสริมให้ฝ่ายสหรัฐเข้มแข็งขึ้นมาก เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เป็นพันธมิตรทางทหารสำคัญของสหรัฐในแถบนี้ รัฐบาลสหรัฐหวังพึ่งกำลังของทั้ง 2 ประเทศ แต่ทั้งคู่มีข้อบาดหมางตั้งแต่เก่าก่อน ซ้ำร้ายกว่านั้นเกิดประเด็นขัดแย้งใหม่ๆ ขึ้นอีก ในสมัยโอบามาพยายามเชื่อมสัมพันธ์แต่ไม่ได้ผลเท่าไรนัก ดังนั้นจะเข้มแข็งขึ้นเพียงไรอย่างไรน่าติดตาม รวมทั้งปฏิกิริยาจากจีน ผลต่อนาโตเอเชีย สงครามเย็นใหม่

เนื้อหายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฉบับล่าสุด “National Security Strategy October 2022” ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะชี้ว่า จีนเป็น “คู่แข่งสำคัญ” ต่างจากรัสเซียที่ระบุว่าเป็นภัยคุกคาม เป็นศัตรูต่อโลกเสรีประชาธิปไตย แต่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาโทนเสียงแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ ขู่จีนห้ามช่วยเหลือรัสเซีย ในขณะที่จีนซื้อพลังงานรัสเซียเพิ่มขึ้นมาก

กุมภาพันธ์ 2023 Jens Stoltenberg เลขาธิการนาโต กล่าวว่า ศึกยูเครนมีผลต่อความคิดของจีน ส่งผลต่อนโยบายจีน อะไรที่เกิดกับยุโรปจะมีผลต่อเอเชีย และอะไรที่เกิดขึ้นกับเอเชียจะมีผลต่อยุโรปเช่นกัน ตอนนี้ นาโตกำลังยกระดับความร่วมมือกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ “การก้าวขึ้นมาของจีนมีผลต่อความมั่นคง ผลประโยชน์ของเราและคุณค่าที่เรายึดถือ”

จึงเป็นไปได้ว่าอนาคตหนีไม่พ้นที่รัฐบาลสหรัฐจะรวมพันธมิตรเอเชียเข้ากับยุโรป หรือพูดอีกอย่างคือรวมพันธมิตรทางทหารทั้งโลก ไม่ว่าจะทำเป็นนาโต-2 นาโตเอเชีย หรือนาโตเดียวที่รวมทั้งหมด รวมความแล้วรัฐบาลสหรัฐตั้งเป้ากระชับพันธมิตรทางทหารที่ตนเป็นแกนนำให้ร่วมมือใกล้ชิดขึ้นอีก โดยอ้างภัยคุกคามจากทั้งรัสเซียกับจีน ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้คือเป้าหมายสำคัญที่ต้องร่วมมือกันให้ได้

สงครามเย็นใหม่เป็นอีกหัวข้อที่พูดกันมาก ถูกวิเคราะห์หลากหลาย สงครามเย็นใหม่หรือสงครามเย็นแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง แม้ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐกับพวกพยายามชี้ว่าจีนปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ รัสเซียไม่เป็นประชาธิปไตย มาถึงสมัยรัฐบาลไบเดนคำที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกใช้คือ การต่อสู้ระหว่างเสรีประชาธิปไตยกับทรราชย์ (tyranny) หรือพวกอำนาจนิยม

สงครามยูเครนกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลไบเดนออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียใหม่หลายชุด (เดิมรัสเซียถูกคว่ำบาตรในระดับหนึ่งอยู่แล้ว) ยุโรปเป็นจุดร้อนแรงที่ทั่วโลกจับตา

สังเกตว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจในขณะนี้คือ รัฐบาลสหรัฐกับพวกที่เล่นงานจีนในอินโด-แปซิฟิกและที่เล่นงานรัสเซียในยุโรป

ประเด็นสำคัญคือ เป็นความขัดแย้งอันเนื่องจากเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้น ไม่ใช่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองเศรษฐกิจ หากตีความว่า “สงครามเย็น” คือ การช่วงชิงอำนาจ ช่วงชิงผลประโยชน์ของ 2 อภิมหาอำนาจดังสมัยสงครามเย็นเมื่อศตวรรษก่อน สามารถอธิบายว่าของเดิมไม่ต่างจากสถานการณ์ปัจจุบัน ต่างกันเพียงจะนำเสนอเรื่องราวอย่างไร จะให้ประชาชนรับรู้อย่างไร เรื่องเหล่านี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ในอนาคตภาพนี้น่าจะชัดเขนยิ่งขึ้น

ความบาดหมางฝังลึกที่เกาหลีใต้มีต่อญี่ปุ่น ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลทำให้การปรับความสัมพันธ์ยุ่งยาก น่าสงสัย อาจมีผลช่วงสั้นๆ ตามอายุรัฐบาล

แค่ฟื้นฟูเฉพาะรัฐบาลนี้หรือไม่:

ทันทีที่สิ้นสุดการประชุม คนเกาหลีที่ต่อต้านญี่ปุ่นออกมาประท้วงทันที Lim O-kyeong โฆษกพรรค DPK ชี้ว่า รัฐบาลยุนหารือเรื่องหญิงบำเรอกับเกาะด็อกโด (Dokdo หรือเกาะทาเคชิมา (Takashima) ที่ทั้งสองประเทศอ้างว่าเป็นของตน) แต่รัฐบาลปฏิเสธ

ความบาดหมางในอดีตได้สืบเนื่องมานานแสนนาน เป็นทัศนคติที่ถ่ายทอดกันมา มีองค์กรเคลื่อนไหวเข้มแข็ง เช่น องค์กรที่เคลื่อนไหวเรื่องหญิงบำเรอ (comfort women - หญิงชาวบ้านที่ถูกทหารญี่ปุ่นใช้เป็นเครื่องปรนเปรอทางเพศระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2) เป็นประเด็นที่ฝ่ายการเมืองชอบใช้หาเสียง ที่ผ่านมาบางรัฐบาลเป็นมิตรกับญี่ปุ่น พอเปลี่ยนรัฐบาลสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไป จึงเป็นคำถามว่าการฟื้นสัมพันธ์รอบนี้จะยั่งยืนแค่ไหน การเมืองภายในของเกาหลีใต้เป็นปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ อีกทั้งความบาดหมางเก่าแก่นั้นไม่อาจแก้ด้วยรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดเดียว และไม่อาจแก้ด้วยรัฐบาลญี่ปุ่นเพียงชุดเดียว จนกว่าทัศนคติของสังคมจะเปลี่ยน

และที่บอกว่าเป็นนโยบายที่มุ่งมองอนาคตเป็นหลัก (future-oriented) เพื่อประโยชน์ความมั่นคงร่วมกันเป็นหลักการที่ฟังดูดี แต่ต้องติดตามผลบนความจริงมากกว่าหลักการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Jeddah Declaration 32 รวมอาหรับให้มั่นคงเป็นหนึ่งเดียว

แทนความขัดแย้งควรสร้างบรรยากาศการพัฒนา สันนิบาตอาหรับยินดีร่วมมือกับทุกมหาอำนาจ ทุกศาสนาเชื้อชาติ นี่คือจุดยืนของชาติอาหรับที่คิดและทำเพื่อตัวเอง เป็นสิทธิที่พลเมืองอาหรับควรได้รับ

อาเซียนมองสถานการณ์โลก2023

อาเซียนหวังให้ทุกประเทศ ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันโดยสันติ ก้าวข้ามความขัดแย้งทุกรูปแบบ ไม่แบ่งเป็นขั้ว นำสู่ความเจริญรุ่งเรืองอยู่ดีกินดีทั่วทุกคน

ไบเดนกับมาร์กอสจูเนียร์กระชับความเป็นพันธมิตร

รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ แสดงตัวเป็นมิตรกับจีนและอเมริกาพร้อมกัน แต่ผูกความมั่นคงใกล้ชิดอเมริกามากขึ้น แม้บอกว่าไม่ใช่ต้านจีนแต่ไม่สมเหตุผลเท่าไรนัก

Defence Strategic Review 2023 ของออสเตรเลีย

แนวยุทธศาสตร์แห่งชาติล่าสุดออสเตรเลียจะร่วมมือกับสหรัฐ ญี่ปุ่น และ AUKUS มากขึ้น ใช้ยุทธศาสตร์ป้องปราม รักษาสมดุลให้ก่อประโยชน์ต่อประเทศ

Pew Research ชี้คนอเมริกันมองจีนเป็นปรปักษ์มากขึ้น

ในสมัยทรัมป์โหมกระแสต่อต้านจีน ลามถึงคนเชื้อสายจีนในอเมริกา มาถึงสมัยไบเดนมองจีนเป็นปรปักษ์มากขึ้นอีก สอดคล้องข่าวโจมตีจีนจากรัฐบาลและสื่อกระแสหลัก