ศูนย์ยานยนต์อันดับ1ในอาเซียน

อีกไม่นานนี้คงเปิดอย่างเต็มรูปแบบ และประเทศไทยของเราก็จะมีศูนย์ทดสอบยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นแผนงานของกระทรวงพลังงานที่ดำเนินการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ผลักดันให้ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) หรือแอดทริก เกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

แน่นอนว่า อย่างที่รู้กันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยนั้นถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าให้กับภาคเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างยอดส่งออก สร้างการจ้างงานอีกมหาศาล และการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์หรือแอดทริกขึ้นมานั้น

ก็เพื่อตอบโจทย์กับการเดินหน้าอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ โดยแอดทริกจะเป็นสถานที่ทดสอบยานยนต์ (Automotive) และยางล้อ (Tyre) มาตรฐานระดับโลก และจะเป็นฮับการทดสอบ (Testing) การวิจัย (Research) และนวัตกรรม (Innovation) อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก

โดยไม่ใช่เพียงรถยนต์สันดาปเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทดสอบประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีอีกด้วย โดยคาดว่าศูนย์ทดสอบฯ จะมีรายได้กว่าปีละ 1,000 ล้านบาท รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ ประมาณ 30-50% และสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี

ซึ่งนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยในระหว่างนำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงการว่า ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว 55% ใช้เงินงบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินงบประมาณ 1,667.69 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2569 และตั้งแต่เปิดให้บริการสนามทดสอบยางล้อ สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2562 เป็นต้นมา มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการสนามทดสอบยางล้อแล้วจำนวนกว่า 300 ราย

โครงการแอดทริกใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 3,705.7 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการบนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ เฟสที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อ ได้ดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 (เกณฑ์มาตรฐานยางล้อที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปของสหประชาชาติ) อาคารสำนักงาน พร้อมห้องปฏิบัติการและระบบสาธารณูปโภค

รวมทั้งดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบความต้านทานการหมุน และชุดเครื่องมือทดสอบมลพิษทางเสียงขณะหมุนและการยึดเกาะถนนบนพื้นผิวเปียก โดยเปิดให้บริการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 เฟสที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนสนามทดสอบแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่

อาคารควบคุมการทดสอบ สนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance) สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake (Test Hill)) สนามทดสอบพลวัต (Dynamic Platform) สนามทดสอบการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง (Skid-Pad) รวมทั้งดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชุดทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย ระบบยึดแบบไอโซฟิก และจุดยึดไอโซฟิกทอปเทเทอร์ ชุดทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศีรษะสำหรับใช้ในยานยนต์ ชุดทดสอบเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบห้ามล้อสำหรับรถยนต์บรรทุกและห้ามล้อสำหรับรถยนต์นั่งแล้วเสร็จ

คงเหลือเพียงการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะตามมาตรฐาน UN R117 ทางวิ่ง (Run-In) ส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ จัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบการยึดเกาะถนนการเข้าโค้ง ชุดเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์เลี้ยวสำหรับยานยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์

มั่นใจได้เลยว่า เมื่อศูนย์แอดทริกนี้สร้างแล้วเสร็จ จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นและสามารถใช้ดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก เพราะประเทศไทยจะถือเป็นวันสต็อปเซอร์วิสเกี่ยวกับด้านนี้อย่างเต็มตัว...

 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท