จับตายอดใช้พลังงานปี 66

ใกล้เข้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปี 2566 แล้ว ช่วงนี้ก็มักจะเห็นผู้คนเริ่มเตรียมแผนเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด ไปท่องเที่ยว หรือวางแผนใช้ชีวิตในช่วงวันหยุดยาวกันบ้างแล้ว ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในตัวสนับสนุนให้ภาพรวมการใช้พลังงานของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเห็นว่าภาพรวมการใช้พลังงานในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8% อยู่ที่ระดับ 2,047 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน แต่เมื่อมาดูยอดใช้งานในปี 2565 ที่แม้จะมีกิจกรรมทางสังคมที่เริ่มกลับมาเหมือนเดิมแล้ว แต่ยอดใช้พลังงานขั้นต้นนั้นลดลง 

แต่เป็นการลดลงเล็กน้อยเพียง 0.1% ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยสรุปได้ว่าภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 1,990 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

ลดลงเล็กน้อย 0.1% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยเป็นการลดลงจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ 9.6% และสำหรับการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลง 9.1% ในส่วนของการใช้ในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาถ่านหินปรับตัวสูงขึ้น แต่ในส่วนการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 14.9% เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติเพิ่มมากขึ้น  

การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ภาพรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14.4% อยู่ที่ระดับ 137.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 87.7% มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 9.2 ล้านลิตรต่อวัน จากการผ่อนคลายการเดินทางข้ามประเทศที่แทบจะกลับมาเป็นปกติแล้ว สะท้อนไปยังภาคการท่องเที่ยวด้วยที่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเริ่มเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น ขณะที่คนไทยเองก็เริ่มเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

ขณะที่ด้านการใช้ไฟฟ้า ภาพรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.5% อยู่ที่ 197,209 ล้านหน่วย จากการใช้ที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้นครัวเรือนและภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (พีกไฟฟ้า) ของปี 2565 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565 ณ เวลา 14.30 น. ที่ระดับ 33,177 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับพีกของปี 2564 ที่ระดับ 31,023 เมกะวัตต์ โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 2.5% สำหรับภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 11% โดยกลุ่มธุรกิจสำคัญที่มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรม เพิ่มขึ้น 44.3% ธุรกิจอพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์ เพิ่มขึ้น 14.1% และธุรกิจห้างสรรพสินค้า เพิ่มขึ้น 10.2% เป็นต้น 

แต่ล่าสุดในปี 2566 นั้น ที่มีการคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเติบโตขึ้นจากปีก่อน ก็เริ่มเห็นภาพสะท้อนในด้านนี้บ้างแล้ว แม้จะผ่านช่วงเวลามาแค่ 3 เดือน โดยจากข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้มีการเปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือน ม.ค. เพียงเดือนเดียวอยู่ที่ 161.49 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.2% โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 3.1% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 102.7% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 7.4% ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้น 9% และการใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 1.5%  

รวมถึงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็มีการรายงานว่าสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนของไทยร้อนแรงอย่างมาก ส่งผลถึงปริมาณพีกไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้า คือ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. ปีนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 32,963 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 20.52 น. ของวันที่ 6 เม.ย.นี้ เนื่องจากอุณหภูมิในประเทศไทยร้อนจัด ส่งผลให้แต่ละบ้านเปิดเครื่องปรับอากาศ แอร์ และพัดลมคลายร้อนพร้อมๆ กัน จนทำให้เกิดไฟฟ้าพีก 

แม้จะผ่านไปเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่ความต้องการใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าในเดือน เม.ย.นี้ ที่เป็นช่วงเทศกาล ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการใช้พลังงานให้เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ผู้ใช้อย่างเราๆ ก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปด้วย เพราะมันเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิต ทางที่ดีก็อยากจะให้ใช้อย่างพอควร และช่วยกันประหยัดพลังงานเพิ่มเซฟเงินในกระเป๋า และดูแลธรรมชาติไปในตัว. 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท