พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ย้อนกลับไปวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาฟ้องนายทาเคชิ เอบิซาวะ ผู้นำยากูซาของญี่ปุ่นในข้อหาลักลอบค้าวัสดุนิวเคลียร์ระหว่างประเทศจากเมียนมา

เอบิซาวะอยู่ในการควบคุมตัวของสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว

เดือนเมษายน 2022 เขาถูกตั้งข้อหาในนิวยอร์กซิตีว่าค้าอาวุธและยาเสพติด

ต่อมามีการเพิ่มข้อหาร้ายแรงว่าพยายามค้าพลูโทเนียมเกรดอาวุธและผงเข้มข้นยูเรเนียมที่เรียกว่า “เยลโลว์เค้ก” ในนามของกลุ่มติดอาวุธนิรนามในเมียนมา

เพื่อแลกกับขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ (SAM) และอาวุธระดับสู้รบพลังทำลายสูงแบบอื่นๆ

นอกจากนี้ เอบิซาวะยังยืนยันว่าเขาสามารถเข้าถึงทอเรียม-232 ได้ประมาณ 2,000 กิโลกรัม และเยลโลว์เค้ก 100 กิโลกรัม โดยมีรูปถ่ายเป็นหลักฐาน

เอบิซาวะถูกหลอก เพราะเชื่อว่าพูดคุยเรื่องการขายวัสดุนิวเคลียร์กับนายพลจากอิหร่าน แต่จริงๆ แล้วเขากำลังพูดคุยกับสายลับของ DEA หรือหน่วยปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ

กลายเป็นว่า “ดีล” นั้นล้มไปเพราะถูกสายมะกัน “ล่อซื้อ”

แม้ว่าความพยายามในการทำธุรกรรมจะสลายหายไปต่อหน้าต่อตา แต่เรื่องราวนี้ตอกย้ำว่าภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ที่มาจากกลุ่ม “ไร้รัฐ” มีเป็นอันตรายต่อโลกมากขึ้นทุกวัน

ยิ่งทำให้เกิดความน่ากังวลว่าพม่ายังเดินหน้าพยายามวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ภายใต้การนำของมิน อ่อง หล่าย

ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเล่นกับไฟโดยขาดการกำกับดูแลขององค์กรนานาชาติ

ท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่มีความผันผวนอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกวัน

ข่าวบางกระแสบอกว่าเมียนมาได้พยายามพัฒนาโครงการนิวเคลียร์อย่างเงียบๆ มาระยะหนึ่งแล้ว

ความพยายามครั้งแรกของเมียนมาที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์เกิดขึ้นด้วยการจัดตั้งศูนย์พลังงานปรมาณูแห่งสหภาพพม่าในปี 1955

ปี 1997 ถูกยกระดับเป็นสำนักงานพลังงานปรมาณู (DAE) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MST)

ปี 1955 พม่าเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยปรมาณูเพื่อสันติภาพ

ปี 1957 พม่าได้สถานภาพเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

ปี 1992 หลังสงครามเย็น ท่ามกลางแนวโน้มการปลดอาวุธนิวเคลียร์ เมียนมากลายเป็นรัฐภาคีที่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT)

ปี 1995 เมียนมาลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามุ่งมั่นที่จะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ดูจากวิวัฒนาการเช่นนี้ก็สะท้อนว่าพม่าไม่ได้ต้องการจะพัฒนานิวเคลียร์ไปถึงขั้นเป็นอาวุธ

แต่ในปี 2001 รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) ได้เจรจากับรัสเซียเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องปฏิกรณ์วิจัยนิวเคลียร์

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากการร้องขอเบื้องต้นของเมียนมาต่อ IAEA ของสหประชาชาติเพื่อให้ได้เครื่องปฏิกรณ์วิจัย

ปี 2000 หน่วยงานนี้กำหนดให้เมียนมาปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำด้านความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎระเบียบ

รวมถึงการตรวจสอบตามปกติ การปฏิบัติตามข้อกำหนดจะหมายถึงข้อจำกัดที่สำคัญเกี่ยวกับศักยภาพในการวางอาวุธของเทคโนโลยี

แต่กองทัพเมียนมาไม่ต้องการจะต้องยอมรับกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดของสหประชาชาติ

จึงหันไปรับความช่วยเหลือจากรัสเซียในการพัฒนาขีดความสามารถทางนิวเคลียร์

ครั้งนั้น แนวทางนี้นำโดยอดีตเอกอัครราชทูตพม่าประจำสหรัฐอเมริกา อูตอง และนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ที่ได้รับการฝึกอบรมจากสหรัฐฯ เต็ง พาว ซอว์

