บทบาทไทย, บทบาทจีน ในการแสวงหาสันติภาพพม่า

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน บอกกับนิตยสาร Time ว่าอาเซียนตกลงที่จะให้ไทยเป็นผู้นำในกระบวนการแก้วิกฤตของพม่า

แต่ดูเหมือนนายกฯ เองจะพูดถึงเรื่องนี้น้อยกว่าที่ควร

เช่นแผนการเปิด “ระเบียงมนุษยธรรม” ตรงชายแดนไทย-พม่า ตรงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ยังไม่มีความชัดเจนว่าในทางปฏิบัติจะดำเนินอย่างไรจึงจะฟันฝ่าอุปสรรคความซับซ้อนตรงบริเวณชายแดนได้

ในการให้สัมภาษณ์ Time นั้น คุณเศรษฐาเน้นเรื่องการที่ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ

แต่เรื่องวิสัยทัศน์ด้านการทูตของไทยเพื่อช่วยประสานความพยายามแก้วิกฤตเพื่อนบ้านและในภูมิภาคไม่ชัดเจน

ทั้งๆ ที่ความสามารถทางการทูตนี่แหละที่เป็น Soft Power ของจริงที่ไทยควรจะต้องเสริมสร้างขึ้นมาเหมือนในอดีตที่เราเคยเล่นบทเป็นผู้ประสานงานเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งรอบๆ บ้านเราได้ในหลายกรณี

เพราะคำว่า Soft Power นั้น ความจริงมาจากเรื่องการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ Hard Power อันหมายถึงการทำสงครามด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์

ไม่ได้เกี่ยวกับกางเกงช้างหรือการจัดอีเวนต์ต่างๆ ที่เรากำลังหมกมุ่นกันอยู่

ต้องคอยดูวันที่ 25 มีนาคมนี้ ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนหรือไม่

นั่นคือกองทัพบอกจะจัดส่งความช่วยเหลือรอบแรกไปยังฝั่งรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมาซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 98 กิโลเมตร ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 ที่อำเภอแม่สอด

ข่าวบอกว่ากองทัพภาค 3 ได้ประสานกับผู้บริหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)

ที่ส่งไปจุดนี้เพราะจะมีการนำสิ่งของบริจาคให้กับประชาชนที่กำลังประสบความยากลำบากที่ต้องหนีภัยการสู้รบ

อีกด้านหนึ่งของความพยายามจะหาทางให้มีการหยุดยิงมาจากฝ่ายจีน

ตั้งแต่เปิด “ปฏิบัติการ 1027” ในรัฐฉานและยะไข่ตอนเหนือเมื่อปลายปีที่แล้ว กลุ่ม “พันธมิตรฝ่ายเหนือ” หรือ “กลุ่มภราดรภาพ 3 พี่น้อง” ได้รับแรงกดดันจากจีนให้หยุดยิง

เพราะจีนเดือดร้อน

แต่แม้จะเจอแรงกดดันจากจีน การสู้รบส่วนใหญ่ก็ยังเดินหน้าต่อ

พันธมิตรฝ่ายเหนือ 3 กลุ่มคือ กองกำลังผสมของกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA)

ขณะที่รัฐบาลทหารสูญเสียทั้งที่ตั้งและทหารเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ปักกิ่งจัดการเจรจาครั้งแรกระหว่างทั้งสองฝ่ายในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

ผู้แทนพิเศษของจีนประจำเมียนมาที่ทำหน้าที่ประสานหลักคือ เติ้ง ซีจวิน

ส่วนคณะผู้แทนรัฐบาลทหารนำโดยหัวหน้าผู้เจรจา มิน นาย

นอกนั้นก็มีตัวแทนคือเลขานุการจาก MNDAA และ TNLA และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของ AA

การเจรจารอบที่สามเกิดขึ้นที่คุนหมิง เมืองหลักของมณฑลยูนนานทางใต้ของจีน

ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบการหยุดยิงชั่วคราวในพื้นที่จำกัดในช่วงกลางเดือนมกราคม

การสงบศึกจำกัดอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉานซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน

เมื่อข้อตกลงหยุดยิงเกิดขึ้น MNDAA ก็ดูแลเนื้อที่เกินกว่าพื้นที่สำคัญของเขตปกครองพิเศษรัฐฉานที่ 1

ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเขตปกครองตนเองโกก้างแล้ว

ส่วน TNLA ยังรักษาดินแดนที่ตนตั้งใจจะจัดตั้งเป็นรัฐปะหล่องด้วย

ทำให้ฝ่ายรัฐบาลทหารต้องหยุดการโจมตีทางอากาศและการยิงปืนใหญ่ในพื้นที่ส่วนนั้นด้วย

ที่สำคัญ ฝ่ายพันธมิตรต้องแสดงความพร้อมจะยอมตามแรงกดดันของจีน เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอด

แต่สำหรับรัฐยะไข่แล้วยังไม่มีการสงบศึก

การหยุดยิงจำกัดอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉานไม่ครอบคลุมถึงความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ของ AA กับรัฐบาลทหารในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา

เมื่อมีการลงนามหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 มกราคม กองทัพ AA ได้ควบคุมเพียงบางส่วนของปาเลตวา ซึ่งเป็นประตูสู่ยะไข่ในรัฐชินที่อยู่ใกล้เคียงจุดนั้น

 มีรายงานว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้สนใจที่จะหารือเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงในรัฐยะไข่ด้วยซ้ำ

สองเดือนต่อมา AA ได้ควบคุมปาเลตวาทั้งหมดพร้อมกับเมืองยะไข่ ได้แก่ จ็อกตอ มรอู มินเบียพัคตอ ไมบอน และปอนนากยุน

การเจรจารอบที่ 4 ระหว่างพันธมิตรฝ่ายเหนือและรัฐบาลทหารพม่ามีขึ้นระหว่าง 29 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม

แต่ฝ่าย AA ยังเพิกเฉยต่อข้อเสนอหยุดยิงในรัฐยะไข่

ยืนยันอีกครั้งว่ามีเป้าหมายที่จะควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของรัฐนี้

ไม่เพียงแต่กำลังหลักของ AA ประจำการอยู่ในรัฐยะไข่เท่านั้น แต่ยังส่งกองกำลังไปยังแนวรบอื่นๆ อีกหลายจุดด้วย

เช่นไปผนวกกำลังกับทหารของโกก้าง MNDAA และปะหล่อง TNLA ทางตอนเหนือของรัฐฉาน กองกำลังป้องกันประชาชนและกองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) รวมถึงบางพื้นที่ของรัฐกะฉิ่นและรัฐฉาน ภูมิภาคสะกายและมะกเว และกองกำลังติดอาวุธของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในรัฐกะเหรี่ยง

โดยที่กองกำลัง AA ที่อยู่นอกพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉานไม่อยู่ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงแต่อย่างใด

การเจรจารอบที่ 4 ที่คุนหมิงมีเป้าหมายเพื่อเสริมการหยุดยิงทางตอนเหนือของรัฐฉาน และฟื้นฟูการค้าชายแดนจีน-เมียนมา ซึ่งถูกระงับเนื่องจากการสู้รบ

ทั้งสองฝ่ายเจรจาเงื่อนไขที่จะให้กลับมาใช้เส้นทางลาเสี้ยว-เซนี-คุนหลง-ชินชเวฮอว์ เพื่อให้ฟื้นคืนการค้าชายแดนพม่า-จีน

แต่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ

มีรายงานว่ารัฐบาลพม่าเรียกร้องให้ถอนทหารของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือออกจากเส้นทางการค้าชายแดน

แต่ได้รับการปฏิเสธ

ผ่านมาประมาณ 140 วันแล้วนับตั้งแต่การค้าชายแดนซึ่งมีมูลค่าระหว่าง 10 ล้านถึง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน ถูกระงับ

จีนต้องการฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด แต่ก็ไม่สามารถกดดันให้ทั้งสองฝ่ายสรุปข้อตกลงกันได้

เพียงแค่นัดจะกลับมาเจรจารอบใหม่ในเดือนพฤษภาคม

ในปฏิบัติการทางทหารล่าสุดนั้น AA ยืนยันว่าจะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ทางทหารในรัฐยะไข่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ยังได้ประกาศต่อสาธารณะว่าจะสนับสนุนกลุ่มต่อต้านอื่นๆ รวมถึงกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นฝ่ายติดอาวุธของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพลเรือนคู่ขนาน

สถานการณ์สู้รบในพม่ายังผันผวนปรวนแปรอย่างต่อเนื่อง

ทำให้โอกาสการเจรจาสันติภาพยังห่างไกล...ขณะที่ไทยเรายังพยายามจะแสวงหาช่องทางที่จะลดความรุนแรง...และมองหาหนทางที่อาเซียนจะผลักดันให้เกิดช่องทางแห่งการสงบศึกตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ”

 “เราทำทุกอย่างเพื่อยกระดับความหวัง ทั้งๆ ที่ยังมีความซับซ้อนเต็มไปในทุกขั้นตอน” ผู้เชี่ยวชาญที่เกาะติดเรื่องนี้บอก

 (พรุ่งนี้: จีนกับผลประโยชน์ในพม่าที่จะให้กระทบไม่ได้).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร