คำเตือนจากกูรู: ‘เราต้องควบคุม AI ให้ได้ก่อนที่มันจะควบคุมเรา...’

ผมอ่านหนังสือของนักเขียนคนดังคนนี้มาหลายเล่ม...และจำได้ว่าเขาเคยเตือนว่ามนุษย์จะถูก “ปัญญาประดิษฐ์” ยึดครองชีวิตหรือไม่ย่อมอยู่ที่มนุษย์เอง

 “ถ้าเรายอมให้ AI ทำอะไรมากขึ้นๆ และมนุษย์ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม ก็อย่าได้แปลกใจถ้าหาก AI จะค่อยๆ ยึดครองปัญญาของเราไป...”

ดูเหมือนนั่นจะเป็นข้อสรุปคร่าวๆ ที่เขาเขียนไว้ใน Homo Deus: A Brief History of Tomorrow

แต่หลายปีก่อนตอนที่เขากำลังเขียนเรื่องราวของ “ประวัติศาสตร์ขนาดสั้นของวันพรุ่งนี้” นั้น AI ยังไม่พัฒนาถึงระดับทุกวันนี้ด้วยซ้ำไป

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ Yuval Noah Harari (ยูวัล โนอาห์ แฮรารี) จะออกมาเตือนว่า

 “ถ้าผมไม่รู้ว่ากำลังคุยกับคนจริงๆ หรือสนทนากับ AI กันแน่ นั่นย่อมจะเป็นการล่มสลายของประชาธิปไตย...”

แฮรารี มีชื่อเสียงโด่งดังจากหนังสือชื่อ Sapiens: A Brief History of Humankind ซึ่งเล่าเรื่องประวัติมนุษยชาติได้อย่างสนุกด้วยมุมมองนอกกรอบที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก

ล่าสุดเขาเขียนบทความลงในหลายสื่อทางตะวันก รวมถึง The Economist โดยออกมาเตือนว่า

ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ได้ "เจาะ" หรือ hack ระบบปฏิบัติการของอารยธรรมมนุษย์เรียบร้อยแล้ว

นั่นแปลว่า AI ทะลุทะลวงสติปัญญาของมนุษย์แล้ว

นักเขียนชาวอิสราเอลคนนี้บอกว่า การพัฒนา AI ที่ก้าวไปอีกหลายชั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจคุกคามความอยู่รอดของอารยธรรมมนุษย์จาก "ทิศทางที่คาดไม่ถึง"  ความกังวลของเขาคือ AI สามารถส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมโดยเฉพาะเรื่องภาษา

แฮรารี บอกว่า “ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากวัฒนธรรมเกือบทั้งหมด ตัวอย่างเช่น สิทธิมนุษยชนไม่ได้ถูกจารึกไว้ในดีเอ็นเอของเรา

แต่เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่เราสร้างขึ้นโดยการบอกเล่าเรื่องราวและเขียนกฎหมาย พระเจ้าไม่ใช่ความจริงทางกายภาพ แต่เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่เราสร้างขึ้นโดยการประดิษฐ์ตำนานและเขียนคัมภีร์”

นอกจากนั้น ประชาธิปไตยเป็นภาษาที่ใช้สนทนาเพื่อให้มีความหมายของการอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่มนุษย์กำหนด

และเมื่อ AI แฮ็กภาษา มันก็สามารถทำลายประชาธิปไตยได้เช่นกัน

เขาจึงแสดงความกลัวว่าเมื่อ AI “ฉลาด” ขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์ สิ่งที่จะตามมาก็คือผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสังคม

และจะมีผลกว้างไกลด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และจิตวิทยา

แฮรารีในวัย 47 ยืนยันว่า ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุค AI ไม่ใช่การสร้างเครื่องมือ “อัจฉริยะ”

แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม

เขาย้ำว่า เมื่อข้อมูลผิดถูกขับเคลื่อนโดย AI ก็สามารถเปลี่ยนทิศทางของเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างน่ากลัว

เขายกตัวอย่างลัทธิ QAnon ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สังกัดกลุ่มขวาจัดในสหรัฐฯ

QAnon เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดผ่าน "Q drops" ที่ผู้ติดตามมองว่าเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ไม่ต่างกับคัมภีร์เลยทีเดียว

อีกด้านหนึ่ง ด้วยความเชี่ยวชาญด้านภาษา AIสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้คน และใช้พลังของความใกล้ชิดนั้นเปลี่ยนความคิดเห็นและโลกทัศน์ของคนในสังคมได้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นสมรภูมิในการกำหนดความสนใจของมนุษย์

และ AI รุ่นใหม่สามารถโน้มน้าวใจผู้คนให้ลงคะแนนเสียงให้นักการเมืองคนใดคนหนึ่ง หรือซื้อผลิตภัณฑ์บางอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เขายกตัวอย่างพลังงานนิวเคลียร์ ที่สามารถผลิตพลังงานราคาถูกและสะอาดได้

แต่ขณะเดียวกันมันก็สามารถทำลายอารยธรรมมนุษย์ได้เช่นกัน

แต่มนุษย์ได้เรียนรู้วิธีการควบคุมพลังงานนิวเคลียร์ได้ การปรับเปลี่ยนระเบียบสากลเพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการออกกฎควบคุมเทคโนโลยี AI

โดยกฎระเบียบข้อแรกคือ การกำหนดบังคับให้ AI ต้องเปิดเผยว่าเป็น AI ไม่ใช่หลอกว่าตนเป็นมนุษย์

ที่สำคัญคือต้องหยุด "การปรับใช้เครื่องมือ AI ที่ขาดความรับผิดชอบ" ในการบริหารสาธารณสมบัติ

 “เราต้องควบคุม AI ก่อนที่มันจะควบคุมเรา”

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกรอบจริยธรรมเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดจาก AI

ความน่ากังวลอีกเรื่องหนึ่งคือ AI อาจจะทำให้ความไม่เท่าเทียมในสังคมเพิ่มความรุนแรงขึ้นไปอีก

แฮรารี เตือนว่า AI สามารถสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาได้ และอาจจะนำไปสู่แรงบันดาลใจให้เกิดลัทธิใหม่ๆ ได้อีกด้วย

นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาคนนี้เตือนด้วยว่า เทคโนโลยีอาจสามารถดึงดูดผู้นับถือศาสนาที่พร้อมจะสังหารในนามของศาสนา

จึงต้องกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายออกมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมถึงกฎระเบียบลงไปถึงรายละเอียดที่มีความอ่อนไหวและมีผลกระทบต่อสังคมในส่วนรวม

เขากลัวว่าซอฟต์แวร์ เช่น ChatGPT ที่มีความเชี่ยวชาญภาษามนุษย์ และสามารถใช้ทักษะนั้นหล่อหลอมวัฒนธรรมไปในแนวทางที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้

 “เป็นเวลาหลายพันปีที่ผู้เผยพระวจนะ กวี และนักการเมืองใช้ภาษาและการเล่าเรื่องเพื่อบงการและควบคุมผู้คน และเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม” เขากล่าว

 “ตอนนี้ AI น่าจะทำได้แล้ว และเมื่อทำได้...ก็ไม่จำเป็นต้องส่งหุ่นยนต์นักฆ่ามายิงเรา มันสามารถทำให้มนุษย์เหนี่ยวไกได้”

 “ตรงกันข้ามกับที่ทฤษฎีสมคบคิดบางคนสันนิษฐานไว้ คุณไม่จำเป็นต้องฝังชิปในสมองของผู้คนเพื่อควบคุมหรือบงการพวกมัน” เขาบอก

เขาจึงสรุปว่า รัฐบาลทั่วโลกต้องเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วในการตีกรอบกิจกรรมของ AI ก่อนที่มันจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทยาไม่สามารถขายยาใหม่ให้แก่ผู้คนได้ หากไม่ได้ตรวจสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างเข้มงวดก่อน

 “ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลต้องสั่งห้ามการเผยแพร่เครื่องมือ AI ที่ปฏิวัติวงการใดๆ ให้เป็นสาธารณสมบัติในทันที ก่อนที่เครื่องมือเหล่านั้นจะได้รับการพิสูจน์โดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถว่าปลอดภัยสำหรับสังคมมนุษย์”

คำเตือนจากผู้คนหลายวงการกำลังดังกระหึ่ม แต่นักวิทยาศาสตร์และนักพัฒนา AI ก็กำลังแข่งขันกันอย่างเร่าร้อน เพราะต่างคนต่างกลัวจะ “ตกรถไฟขบวนใหญ่”

เป็นภาพที่น่าตื่นเต้นและน่ากังวลพอๆ กัน!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

AI: ‘จุดจบของมวลมนุษยชาติ’?

ปกสีแดงฉานพร้อมตัวอักษร AI เป็นแสงขาวโพลนเพื่อตอกย้ำว่า AI อาจกำลังทำลายมนุษยชาตินั้นดึงดูดความสนใจของผู้คนได้ไม่น้อย

ความขัดแย้งมหาอำนาจวันนี้ หนักกว่าช่วง ‘สงครามเย็น’

ที่ผมเกาะติดข่าวคราวของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นพิเศษ นั่นเพราะความตึงเครียดในความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจนั้นจะมีผลกระทบต่อไทยในเกือบทุกๆ มิติที่เราไม่อาจจะมองข้ามได้

เบื้องหลังมังกรจีนบอกปัด เสวนากับอินทรียักษ์

ผมให้ดูรูปนี้เพื่อให้เห็นบรรยากาศ “ความเย็นชา” ที่จีนจงใจจะแสดงต่อสหรัฐฯ ในภาพนี้รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน เดินไปขอจับมือกับรัฐมนตรีกลาโหมจีน หลี่ ซ่างฝู ในงานดินเนอร์ของการประชุมสุดยอดความมั่นคงเอเชีย Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์เมื่อคืนวันเสาร์

เมื่อจีนเมินข้อเสนอมะกันให้ รัฐมนตรีกลาโหมคุยนอกรอบ

เมื่อวานเขียนถึงคำประกาศของสี จิ้นผิง ให้กองทัพจีนเตรียมตั้งรับ “สถานการณ์ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด” ก็มีเรื่องต้องเขียนต่อเนื่องกันหลายประเด็นทีเดียว

สี จิ้นผิงสั่งให้กองทัพจีนพร้อม รับ ‘ฉากทัศน์เลวร้ายที่สุด’

น้ำเสียงและท่าทีของผู้นำจีนกร้าวขึ้นทุกวัน...ล่าสุดประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศว่าจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่ 'ซับซ้อนมากขึ้น'