ความเชื่อมโยงระหว่างพม่ากับรัสเซียในกรณีนี้ ทำให้เกิดข้อสังเกตว่ามีอะไรละม้ายกับที่เกาหลีเหนือมีความร่วมมือกับรัสเซียในลักษณะที่ละม้ายคล้ายกัน

เพราะเครื่องปฏิกรณ์เพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ที่ผลิตโดยรัสเซียซึ่งทางการพม่าต้องการซื้อนั้นมีความคล้ายคลึงกับเครื่องปฏิกรณ์วิจัยขนาด 5 เมกะวัตต์ที่สหภาพโซเวียตในขณะนั้นติดตั้งที่ยองบยอนในเกาหลีเหนือในปี 1965

เพราะต่อมาเกาหลีเหนือสกัดพลูโทเนียมเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์นิวเคลียร์จากอุปกรณ์เช่นว่านี้

กรณีพม่ากับรัสเซียเรื่องนี้ไม่ได้เดินต่อ จะด้วยเหตุผลใดไม่ชัดแจ้ง

แต่ความกังวลเกี่ยวกับความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของเมียนมาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อพม่าสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับเกาหลีเหนืออีกครั้งในปี 2007

นับตั้งแต่นั้นมา มีการคาดเดาและข่าวลือมากมายเกี่ยวกับความร่วมมือทางนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในเมียนมา

เกิดเหตุระเบิดที่กรุงย่างกุ้งในปี 1983 ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่คณะรัฐมนตรีชาวเกาหลีใต้ 16 คนในเมืองหลวงขณะนั้นของเมียนมาเสียชีวิต

เมียนมาตัดความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ

แต่ด้วยการปกครองของทหารที่ยืดเยื้อ และผลสะท้อนจากการปราบปรามอย่างรุนแรงของการปฏิวัติ 88 พม่าเองก็กลายเป็นรัฐนอกกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ ภายใต้คำแนะนำของพลโท Thein Htay รัฐบาลทหารของ Than Shwe จึงได้ติดต่อกับเกาหลีเหนือในช่วงต้นทศวรรษ 2000

อดีตเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลาโหม บรูซ เบชทอล อ้างว่าเมียนมาส่งช่างเทคนิค 30 คนไปยังเกาหลีเหนือเพื่อศึกษาเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์ในปี 2003

ระหว่างปี 2003 ถึง 2006 มีการกล่าวหาว่าช่างเทคนิคชาวเกาหลีเหนืออยู่ในเมียนมาเพื่อช่วยในการสร้างอุโมงค์ใต้กรุงเนปยีดอ

ปี 1997 เกาหลีเหนือกับเมียนมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอีกรอบ

เอกสารลับที่รั่วไหลออกมาบอกว่ามีการเยือนเกาหลีเหนืออย่างลับๆ ของคณะผู้แทน SPDC ในเดือนพฤศจิกายน 2008

ในระหว่างการเยือนครั้งนั้น นายพลพม่าได้พบกับคิม คยอกซิก เสนาธิการเกาหลีเหนือ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความสัมพันธ์ทางทหาร

ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงที่เน้นการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการขุดอุโมงค์

ข้อกล่าวหาเรื่องการค้าอาวุธผิดกฎหมายระหว่างสองประเทศนี้มีอยู่ต่อมาอีกอย่างไม่หยุดยั้ง

ประชาคมระหว่างประเทศสังเกตเห็นเมื่อเรือ Il-62 ของเกาหลีเหนือที่กำลังเดินทางจากมัณฑะเลย์ไปยังอิหร่านถูกอินเดียสกัดกั้นในเดือนสิงหาคม 2008

กองทัพเรือสหรัฐฯ ไล่ตามเรือของเกาหลีเหนือที่กำลังมุ่งหน้าไปยังเมียนมาในทะเลจีนใต้ในเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่แยกกันในปี 2009 และ 2011

ในปี 2009 มิเชล ชาน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำเมียนมา ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่ายืนยันว่าความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของตนมี “จุดประสงค์เพื่อสันติภาพเท่านั้น”

และยืนยันว่าบทบาทของรัสเซียในการช่วยเมียนมาพัฒนานิวเคลียร์มุ่งเน้นไปที่ "ซอฟต์แวร์และการฝึกอบรม" ในขณะที่เกาหลีเหนือมุ่งเน้นไปที่ "ฮาร์ดแวร์"

นอกจากนี้ในปี 2009 รายงานใน Sydney Morning Herald กล่าวหาว่าเมียนมาได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซียและเกาหลีเหนือ

โดยคาดว่าจะมีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และอาวุธร่วมกัน

 (พรุ่งนี้: จุดเชื่อมโยงของคิม จองอึน กับมิน อ่อง หล่าย).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร