ก้าวไกล ไม่รอด!

จะเกี่ยวกันมั้ย???

พรรคอนาคตไกล ร่อนหนังสือเชิญสื่อทุกแขนง ไปร่วมพิธีเปิดที่ทำการพรรค และพิธีบวงสรวง เจริญพระพุทธมนต์ ในวันที่ ๒๘ มีนาคม

ณ อาคารสำนักงานใหญ่พรรคอนาคตไกล เลขที่ ๓๕๗ ถนนสุโขทัย แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ลงชื่อ ดร.อภิสัณห์ ศรวัชรณัฏฐ์ หัวหน้าพรรคอนาคตไกล

พรรคอนาคตไกล ใช่พรรคอะไหล่ของพรรคก้าวไกลหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าจะใช้ชื่อ ๒ พรรคมารวมกัน คือพรรคอนาคตใหม่ กับ พรรคก้าวไกล

แถมยังใช้สีส้ม-แดง 

ราวกับว่าจะกินรวบทั้งด้อมส้มและเสื้อแดง

ที่จริงก่อนหน้านี้ พรรคอนาคตไกล ถูก "อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล" แกนนำพรรคก้าวไกล ฟาดมาทีหนึ่งแล้ว เพราะไม่พอใจที่ถูกลอกชื่อพรรค

แต่ธรรมชาติการเมือง เมื่อยังไม่ถึงเวลาเปิดตัวก็เถียงกันคอเป็นเอ็น

ลงตัวเมื่อไหร่ ภาษาดอกไม้ลอยมา

พรรคอนาคตไกลเปิดพรรค ขณะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ไปแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน

บรรดากูรู ฟันธงตรงกัน ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะไม่ต้องเรียกสอบอะไรเพิ่มเติม

เพราะเป็นประเด็นต่อเนื่องมาจากคดี ที่ นายธีรยุทธ  สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพุทธะอิสระ ได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา ๑๑๒ โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ “พิธา-ก้าวไกล” แก้  ม.๑๑๒ เป็นการล้มล้างการปกครองฯ มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย แบ่งแยกสถาบันออกจากชาติ เป็นเหตุให้สถาบันชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง

เพียงแต่คำร้องหลัง มิได้ร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคด้วย

ฉะนั้นคำวินิจฉัยจากคดีก่อนย่อมมีผลต่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

รวมไปถึงตัวศาลรัฐธรรมนูญเอง!

การวิเคราะห์กรณียุบพรรคก้าวไกล ส่วนใหญ่จึงไปในทิศทางเดียวกันคือ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบอย่างแน่นอน

มติ ๙ ต่อ ๐ ที่ระบุว่า การแก้ไข ม.๑๑๒ ของ "พิธา"  และพรรคก้าวไกล เป็นการล้มล้างการปกครองฯ มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย แบ่งแยกสถาบันออกจากชาติ เป็นเหตุให้สถาบันชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง จึงยังมองไม่ออกว่า พรรคก้าวไกลจะรอดจากการถูกยุบพรรคไปได้อย่างไร

ดูเหมือนว่า โซเชียลในหมู่ด้อมส้มเอง เริ่มที่จะหาชื่อพรรคใหม่ให้แล้ว

ขณะเดียวกันการยุบพรรคการเมืองกำลังถูกทำให้เป็นสิ่งน่ารังเกียจสำหรับการเมืองไทย

หลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง

ที่สำคัญไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการเมือง กลับกันยิ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น

หากมองด้วยตรรกะที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐  เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง

ปัจจุบัน พรรคการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง  นักวิชาการ จำนวนมาก ยังถวิลหารัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ อยู่

เมื่อมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ดี ก็ต้องยอมรับเนื้อในของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย

การยุบพรรคมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แล้ว

มาตรา ๖๓ วรรคสาม ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองที่ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำการดังกล่าว

หรือในวรรคสอง ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่งซึ่งก็คือล้มล้างการปกครอง ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ ให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ต่อมาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้จำแนกมูลเหตุในการยุบพรรคการเมืองไว้ ๒ ประเภท คือ

๑.เหตุเนื่องจากพรรคการเมืองไม่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และเหตุจากการยุบรวมพรรคการเมืองหรือยุบเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง

๒.เหตุอันเนื่องจากพรรคการเมืองมีการกระทำอันเข้าข่ายล้มล้าง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

บทบัญญัตินี้่แทบไม่ต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐

คำร้องแรกของ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" คือให้ "พิธา"  และก้าวไกล เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ

และ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ให้เหตุผลว่า ต้องการให้ "พิธา" และพรรคก้าวไกลหยุดพิจารณาแก้ไข หรือ หยุดวาระที่อาจจะซ่อนอยู่ในคำว่าแก้ไข ก็คือการยกเลิกมาตรา ๑๑๒ เนื่องจากเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีชุมนุม ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ และคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ๙ ต่อ ๐ ว่าการแก้ไข ม.๑๑๒ ในรูปแบบของพรรคก้าวไกลคือการล้มล้างการปกครอง นี่จึงเป็นสารตั้งต้นในการยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ในคำร้องถัดมาของ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร"

การยุบพรรคการเมืองไม่ใช่มาตรการแก้ปัญหาการเมืองตามที่เข้าใจกันแต่อย่างใด

แต่เป็นมาตรการลงโทษพรรคการเมืองที่มีเจตนาทำผิดรัฐธรรมนูญ

ยุบหรือไม่ยุบพรรคไม่อาจแก้ปัญหาการเมืองได้

เพราะพรรคการเมืองที่ไม่เคยถูกยุบ แต่สร้างปัญหาการเมืองมากมายก็ยังดำรงอยู่

แต่การยุบพรรคสามารถขัดขวางพรรคการเมืองที่จะสร้างความวิบัติให้แก่ประเทศได้ 

และพรรคก้าวไกลอยู่ในข่าย ล้มล้างการปกครองฯ มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย แบ่งแยกสถาบันออกจากชาติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