ฮุน เซนก่อเรื่องป่วนอาเซียนด้วย การกระโดดเข้าอุ้มมินอ่องหล่าย

เพิ่งเขียนถึงนายกฯ ฮุน เซน แห่งกัมพูชาเมื่อวาน ก็มีเหตุจะต้องเขียนต่อถึงท่านผู้นำวาทะร้อนแรงท่านนี้อีกแล้ว

เพราะฮุน เซน บอกว่า ไม่สนใจว่าผู้นำอาเซียนเคยมีมติเรื่องเมียนมามาก่อนอย่างไร ปีหน้าพอตนเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนก็จะทำอย่างที่ตนอยากทำ

นั่นคือเขาเตรียมแสดงบทบาทเอียงเข้าหาผู้นำกองทัพในเมียนมาอย่างเปิดเผย

ประกาศพร้อมเยือนเมียนมาและเชิญตัวแทนทหารเมียนมาร่วมประชุมอาเซียน 

“เมียนมาเป็นสมาชิกครอบครัวอาเซียน ต้องมีสิทธิ์เข้าประชุม”

ผู้นำกัมพูชาที่นั่งตำแหน่งสูงสุดของประเทศมา 36 ปีแล้ว บอกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่าจะไปเยือนเมียนมาเร็วๆ นี้ เพื่อพบกับนายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของประเทศนั้น

ใครจะแสดงความรังเกียจคนก่อรัฐประหารคนนี้อย่างไร ฮุน เซน บอกไม่แคร์ เขารักของเขา ใครจะทำไม            

 “ถ้าผมไม่ทำงานร่วมกับผู้นำของเมียนมา ผมจะทำงานกับใคร” ฮุน เซน ถามกวนๆ ตามสไตล์

แถมยังตอกย้ำหลักการ “ไม่แทรกเซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกของอาเซียน”

เป็นที่รู้กันว่ากัมพูชาเป็นหนึ่งในสามประเทศในอาเซียน (อีกสองประเทศคือลาวและเวียดนาม) ที่ไม่เคยแสดงท่าทีหรือจุดยืนทางลบต่อการยึดอำนาจและความรุนแรงในเมียนมา

พอจะสันนิษฐานได้ไหมว่าประเทศไทยคงอยู่กลางๆ ระหว่างสองกลุ่มนี้

เดือนที่ผ่านมา อาเซียนไม่เชิญมิน อ่อง หล่าย ร่วมประชุมสุดยอดเพื่อกดดันให้ผู้นำเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

และให้ดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อที่ผู้นำอาเซียน (รวมทั้งมิน อ่อง หล่ายด้วย) ที่ตกลงกันที่จาการ์ตาเมื่อเดือนเมษายน

แต่ผู้นำทหารเมียนมาคนนี้ไม่ทำอะไรตามนั้นเลยแม้แต่ข้อเดียว อ้างว่าสถานการณ์ในประเทศยังไม่สงบ

ปีหน้ากัมพูชาทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน ฮุน เซน จึงเล่นบท “ฉันกำหนดแนวทางตามที่ฉันเห็นควร”

คนที่ติดตามข่าวสารอาเซียนยังคงจำได้ว่าเมื่อ  10 ปีที่แล้ว ฮุน เซน ก็สร้างความปั่นป่วนในฐานะประธานด้วยการทำให้การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจบลงโดยไร้แถลงการณ์ร่วมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน

เพราะฮุน เซน ไม่ยอมให้มีการกล่าวพาดพิงเรื่องทะเลจีนใต้ เพราะจีนมากระซิบฮุน เซน ขออย่าให้เอ่ยถึงเรื่องนี้ในเอกสารทางการของผู้นำอาเซียน

ฟิลิปปินส์ไม่ยอม เดินออกนอกห้องประชุม อาเซียนก็เลยแตกกระเจิง

เมื่อตกลงกันไม่ได้ว่าจะเขียนแถลงการณ์ร่วมอย่างไร ฮุน เซน ก็เลยใช้อำนาจของประธานที่ประชุมสั่งการว่า “ไม่ต้องมีแถลงการณ์ร่วมก็แล้วกัน”

เป็นที่รู้กันว่ากัมพูชาเป็นประเทศในอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนที่สุด จึงเกรงใจปักกิ่งในหลายๆ เรื่อง

แต่สมาชิกอาเซียนหลายประเทศเห็นว่าอาเซียนต้องไม่ยอมปล่อยให้มิน อ่อง หล่าย “ลอยนวล” ด้วยการไม่ทำอะไรตามข้อตกลงเลย

อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และบรูไน ยืนยันหนักแน่นว่าอาเซียนต้องแสดงจุดยืนเรื่องนี้ให้แข็งขัน

หาไม่แล้ว ภาพลักษณ์ของอาเซียนจะถูกด้อยค่า ถูกมองว่าไม่มีน้ำยา

เป็นที่มาของการที่ไม่เชิญมิน อ่อง หล่าย มาร่วมประชุมผู้นำอาเซียนสุดยอดปีนี้

แต่ฮุน เซน กำลังจะบอกว่าเขาไม่จำเป็นต้องฟังเสียงสมาชิกอื่นในอาเซียน

เมื่อเขานั่งหัวโต๊ะ เขาจะเชิญผู้นำทหารมาร่วมประชุมอย่างเต็มภาคภูมิ

นี่ย่อมสะท้อนว่าอาเซียนจะแตกดังโพละด้วยเรื่องเมียนมาเป็นแน่แท้

ฮุน เซน ไม่ได้พูดเฉยๆ เขาทำให้เห็นด้วยว่าพูดจริงทำจริง

หนึ่งวันหลังจากศาลเมียนมาตัดสินให้อองซาน ซูจี ถูกจำคุก 4 ปี (มิน อ่อง หล่าย ลดลงเหลือ 2 ปี) ข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายภัยพิบัติกรณีหาเสียงช่วงโรคระบาดโควิด-19 และ “ยุยงปลุกปั่น” เขาก็ต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมามาเยือนพนมเปญหน้าตาเฉย

วันนา หม่อง ลวิน บินมาที่เมืองหลวงกัมพูชาทันทีและเข้าพบฮุน เซน

มีภาพทางการที่เห็นทั้งสองแตะศอกทักทายก่อนการพบปะพูดจากันอย่างสนิทสนม

ขิ่น มอน ซอว์ ทนายความของจำเลย บอกว่ามีแนวโน้มสูงที่จะมีการอุทธรณ์คำตัดสิน

แต่ยังคงไม่มีการตัดสินใจในเรื่องนี้

เป็นไปได้ว่าเธออาจถูกย้ายจากการกักบริเวณภายในบ้านพักในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาไปยังสถานที่กักกันของทางการ

รัฐบาลทหารเมียนมาได้ฟ้องนางซูจีทั้งหมด 12 ข้อหา

มีตั้งแต่ข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ละเมิดกฎหมายปกปิดความลับของทางการ มีเครื่องมือสื่อสารครอบครองอย่างผิดกฎหมาย และใช้ที่ดินของรัฐในทางมิชอบ

แปลว่าหากถูดตัดสินว่ามีความผิดในทุกข้อหา เธออาจต้องโทษจำคุกนานกว่า 100 ปี

ไม่ต้องแปลกใจหากนักวิเคราะห์การเมืองเมียนมาจะมองว่า การฟ้องนางซูจีในหลายข้อหา เป็นวิธีการที่รัฐบาลทหารเมียนมานำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เธอกลับมามีอิทธิพลทางการเมืองได้อีกในอนาคต

คำตัดสินจำคุกก็อาจทำให้เธอไม่สามารถกลับมาลงสมัครเลือกตั้งได้ทันการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่รัฐบาลทหารกำหนดไว้ในปี 2023 ได้

ปีนี้เธอเข้าสู่อายุ 76 แล้ว

มิน อ่อง หล่าย คงคิดว่าถ้าซื้อเวลาไปเรื่อยๆ อีกไม่นานเธอก็คงหมดสภาพที่จะเป็นคู่กรณีทางการเมืองกับกองทัพ

เมื่อได้น้ำเลี้ยงจากฮุน เซน เพื่อนรักด้วยแล้ว ผู้นำทหารเมียนมาคนนี้ก็คงจะกระดี๊กระด๊าพอสมควร

แต่ผลที่ตามมาก็คือ ฮุน เซน กำลังจะสร้างความปั่นป่วนให้กับอาเซียนอย่างหนักอีกครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้