กลุ่ม Hamas คือใคร? (ภาค 2)

สัปดาห์ก่อนผมปูทางเรื่อง Hamas วันนี้ขอต่อเนื่องครับ

Hamas ก่อตั้งในปี 1987 ภายใต้แกนนำของ Sheikh Ahmed Yassin ซึ่งเป็นอิหม่ามเชื้อสายปาเลสไตน์ เป็นคนพิการต้องนั่งวีลแชร์ตลอด เขาก่อตั้ง Hamas เพื่อเป็นทางเลือกระหว่างกลุ่มเขากับกลุ่ม Palestinian Islamic Jihad (PIJ) ที่ออกหัวรุนแรงพอๆ กัน

ในปี 1988 Hamas ได้ประกาศบทบัญญัติของเขา มีจุดยืนชัดเจนคือลบล้างและทำลายความเป็นอิสราเอลทุกอย่าง เพื่อยึดพื้นที่อิสราเอลกลับสู่เจ้าของจริง คือคืนให้ปาเลสไตน์ วิธีการลบล้างและทำลายอิสราเอลไม่ผ่านเส้นทางเจรจา ไม่ผ่านเส้นทางการทูต

ต้องใช้ความรุนแรงอย่างเดียว ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพราะนั่นคือวิธีเดียวที่อิสราเอลจะเข้าใจ เพราะเป็นวิถีของอิสราเอลต่อพวกปาเลสไตน์

พอปี 2017 มีการเสนอบทบัญญัติใหม่ เพื่อไม่ให้ Hamas ดูเป็นกลุ่มก่อการร้ายเกินไป และเพื่อเข้ากับประเทศตะวันตกบ้าง Hamas ใช้ภาษาอ่อนลง ทิ้งภาษาที่เกี่ยวกับความรุนแรง (บ้าง) และเน้นใช้คำพูดที่มีคำว่า “เจรจา” และ “การทูต” มากขึ้น แต่ในบทบัญญัตินี้ไม่ยอมรับอิสราเอลอยู่ดี และมีเจตนาเดิมคือ ขับไล่อิสราเอลออกไป

ในปี 1997 สหรัฐประกาศว่า Hamas เป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่มีบางประเทศอย่างเช่น New Zealand แบ่งแยก Hamas ออกมาเป็นสองกลุ่ม Hamas ฝ่ายการเมืองกับ Hamas ฝ่ายกองกำลัง (ซึ่งชื่อว่า Izzad-Din al-Qassam Brigades) ในกรณีของสหรัฐ เนื่องจากเขาเหมารวม Hamas ทั้งสองซีกเป็นกลุ่มก่อการร้าย ถ้าจะมีการเจรจา สหรัฐจะเจรจากับ Hamas โดยตรงไม่ได้ เพราะสหรัฐมีนโยบายชัดเจนว่า เขาไม่มีทางเจรจากับกลุ่มก่อการร้ายใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าสหรัฐอยากเจรจาจะต้องผ่านคนอื่นครับ

หลังข้อตกลง Oslo Accords (ที่ในที่สุดล้มเหลว) เกิดสภาภายในปาเลสไตน์ที่เรียกว่า Palestinian Legislative Council เป็นความตั้งใจให้อำนาจชาวปาเลสไตน์เลือกตัวแทนของพวกเขาเพื่อบริหารพวกเขาเอง ซึ่งในทฤษฎีและเจตนาของ Oslo Accords เป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่โลกแห่งความจริงแตกต่างกับทฤษฎีและเจตนาครับ

ในปี 2006 Hamas เริ่มมีบทบาทและอำนาจอย่างเป็นการใน Gaza หลังชนะการเลือกตั้ง กลุ่ม Fatah ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศซีกตะวันตก แต่ไม่รับความนิยมจากกลุ่มปาเลสไตน์กันเอง

หลังชนะการเลือกตั้ง โลกประเทศซีกตะวันตกไม่ยอมรับชัยชนะของ Hamas เพราะการกระทำรุนแรงของกลุ่มนี้ในอดีต เลยถือหาง Fatah ให้ยืนหยัดต่อสู้และอย่ายินยอมให้อำนาจ Hamas โดยเด็ดขาด หลังความพยายามให้มีการเจรจาระหว่าง Hamas กับ Fatah ล้มเหลวนั้น เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมา และกองกำลังฝ่าย Hamas ได้ชนะกองกำลังฝ่าย Fatah แต่ไม่ชนะเด็ดขาด เพราะในที่สุดเกิดการแบ่งพื้นที่บริหารอยู่ดี Hamas ได้ดูแลย่าน Gaza Strip ส่วน Fatah ได้ดูแล West Bank

แต่ถามว่า Hamas ครองใจคนปาเลสไตน์ได้หรือไม่? อันนี้พูดยากครับ ถ้าเปรียบเทียบ Hamas กับกลุ่ม Fatah ทาง Hamas จะรับความนิยมกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะรัก Hamas เสียงชาวปาเลสไตน์จริงๆ แตกแยกออกมาเป็นหลายกลุ่ม คนที่รัก Hamas รักสุดหัวใจ แต่คนที่เกลียดก็เกลียดสุดหัวใจเช่นเดียวกัน คนปาเลสไตน์จำนวนไม่น้อยมีความเห็นว่า Hamas ไม่ใช่คำตอบของเขา ไม่ใช่ทางออกและไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง แต่สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมบีบบังคับให้เขาพึ่งพาใครอื่นไม่ได้ สถานการณ์ที่ถูกบีบจากเอสแอล ถูกกดจากอิสราเอลตลอดเวลานั้น ทำให้กลุ่มอย่าง Hamas มีที่ยืนได้

หลังจาก Sheikh Yassin ถูกสังหารโดยกองทัพอิสราเอลในปี 2004 ทาง Hamas อยู่ภายใต้แกนนำของ Khaled Mashaal แล้วตั้งแต่ปี 2017 ทาง Hamas อยู่ภายใต้แกนนำของ Yahya Sinwar (อาศัยอยู่ใน Gaza) และ Ismail Haniyeh ที่อพยพอยู่ใน Qatar ภายใต้แกนนำของสองท่านนี้ เขาปรับแนวทางการบริหาร Hamas ให้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับประเทศ Iran กับกลุ่ม Hezbollah ในประเทศ Lebanon แกนนำ Hamas อพยพอยู่ใน Lebanon กับ Qatar เยอะ

โครงสร้างของ Hamas มีคณะกรรมการกลาง (อพยพอยู่ Qatar กับ Lebanon) เรียกว่า Politburo ภายใต้แกนนำของ Haniyeh และมีสมาชิกทั้งหมด 15 คน คณะกรรมการชุดนี้ดูแลเรื่องราวทั้งหมดใน West Bank กับ Gaza เป็นคณะกรรมการกลางที่วางนโยบายวางแนวทางและกำหนดทิศทางของ Hamas ส่วน Sinwar เป็นผู้นำที่อยู่ในพื้นที่จริง เป็นผู้ที่ตอบสนองนโยบายจากคณะกรรมการกลาง และเป็นผู้ที่ควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่

ส่วนฝ่ายกองกำลัง (Izz ad-Din al-Qassam Brigades) อยู่ภายใต้แกนนำของ Marwan Issa กับ Mohammed Deif กองกำลังนี้ดูแลกองกำลังทั้งหมดทุกส่วนที่อยู่ภายใต้ Hamas แถมดูแลรัฐบาล Hamas มีนายกรัฐมนตรี (ที่กลุ่ม Hamas ตั้งเอง) ชื่อ Issam Al-Daalis

แต่อย่าไปคิดว่า “รัฐบาล” Hamas กับ “นายกรัฐมนตรี Al-Daalis” จะมีอำนาจอะไรมากมายครับ เพราะตั้งแต่ปี 2006 ที่เขาชนะการเลือกตั้งกัน ปีนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการเลือกตั้งครับ อำนาจที่แท้จริงของ Hamas อยู่ที่ Qatar อยู่ที่ Sinwar และอยู่ที่กองกำลัง al-Qassam Brigades ครับ

อันนี้แหละครับ เป็นความพยายามของผมที่จะอธิบายกลุ่ม Hamas เพื่อจะให้แฟนคอลัมน์เข้าใจภาพรวมมากขึ้น และเวลาติดตามข่าวสงครามที่กำลังเกิดขึ้นนั้น จะได้รู้ว่า Hamas มาจากไหน อย่างไรครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Be Careful What You Wish For….Your Wishes May Come True

ปกติถ้าบอกว่า “รอดูผลอีก 9 เดือน” คงไม่ต้องอธิบายความหมายใช่ไหมครับ? แต่สำหรับแฟนๆ TikTok ในสหรัฐอเมริกา ความหมายจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Joe Biden ได้ลงนามอย่างเป็นทางการให้บริษัท Bytedance ขาย TikTok ในสหรัฐภายใน 9 เดือน หรือถ้าจะยืดเวลาออกไป

Sending a Message หรือ The Calm Before the Storm?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงเวลาที่พวกเราสนุกและพักผ่อนกันเต็มที่ช่วงสงกรานต์นั้น มีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดได้ทุกเมื่อ และในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

หลานชายคุณปู่

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ช่วงเขียนคอลัมน์นี้ ผมยังอยู่ที่บ้านเฮา เจออากาศทั้งร้อนมากและร้อนธรรมดา เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องการขับรถขึ้นมาบ้านเฮากับลูกสาว

หลานคุณปู่

คอลัมน์สัปดาห์นี้กับสัปดาห์หน้า น่าจะเป็นคอลัมน์เบาๆ ครับ ผมเชื่อว่าแฟนๆ ครึ่งหนึ่งน่าจะหนีร้อนในไทยไปสูดอากาศเย็น (กว่า) ที่อื่น ส่วนใครที่ไม่ไปไหน คงไม่อยากอ่านเรื่องหนักๆ

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 2)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องราวแก๊งที่ผมสัมผัสและรู้จักสมัยอยู่สหรัฐ สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงแนว Gangster Rap ก็คงจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ผมเขียนไป แต่สำหรับหลายท่านที่เติบโตคนละยุคคนละสมัยอาจไม่คุ้นเลย

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 1)

ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงนี้มีข่าวประเภทแก๊งมีอิทธิพลในประเภทประเทศเอลซัลวาดอร์ โคลอมเบีย และเม็กซิโก มีผลต่อเสถียรภาพการเมืองระดับชาติประเทศเขา