การแข่งขันตลาดรถยนต์เปลี่ยน

ตลาดรถยนต์บ้านเรากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ชนิดที่แบรนด์เจ้าตลาดในปัจจุบันถึงกับพลิกตำราตั้งรับแทบไม่ทัน โดยเฉพาะความนิยมในยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี ซึ่งเติบโตแบบพุ่งพรวดชนิดสร้างเซอร์ไพรส์กันเลยทีเดียว

เอาแค่ยอดจองซื้อรถในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40 หรือมอเตอร์เอ็กซ์โป ที่เพิ่งจบไปเมื่อเร็วๆ นี้ แบรนด์รถไฟฟ้าจากจีนโกยยอดจองกันเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็นบีวายดี กวาดไป 5,455 คัน ไอออน กวาดไป 4,568 คัน และฉางอาน กวาดไป 3,549 คัน ซึ่ง 2 แบรนด์หลังเพิ่งเปิดตัวในประเทศไทยได้ไม่นาน แต่ก็สร้างยอดจองไปถล่มทลายเลยทีเดียว

จากยอดที่เห็นก็ชัดเจนแล้วว่า คนไทยมีการเปิดรับแบรนด์ใหม่ และเป็นกลุ่มที่กล้าทดลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นสร้างสีสันให้กับวงการรถยนต์ไม่ใช่น้อย เพราะมาพร้อมเทคโนโลยีที่จับต้องได้ รวมถึงมาพร้อมราคาที่เหมาะสม ทำให้รถยนต์จากค่ายจีนโกยยอดจองไปได้อย่างเหลือเชื่อ

และคาดว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์ในไทยเท่านั้น เพราะในปัจจุบันแบรนด์รถยนต์จากจีนยังเพิ่งเข้ามาทำตลาดเพียง 5-6 แบรนด์เท่านั้น และยังมีอีกหลายแบรนด์ที่สนใจจะมาร่วมแจมในตลาดไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าหากเข้ากันมาเต็มพิกัด ลูกค้าชาวไทยจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะจะมีสินค้าให้เลือกซื้ออีกมากมาย และทำให้ตลาดมีการแข่งขันกันสูงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนมาที่แบรนด์เจ้าตลาดเก่าแก่อย่างค่ายญี่ปุ่น ตอนนี้ก็ถือว่าหนาวๆ ร้อนๆ พอสมควร เพราะตอนนี้ไม่สามารถต้านความร้อนแรงของกระแสรถยนต์อีวีในประเทศไทยได้ รวมถึงตลาดโลกด้วย ส่งผลให้ต้องมีการปรับตัวกันครั้งใหญ่ทีเดียว เพราะนอกจากเรื่องของเทคโนโลยีที่ดูเหมือนจะตามหลังแล้ว เรื่องของสิทธิพิเศษทางภาษียังเป็นรองรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นรองไปเรื่อยๆ ดังนั้นค่ายญี่ปุ่นก็จะเริ่มอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว อย่างล่าสุดค่ายโตโยต้าก็มีข่าวว่าได้ขายหุ้นของบริษัท เดนโซ่ เพื่อนำเงินมาลงทุนในเรื่องรถอีวีอย่างจริงจัง และยังมีการร่วมมือกับบีวายดี ในการพัฒนารถร่วมกันอีกด้วย

ขณะที่ฟากฝั่งฮอนด้าเอง ตอนนี้ก็ประกาศเดินสายการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจะมีการเปิดสายการผลิต Honda e:N1 ในประเทศไทย และมีกำหนดการเปิดตัวและวางจำหน่าย Honda e:N1 จะถูกประกาศอีกครั้งช่วงไตรมาสแรกปี 2567

ส่วนนิสสัน ที่เดิมทีเคยทำตลาดกับรุ่นนิสสัน ลีฟ ก็คงต่อรอดูจะปรับเกมอย่างไร และตอนนี้ดูเหมือนว่ารถยนต์ค่ายไหนที่ยังไม่มีรถยนต์ที่มีเทคโนโลยไฮบริด หรือ HEV หรือ BHEV เป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ก็อาจจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ดูอย่างค่ายมาสด้า ที่ตอนนี้ยอดขายรถยนต์เรือธงของตัวเองก็ลดลง คงต้องรอเช่นกันว่าจะปรับตัวอย่างไร

 และยิ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5) ในช่วง 4 ปี (2567-2570) ผลักดันไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน

โดยเนื้อหาสาระของมาตรการนี้ กรณี 1.รถยนต์นั่ง (ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) จะได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ 50,000-100,000 บาทต่อคันในปีแรก ขึ้นอยู่กับขนาดแบตเตอรี่ และมีการลดภาษีนำเข้า รวมถึงภาษีสรรพสามิต

ขณะที่ 2.รถยนต์นั่ง (ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 และ 3.รถกระบะ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 0 ในปี 2567-2568 และอัตราภาษีร้อยละ 2 ในปี 2569-2570 และข้อ 4.รถจักรยานยนต์ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 150,000 บาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 1 ในปี 2567-2570

จะเห็นได้ว่าทุกค่ายรถ โดยเฉพาะค่ายรถญี่ปุ่น คงจะไม่พลาดกับมาตรการใหม่ของรัฐในครั้งนี้ แต่ถ้าตกขบวนไปแล้วก็เชื่อว่าการต่อสู้แย่งชิงลูกค้า ต้องเรียกว่าหืดจับแน่นอน.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท