มาเลเซียพูดแล้ว : ฮุน เซน จับมือ มิน อ่อง หล่าย ไม่ดีสำหรับอาเซียน

อาการออกแล้วครับ...อาเซียนเริ่มจะแตกคอกันเรื่องเมียนมา เพราะนายกฯ ฮุน เซน แห่งกัมพูชา ไปหาพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย และออกแถลงการณ์ร่วมกันประหนึ่งทำในนามอาเซียน โดยไม่ได้ปรึกษาหารือให้รู้เรื่องกันก่อน

รู้ได้อย่างไรว่า ฮุน เซน ไม่มีการพูดคุยในอาเซียนกันก่อนที่จะทำหน้าที่ “ประธานอาเซียนปี 2022”?

เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย Saifuddin Abdullah ให้สัมภาษณ์ว่า การไปเยือน มิน อ่อง หล่าย ของฮุน เซน นั้น “ไม่มีผลดีต่ออาเซียน”

นี่ถือว่าเป็นการต่อว่าแบบเบาๆ แล้ว

อีกสัญญาณของความไม่ลงรอยกันระหว่างอาเซียนเรื่องพม่าก็คือที่รัฐมนตรีต่างประเทศเขมร ปรัก สุคน เขียนขึ้นโซเชียลมีเดียว่าได้ต่อสายไปหารัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ Vivian Valakrishnan

พร้อมทั้งบอกว่ามีการพูดคุยกัน “อย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์”

ทั้ง 2 คนแสดงความเสียใจว่า ต้องมีการเลื่อนการประชุมสุดยอดของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เดิมกำหนดไว้วันที่ 17 มกราคม (วันนี้) ที่เสียมราษฎร์ของกัมพูชา

แต่ต้องเลื่อนออกไป เพราะ “รัฐมนตรีอาเซียนบางท่านมีความยากลำบากในการเดินทาง” เหมือนจะอ้างว่าเป็นเพราะกลัวติดโควิด 

แต่เหตุผลอีกข้อหนึ่งก็คือ ความกระอักกระอ่วนของเหล่าบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกรณี ฮุน เซน บินไปหา มิน อ่อง หล่าย

และประกาศว่าจะเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาของรัฐบาลทหารพม่า คือ Wunna Muang Lwin มาร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอื่นๆ วันนี้ด้วย

อาเซียนบางประเทศ (เช่น มาเลเซีย, อินโดฯ และสิงคโปร์) อาจจะเห็นว่าการที่กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนตัดสินใจจะยอมรับทั้ง มิน อ่อง หล่าย และหม่องลวินอย่างฉับพลันนั้นอาจจะทำให้อาเซียนเสียจุดยืนเดิมก็ได้

จึงมีความพยายามจะหาทางหลีกเลี่ยงการที่ต้องประชุมโดยมีคนของ มิน อ่อง หล่าย มาร่วมโต๊ะด้วย

Prak Sokhonn เขียนในโซเชียลมีเดียของตัวเองว่าเขาขอบคุณรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ที่ได้แสดงการสนับสนุนความพยายามของกัมพูชาที่จะให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในเมียนมาให้ “ร่วมกันดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน” อย่างเต็มที่และทันท่วงที

รัฐมนตรีต่างประเทศเขมรเสริมว่า “เรายังดำเนินการสนับสนุนและช่วยเหลือทุกทางที่เราทำให้เพื่อให้เมียนมากลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด”

ผมอ่านภาษาการทูตนี้ด้วยความเข้าใจว่าสิงคโปร์กับมาเลเซียและอินโดนีเซียต่างก็มีคำถามต่อกัมพูชาว่าการเร่งร้อนไปจับมือกับ มิน อ่อง หล่าย ของ ฮุน เซน นั้นจะทำให้เกิดปัญหากับอาเซียนหรือไม่

รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียพูดอย่างไม่เกรงใจว่า การไปเยือนมิน อ่อง หล่าย ของฮุน เซน อาจจะ “เกิดภาพที่ผิดว่าอาเซียนได้ให้การรับรองรัฐบาลทหารพม่าแล้ว”

