“ตลาดที่อยู่อาศัยกทม.-ปริมณฑล”ยังเหนื่อย!

 “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ในปี 2567 อาจจะเป็นปีที่น่าจับตามองและมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย ด้วยปัจจัยหลากหลายมิติ ทั้งสนับสนุนและกดดัน ซึ่งมีผลต่อการทำธุรกิจ อาทิ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ กำลังซื้อของผู้บริโภค ไปจนถึงแนวโน้มต้นทุนการก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น เหล่านี้เป็นประเด็นให้ผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ได้ประเมินว่า ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2567 ช่วงครึ่งปีแรกยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังนั้นมีแนวโน้มและมีโอกาสที่จะฟื้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจปรับลดลง รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังรัฐบาลนำงบประมาณออกมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยคาดการณ์จำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งปีจะขยายตัวเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 1.8% เท่านั้น

ส่วนมุมมองของภาคผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ ยังคงจับตาในหลายประเด็น อาทิ กำลังซื้อที่ประเมินว่าโดยรวมอาจจะชะลอตัวลงแม้จะมีการเติบโต แต่ก็ยังน้อยกว่าปี 2566 รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นมาก ขณะที่รัฐบาลมีแนวโน้มเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ความอ่อนไหวจากค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นต้น ส่วนประเด็นเรื่องผลกระทบจากมาตรการ LTV และดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงนั้นอาจทำให้อัตราลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงต่อเนื่องมาจากช่วงโควิด-19

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลงมาดูในรายพื้นที่ อย่าง ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าในปี 2567 ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะหดตัว 7.8% บนแรงกดดันที่มาพร้อมกันทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งจะส่งผลต่อโมเมนตัมตลาดที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะชะลอตัวในระยะยาว โดยมองว่าในปีนี้อาจจะเป็นปีที่มีมูลค่าการโอนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในระดับต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี (ไม่นับช่วงปี 2564 ที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดใหญ่ในไทย) ที่มูลค่าการโอนคาดอยู่ราว 6 แสนล้านบาท ด้วยหน่วยโอนที่อยู่อาศัยที่คาดต่ำสุดนับจากปี 2561 ที่ 1.64 แสนหน่วย

ซึ่งสัญญาณการชะลอตัวในปี 2567 เมื่อมองออกไปในระยะกลางอีก 1-3 ปีข้างหน้า ทาง ttb analytics มองว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแรงกดดันฝั่งอุปสงค์ที่กดดันตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล นับจากปีนี้ที่ลดทอนแรงหนุนฝั่งกำลังซื้อลง โดยอาจสรุปเป็นคำสั้นๆ คือ “คนซื้อน้อย เข้าถึงยาก ปราศจากเงินออม” หรือขยายความในเชิงบริบท คือ คนซื้อจะน้อยลง คนจะเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น และคนไม่มีเงินออมที่มากเพียงพอ

ขณะเดียวกัน ในฝั่งอุปทานก็ไม่สามารถทำการตลาดเพื่อช่วยให้สถานการณ์ของตลาดที่อยู่อาศัยดีขึ้นมาได้จากสถานการณ์ “สร้างแพง ขายนาน รักษามูลค่า” เนื่องจากต้นทุนค่าก่อสร้างและต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนคงค้างจากสต๊อกที่อยู่อาศัยรอการขาย ราคาที่ต้องคงไว้เพื่อรักษาภาพลักษณ์การเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าในตัวเอง เพราะการลดราคาของผู้ประกอบการอาจเป็นการพังทลายความเชื่อมั่นในการรักษามูลค่าของที่อยู่อาศัยลงทันที

ด้วยเหตุนี้ จากแรงกดดันที่มาพร้อมๆ กัน ทาง ttb analytics จึงมองวิธีลดแรงกดดันในตลาดที่อยู่อาศัย ผ่านการปรับสมดุล (rebalancing) โดยแทรกแซงฝั่งอุปทาน เช่น ภาครัฐควรเข้ามาแทรกแซงในตลาด อาทิ ควบคุมการเข้าซื้อที่อยู่อาศัยของทุนต่างชาติเพื่อไม่ให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้นจนกำลังซื้อของคนในประเทศตามไม่ทัน หรือภาครัฐอาจต้องเข้าแทรกแซงการสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ใน Segment ต่างๆ เพิ่มเติมจากที่แต่เดิมมีเฉพาะที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่ต่ำกว่าเอกชนบนที่อยู่อาศัยเดียวกัน รวมถึงควรวางมาตรการสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ในการซื้อเพื่อป้องกันการเก่งกำไร เช่น จำกัดสิทธิ์ 1 หลังต่อ 1 คน เป็นต้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้กำลังซื้อของประชาชนฟื้นได้ โดยถ้ากำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจะช่วยสถานการณ์ตลาดค่อยๆ เข้าสู่จุดสมดุลได้ในระยะถัดไป.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

อวดชาวโลกสีสันสงกรานต์2567

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด และเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่กรุงเทพมหานครก็ได้จัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเชิญชวนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11–15 เมษายนนี้