เศรษฐศาสตร์เศษสตางค์

ตอนนี้หมูมีราคาแพงขึ้น เป็นไปตามหลักการตลาดเรื่อง demand/supply เมื่อ supply หมูมีน้อย และ demand มีมาก ทำให้หมูราคาแพง

เรื่องนี้ก็น่าจะพอเข้าใจได้ สินค้าที่มีหมูเป็นส่วนประกอบขึ้นราคาประชาชนก็ยอมรับได้ แต่สินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับหมูเลย ทำไมต้องขึ้นราคาด้วย ซาลาเปาไส้หมูสับ หมูแดงขึ้นราคาก็เข้าใจได้ ขนมจีบหมูขึ้นราคาก็มีเหตุผล

แต่ซาลาเปาไส้หวาน หมั่นโถที่ไม่มีไส้ ทำไมต้องขึ้นด้วย หมูขึ้นแล้ว เพราะ supply น้อย เนื้อวัว ไก่ ไข่ อาหารทะเล ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอ ก็ไม่ควรจะขึ้นราคา 

สินค้าอุปโภคที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน ก็อย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา เห็นๆ กันอยู่ว่าเวลานี้ประชาชนเดือดร้อนเพราะผลกระทบจาก COVID มากพอแล้ว ผู้ประกอบการอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอเลย เราเป็นประเทศการค้าเสรี ครั้นจะให้รัฐบาลไปบังคับกำหนดราคาสินค้าทุกประเภทก็คงไม่ได้ การจะขึ้นราคาหรือไม่เป็นน้ำใจของผู้ประกอบการ ถ้าหากเห็นใจประชาชนผู้บริโภคก็อย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าแบบไม่มีเหตุผลรองรับ เพราะหากทำเช่นนั้นก็เท่ากับซ้ำเติมเพื่อนร่วมชาติ

ในเวลานี้ เราอาจจะเห็นว่ามีสินค้าหลายอย่างทยอยขึ้นราคาแบบมีเหตุผลสมควรบ้าง ไม่สมควรบ้าง การที่เรามักจะขึ้นราคาไปที่ เลข 5 และเลข 0 ทำให้สินค้าขึ้นในอัตราที่สูงเป็น 25%, 33%, 50% และ 66% เช่น สินค้าราคา 3 บาท ขึ้นเป็น 5 บาท เท่ากับขึ้น 66% สินค้าราคา 20 บาท ขึ้นเป็น 25 บาท เท่ากับขึ้น 25% สินค้าราคา 10 ขึ้นเป็น 15 บาท เท่ากับขึ้น 50% สินค้าราคา 15 บาท ขึ้นเป็น 20 บาท เท่ากับขึ้น 33% ทั้งๆ ที่ราคาวัตถุดิบอาจจะขึ้น 5%, 10% และวัตถุดิบที่ขึ้นราคาก็ไม่ใช่ 100% ของต้นทุน แต่พอขึ้นราคา ผู้ประกอบการมักขึ้นไปที่ราคาที่ลงท้ายด้วย 5 หรือ 0 เช่น 15, 20, 25 เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะเราไม่นิยมใช้เงินเหรียญเล็กๆ ที่มีให้เราใช้ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ 1 บาท เหรียญ 50 สตางค์ หรือเหรียญ 25 สตางค์ ถ้าหากเรามีการใช้เงินเหรียญกัน สินค้าที่จำเป็นขึ้นราคาก็จะสามารถขึ้นทีละ 5% หรือ 10% แทนที่จะขึ้นทีละ 25%, 33%, 50% และ 66% อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำให้เงินเฟ้อสูงมาก

มารณรงค์การใช้เหรียญบาท, เหรียญ 50 สตางค์, 25 สตางค์ และ 10 สตางค์กันดีไหมคะ เพื่อให้สินค้าขึ้นทีละ 5% หรือ 10% ไม่ใช่ 25%, 33%, 50% หรือ 66% สินค้า 15 บาท ขึ้น 5% ก็จะเป็น 15 บาท 75 สตางค์ ถ้าขึ้น 10% ก็จะเป็น 16 บาท 50 สตางค์ ไม่ใช่ขึ้นเป็น 20 บาทอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเท่ากับขึ้น 33% สินค้าราคา 3 บาท ถ้าขึ้น 10% ก็จะเป็นราคา 3 บาท 30 สตางค์ ไม่ใช่ขึ้นเป็น 5 บาท ซึ่งเท่ากับขึ้นสูงถึง 66% สินค้าราคา 40 บาท ถ้าขึ้น 5% ก็จะเป็นราคา 42 บาท ถ้าขึ้น 10% ก็เป็นราคาเท่ากับ 44 บาท ไม่ใช่ 50 บาทอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งเท่ากับขึ้น 25% ทุกวันนี้เราไม่ใช้เหรียญ 1 บาท เหรียญ 50 สตางค์ และเหรียญ 25 สตางค์ เหรียญ 10 สตางค์ ทำให้สินค้ามักจะขึ้นราคาทีละ 25%, 33%, 50% และ 66% ซึ่งเป็นเหตุทำให้เงินเฟ้อสูง ผู้บริโภคเดือดร้อน อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเศรษฐศาสตร์เศษสตางค์ ที่ดูเป็นเรื่องเล็ก ไม่น่าจะแก้ไขเรื่องสินค้าราคาแพงหรือเงินเฟ้อได้ ประเทศใหญ่ๆ เจริญและพัฒนาแล้ว ใช้เหรียญ 1 เซ็นต์, 5 เซ็นต์, 10 เซ็นต์ และ 25 เซ็นต์ ทำให้สินค้าเขาขึ้นทีละ 5% หรือ 10% เท่านั้น ไม่ใช่ 25%, 33%, 50% หรือ 66% เหมือนบ้านเรา ลองพิจารณากันหน่อยดีไหม ธุรกิจของรัฐ ค่าธรรมเนียมของรัฐ เริ่มต้นนำไปก่อนเลย เงินเฟ้อจะได้ลดลง ขอคิดดังๆ และชวนพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ลองคิดดูว่าพอจะทำกันได้ไหม

เวลานี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาสินค้าขึ้นราคาในภาวะที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด บางคนตกงาน บางคนถูกเลิกจ้าง บางคนธุรกิจถูกปิด ไม่ได้ทำงานมานานแล้ว บางคนถูกลดเงินเดือน ผู้ประกอบการหลายรายมีรายได้ลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้เราน่าจะหาทางช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทั้งหลาย ไม่ใช่ซ้ำเติมพวกเขาด้วยการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าอย่างไม่มีเหตุผล อาศัยปรากฏการณ์ที่หมูขึ้นราคา จำได้ว่ามีสุภาษิตจีนบอกว่า “นักธุรกิจไม่มีวันรวยจากลูกค้าที่ยังยากจน” ดังนั้นแทนที่จะซ้ำเติมพวกเขา ช่วยอะไรได้ก็ควรจะช่วย ที่ผ่านมามีธุรกิจรายใหญ่เป็นจำนวนมากใช้เงินเป็นร้อยล้าน พันล้าน ช่วยเหลือประชาชนที่ลำบาก ทั้งแจกหน้ากาก แจกแอลกอฮอล์ แจกยา บริจาคเวชภัณฑ์ต่างๆ และบริจาคอาหาร ประชาชนหลายคนก็มีโครงการช่วยเหลือประชาชน ทั้งด้านอาหาร ด้านเวชภัณฑ์ และตู้ปันสุข

รัฐบาลก็ไม่ควรจะนิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง รัฐมนตรีและข้าราชการประจำที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่อง demand/supply เรื่องการลดต้นทุนในการผลิต เพื่อให้ราคาสินค้าไม่แพง ต้องรีบแก้ไขปัญหาด้วยหลักการของอริยสัจ 4 สินค้าราคาแพงคือ “ทุกข์” ก็ต้องหา “สมุทัย” ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ให้ได้โดยเร็ว และจะต้องใช้สติปัญญามองหา “นิโรธ” ที่เป็นหนทางในการแก้ทุกข์ให้หมดไป และเมื่อได้แนวทางในการแก้ไขแล้ว ก็ต้องเกิด “มรรค” คือการนำเอาแนวทางที่คิดได้นั้นไปปฏิบัติอย่างรวดเร็ว มุ่งมั่น และจริงจัง ต้องมีทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สำหรับระยะสั้นต้องปฏิบัติโดยเร็ว เพราะยุคนี้มีคำกล่าวว่า “speed is everything” หมายความว่า ไม่ว่าจะทำอะไรต้องทำให้เร็ว การที่มีผู้รับผิดชอบบอกว่าจะแก้ไขราคาหมูแพงให้ได้ภายในเวลา 8-12 เดือนนั้น มันนานเกินไป ประชาชนได้ยิน ทั้งตกใจและไม่พอใจการทำงานของทางการ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการประจำ ปัญหานี้ต้องแก้ให้เร็ว ก่อนที่ประชาชนจะหมดศรัทธารัฐบาล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จะมาจากแหล่งไหน....ก็ไม่สบายใจทั้งนั้น

ก่อนการเลือกตั้ง เมื่อมีการหยั่งเสียงคะแนนนิยมว่าก้าวไกลมีคะแนนชนะเพื่อไทย ความร้อนรนกลัวแพ้ บนเวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทยก็มีการประกาศทันทีว่าจะแจกเงินดิจิทัล

ความแตกต่างระหว่าง'มนุษย์'กับ'สัตว์เดียรัจฉาน'

คำพูด บทสนทนา ในบทละครเรื่องพระเจ้า Richard ที่ 3 ของคุณปู่ William Shakespeare ที่กลายมาเป็นคำคม เป็นวาทะ อันถูกนำไปเอ่ยอ้างคราวแล้ว คราวเล่า คือคำพูดประโยคที่ว่า

ประวัติศาสตร์สีกากี

ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของ "กรมปทุมวัน" ที่มีการเซ็นคำสั่งให้ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับ "รอง ผบ.ตร." ออกจากราชการไว้ก่อน ผลพวงจากการต้องคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์

สุขสันต์วันเกิดเมืองยาวหนึ่งปี

ดวงชะตาเมืองรัตนโกสินทร์ที่ถือกำเนิดจากพิธีวางเสาหลักเมือง หรือพระราชพิธีพระนครฐาน สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัช

ยโสโอหังไม่ฟังใคร ไม่สนใจกระแส...คิดว่าแจงได้

อ่อนอกอ่อนใจจริงๆ กับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ ตั้งแต่ถ้อยคำ วาจา ท่าที ลีลาการหาเสียงของคนที่ถูกวางตัวว่าวันหนึ่งจะได้เป็นผู้นำประเทศ ตะโกนด้วยสุ้มเสียงมั่นอกมั่นใจในสิ่งที่พูด ท