เขาบอกว่า ฮุน เซน ควรจะไปเมียนมา (ถ้าเขาอยากไปจริงๆ) ในนามนายกฯ ของกัมพูชาในกรอบของทวิภาคี

แต่เมื่อปีนี้ ฮุน เซน เป็นประธานอาเซียนด้วย การไปเยือนเช่นนั้นก็อาจ “ถูกตีความในทางที่ผิด”

ฮุน เซน บินไปเนปยีดอเมื่อวันที่ 7 มกราคม กลายเป็นผู้นำโลกคนแรกที่ไปเยือนเมียนมาหลังรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

ทำให้อาเซียนบางประเทศมีความอึดอัดคับข้องใจไม่น้อย เพราะเหมือนกับว่า มิน อ่อง หล่าย ไม่ต้องเกรงใจผู้นำอาเซียนที่ตั้งคำถามมาตลอดว่าเขาจะเริ่มปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ตกลงกันที่จาการ์ตา เมื่อ 24 เมษายนปีที่แล้วเมื่อไหร่

เพราะถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด

แถลงการณ์ของ มิน อ่อง หล่าย กับ ฮุน เซน พูดถึงเรื่อง “หยุดยิง” ที่จะขยายเวลาไปถึงสิ้นปี ทั้งๆ ที่กองทัพพม่ายังคงถล่มโจมตีกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธอย่างไม่หยุดยั้ง

แม้ในแถลงการณ์จะพูดถึงการเปิดทางให้ ปรัก สุคน ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศเขมรที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ทูตพิเศษอาเซียนว่าด้วยกิจการเมียนมา” เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยกับกลุ่มต่างๆ ในเมียนมา แต่ก็ไม่มีการระบุกรอบเวลาที่ชัดเจน

อีกทั้งในแถลงการณ์นั้นก็ได้บอกว่า การกระทำของอาเซียนทั้งหลายจะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ในเมียนมาด้วย

                    และผู้กำหนดว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะเหมาะสมสำหรับการทำหน้าที่ของตัวแทนอาเซียนนั้นก็คือ มิน อ่อง หล่าย

เท่ากับว่าทุกอย่างยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของผู้นำทหารเมียนมา โดยที่กลุ่มต่อต้าน, ฝ่ายพลเรือนและกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายไม่ได้มีสิทธิ์ในการร่วมกำหนดกรอบเวลาและทิศทางของการเปิดให้มีการเจรจาเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งเลย

รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียบอกนักข่าวที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมาว่า

“บางคนบอกว่าการไปเยือนเมียนมาของ ฮุน เซน อาจจะเป็นการเริ่มต้นการไกล่เกลี่ยและเจรจาในเมียนมา แต่เรายังไม่เห็นว่ามันเกิดขึ้นแต่อย่างไร”

แล้วถ้า ฮุน เซน ตัดสินใจเดินหน้าเชิญตัวแทนของกองทัพเมียนมามาร่วมประชุมกับอาเซียนล่ะ เขาจะทำอย่างไร?

รมว.ต่างประเทศมาเลเซียบอกว่าเขาจะปรึกษาคณะรัฐมนตรีก่อน

แต่ถ้า ฮุน เซน ทำอย่างนั้นจริง “นั่นก็จะเป็นการละเมิดฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน...ซึ่งเป็นมติที่มีคุณค่าสำคัญ เรามิอาจจะต่อรองประเด็นนี้กันได้”

เห็นร่องรอยของความขัดแย้งในอาเซียนที่ ฮุน เซน ก่อขึ้นอีกครั้งหรือยัง?

พี่ไทยว่าอย่างไร?

ผมเดาว่าคำตอบคือ Quiet diplomacy (การทูตเงียบงัน) อีกเช่นเคย

เงียบหน้าบ้านได้ แต่หลังบ้านเราก็ส่งเสียงให้เพื่อนร่วมอาเซียนได้ยินกันชัดๆ 

เพราะความขัดแย้งในเมียนมายิ่งนับวันยิ่งจะสร้างปัญหาหนักหน่วงให้กับเรามากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร