ทองแท้ต้องพิสูจน์

สัญญาณไม่ค่อยดีครับ

น่าจะมีม็อบกลางกรุงในเร็วๆ นี้

ไม่ใช่ม็อบเหลือง ไม่ใช่ม็อบแดง ไม่ใช่ กปปส. ไม่ใช่สลิ่ม แต่เป็น ด้อมส้ม

เตรียมตัวครับ ม็อบตระกูล "ทะลุ" มีแนวโน้มจะออกมาอีกรอบ หาก "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล

ในโซเชียลเขานัดลงถนนกันแล้ว

ฟังคำให้สัมภาษณ์ของรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม แล้วเสียวครับ เพราะปมหุ้นไอทีวีอาจสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองมากกว่าที่คิด

"พิธา" ถือหุ้นไอทีวี        

ไอทีวียังดำเนินธุรกิจอยู่

"ไอทีวี" ดำเนินธุรกิจรับจ้างโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทุกชนิด ทุกประเภท โดยมีบริษัทในเครือ "บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัด" ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุ โทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อ/ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และจัดกิจกรรมการตลาดอื่นๆ จากเดิมที่เคยดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์

วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๖ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ มีมติรับทราบรูปแบบการดําเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา และจากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น ไอทีวีจึงจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส ๒/๒๕๖๖

ในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ๒๕๖๖ มีการสอบถามว่า "ไอทีวี" ดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่

 บริษัทตอบในที่ประชุมว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ

มีข้อโต้แย้งว่า ไอทีวีจอดำไปแล้ว จะถือว่ายังดำเนินกิจการอยู่ได้อย่างไร

คำตอบคนในวงการข่าวสารรู้ดี สื่อทีวีในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในจอทีวีอย่างเดียว

ไม่มีช่องทีวีก็ทำทีวีได้

ยูทูบ เฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก ฯลฯ ล้วนเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากกว่าทีวีด้วยซ้ำ

ไอทีวีสามารถใช้ช่องทางนี้ในการดำเนินธุรกิจได้

อาจมีข้อโต้แย้งว่า ไอทีวีไม่ได้ทำข่าวแล้ว ไม่มีรายการออกอากาศแต่อย่างใด

แต่ถ้าวันหนึ่งไอทีวีจะกลับมาทำข่าวแล้วเผยแพร่ในโซเชียลได้หรือไม่

คำตอบคือได้

ฉะนั้นในแง่กฎหมาย ไอทีวีจึงยังประกอบธุรกิจสื่ออยู่

มันก็เหมือนพรรคการเมืองนั่นแหละครับ ไปจดหัวทิ้งไว้ เผื่อเอาไว้หากมีอุบัติเหตุทางการเมือง ระหว่างนั้นไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร

อยู่มาวันหนึ่งกลายเป็นพรรคการเมืองขนาดกลาง ขนาดใหญ่

หรือไม่ก็ถูก กกต.ยุบทิ้งไป เพราะไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร เป็นพรรคการเมืองร้าง

ไอทีวีก็เช่นกัน หากไม่เกิดกรณี "พิธา" ขึ้น ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าวันหนึ่งจะนำเสนอข่าวสารผ่านโซเชียลหรือไม่

กฎหมายห้าม ส.ส.ถือหุ้นสื่้อ เพราะเกรงว่าสื่อถูกการเมืองครอบงำ

นักการเมืองที่มีหุ้นสื่อส่วนใหญ่ทิ้งหุ้นกันไปเกือบหมดแล้ว 

เพราะคำว่า "หุ้นสื่อ" คือหายนะของนักการเมือง

๑๔ ล้านเสียงช่วย "พิธา" ได้หรือไม่

ถ้าเห็นกฎหมายเป็นกฎหมาย "พิธา" ต้องยอมรับกระบวนการตรวจสอบ อย่าเพิ่งรำคาญหาว่าพวกนักร้องจุกจิก

หากเรื่องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ผลออกมาอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น

หาก "พิธา" รอด ก็ถือเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย

ถ้าผิด ผลต่อเนื่องที่จะตามมามีไม่น้อยทีเดียว

"วิษณุ" บอกว่า อยู่ที่คำร้องว่าร้องประเด็นไหนบ้าง  

การรับรองสมาชิกพรรคก้าวไกลในการสมัคร ส.ส. โดย "พิธา" ประเด็นนี้อาจไกลไปหน่อย แต่หาก "พิธา" ผิด ก็มีโอกาสล้มเป็นโดมิโน

"...ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเลือกตั้งซ่อมใหม่ทั้งหมด อย่างในอดีตที่คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ไปกาลงคะแนน และมีคนไปถ่ายไว้ ซึ่งเกิดเหตุเพียงคูหาเดียว แต่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นโมฆะทั้งประเทศ ฉะนั้น กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน หากมีการเลือกตั้งซ่อมต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ..."

เป็นกรณีเลวร้ายสุดในมุมมองของ "วิษณุ"

ครับ...นี่คือสิ่งที่ "ด้อมส้ม" เริ่มกังวล และไม่พอใจหาก "พิธา" ถูกคุมกำเนิด

ถนนจะเต็มด้วยม็อบอีกครั้ง!

หรือว่าควรจะปล่อย "พิธา" ไป เพราะประชาชนลงคะแนนให้ถึง ๑๔ ล้านเสียง เหมือนที่เคยมีอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปล่อยทักษิณจากคดีซุกหุ้น

เพราะประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทยถึง ๑๑ ล้านคน             

แล้วจะทำอย่างไรกับกฎหมาย

จะยกเว้นให้เฉพาะ "พิธา" คนเดียวอย่างนั้นหรือ

ในวงการกฎหมายน่าจะรู้ดี ไม่ว่าคนร้องจะเป็นใคร จะเป็นนักร้องหมายเลข ๑ หรือหมายเลข ๒, ๓ ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

มันสำคัญที่ "พิธา" ถือหุ้นสื่อไอทีวีจริง

และการถือหุ้นไอทีวีของ "พิธา" เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องพิสูจน์ตามกระบวนการที่มีอยู่ คือจาก กกต. ไปศาลรัฐธรรมนูญ

อยากให้คนที่กำลังจะปลุกม็อบคิดในมุมกลับกัน 

หาก "พิธา" จัดการกับตัวเองให้เรียบร้อยนับตั้งแต่เรื่องเกิดกับ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดกับ "พิธา"

แน่นอนครับ การเป็นบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะ ผู้นำประเทศ การถูกตรวจสอบจะเข้มข้น และควรยอมรับการตรวจสอบนั้น นี่คือหลักการเบื้องต้นที่ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายปฏิบัติกัน

ดูกรณี "ลุงตู่" เป็นตัวอย่าง ถูกตรวจสอบจนหน้าเขียวมาแล้ว จากกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่

ถูกหาว่าปฏิญาณตนไม่ครบ

ปมถวายสัตย์ปฏิญาณตน ถูกนำไปขยายความทั้งในและนอกสภา ตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น จนถึงไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

จะชอบหรือไม่ชอบ นี่คือการตรวจสอบ

จะเป็นว่าที่รัฐบาล หรือรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยไม่อาจหลบเลี่ยงการตรวจสอบได้   

 อย่ารัก "พิธา" มาก จนยกให้ "พิธา" อยู่เหนือกฎหมาย

อย่ารำคาญการตรวจสอบ ด่าทอว่ากฎหมายเป็นเผด็จการ เพราะนี่คือหนึ่งในตัวบทกฎหมายที่ไทยลอกมาจากฝรั่งตะวันตก ที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองครอบงำสื่อ

ต้องเชียร์ให้มีการตรวจสอบ "พิธา" ครับ

เพราะถ้าผลออกมา "พิธา" ขาวสะอาด "พิธา" ก็จะยืนหยัดเปลี่ยนประเทศไทยได้อย่างทระนง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