วิเคราะห์การตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่จากมุมมองทางรัฐศาสตร์ ? (ตอนที่แปด)

การแก้ปัญหาความไม่สุจริตทางการเงินและการรวมศูนย์อำนาจภายในพรรคการเมืองก็คงไม่ต่างจากการแก้ปัญหาทุจริตในการเลือกตั้ง นั่นคือ จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพและเท่าทันต่อพฤติกรรมการฉ้อฉลของนักการเมืองอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นในเรื่องการทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้ง มีนักการเมืองไทยจำนวนไม่น้อยให้ความเห็นว่า การซื้อขายเสียงในการเลือกตั้งของไทยเรานั้นถือเป็นลักษณะโดดเด่นและเป็นวัฒนธรรมที่คงแก้ไม่ได้  อย่างไรเสียก็ต้องซื้อขายเสียงกันต่อไป ไม่ควรออกกฎหมายลงโทษรุนแรงถึงขนาดยุบพรรคกัน แต่ถ้าย้อนไปดูการเลือกตั้งของอังกฤษในช่วง 195 ปีแรกหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะพบว่า อังกฤษมีปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างหนักและมีการใช้ความรุนแรงด้วย ดังข้อความที่ปรากฏในหนังสือ “Parliamentary Reform: 1785-1928”  เป็นตำราที่ใช้เรียนในระดับมัธยมของอังกฤษ ผู้แต่งคือ Sean Lang  ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1999 หน้า 82: “..elections could still be very violent affairs and were often as brazenly corrupt as ever—indeed, some thought the Ballot Act  made them more corrupt rather than less, since the more venal voters (venal แปลว่า ทำอะไรก็ได้เพื่อเงิน)  could now accept bribes from both parties without either knowing how they actually voted.”   

จะเห็นได้ว่า อังกฤษก็มีปัญหาการซื้อขายเสียงอย่างหนักมาก่อน แม้ว่าในศตวรรษที่สิบเก้า จะมีคนอังกฤษและนักการเมืองอังกฤษจำนวนไม่น้อยมีความคิดเห็นไม่ต่างกับคนไทยและนักการเมืองไทยในปัจจุบันว่า การทุจริตซื้อเสียงในอังกฤษเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจะต้องเป็นเช่นนี้ต่อไป แต่ก็มีคนอังกฤษและนักการเมืองอังกฤษอีกฝั่งหนึ่งที่ไม่ยอมรับ และหาทางต่อสู้แก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ เช่น มีการออกกฎหมายในปี ค.ศ.1883 (the Corrupt Practices Act) โดยมีบทโทษทั้งจำคุกและทั้งปรับอย่างรุนแรง รวมทั้งในช่วงเวลาที่ถูกคุมขังอยู่นั้น นักโทษจะถูกลงโทษให้ทำงานใช้แรงงานอย่างหนัก ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

ในกรณีของสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน สหรัฐอเมริกามีประสบการณ์การทุจริตในการเลือกตั้งไม่น้อยไปกว่าของไทยเลย  เพียงแต่คนอเมริกันที่ไม่ยอมรับในไม่คิดว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติอย่างที่คนไทยจำนวนหนึ่งชอบกล่าวอ้าง   แต่ข้อเท็จจริงที่นักวิชาการอเมริกันอย่างศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมาย Michal D. Gilbert ได้นำเสนออย่างซื่อตรงไม่เจืออคติทางการเมืองหรือหลงใหลเทิดทูนความยิ่งใหญ่ของการเมืองอเมริกันจนมองข้ามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน นั่นคือ ประชาธิปไตยอเมริกันได้ประสบปัญหาการทุจริตเลือกตั้งอย่างรุนแรงมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันเลยก็ว่าได้

นอกจาก Gilbert แล้ว Peter Brusoe ก็ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวนี้ไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ ประเด็นความเข้าใจผิดของคนอเมริกันในปัจจุบัน เพราะสิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอๆยามเมื่อประชาชนอเมริกันในปัจจุบันได้อ่านข่าวการใช้เงินเป็นจำนวนหลายพันล้านในการเลือกตั้ง บางครั้งพวกเขาจะกล่าวด้วยความละห้อยโหยหาอดีตว่า พวกเขาอยากจะกลับไปที่วันคืนเก่าๆในสมัยของ Washington และ Lincoln ที่การเมืองยังไม่ได้ถูกครอบงำด้วยเงิน แต่นี่เป็นความเข้าใจผิดหรือขาดความรู้ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน เพราะการเมืองอเมริกันในสมัยของ Washington ก็มีการทุจริตซื้อเสียงการเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่ม ดังที่ Gilbert ได้ให้ข้อมูลว่า George Washington ได้ใช้เหล้าซื้อเสียงผู้ลงคะแนน และ Brusoe ได้ให้ข้อมูลเสริมว่าเป็นจำนวนถึง 160 แกลลอน

ในกรณีการซื้อเสียงในการเลือกตั้งของ George Washington Brusoe ได้บรรยายไว้ในหัวข้อ “George Washington แจกเหล้าผู้ลงคะแนน” (George Washington Treats Voters to Alcohol) ไว้ว่า ในช่วงที่อเมริกายังเป็นอาณานิคม มีการลงคะแนนเสียงสำหรับตัวแทนของเขต (county) และถือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินขึ้นตลอดทั้งวันท่ามกลางถนนที่มีฝุ่นตลบ หลังจากที่ผู้คนเดินทางมาถึงสถานที่ลงคะแนน ก็มักจะคอแห้งกระหายน้ำและต้องการเครื่องดื่มดับกระหาย บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งก็มักจะใจดีจัดหาเครื่องดื่มให้ ซึ่งการกระทำแบบนี้เรียกว่าเป็น “การดูแล” ผู้ลงคะแนน และในปี 1757 เมื่อ George Washington ลงสมัครแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งแรกสำหรับการเป็นตัวแทนในสภานิติบัญญัติอาณานิคมของเวอร์จิเนีย (the House of Burgesses—the colonial legislature of Virginia) เขาปฏิเสธที่จะ “ดูแล” ผู้ลงคะแนน ส่งผลให้เขาแพ้การเลือกตั้งด้วยคะแนน 271 ต่อ 40 ต่อมาในปี 1758 George Washington ได้เปลี่ยนจุดยืนที่เดิมไม่ “ดูแล” ผู้ลงคะแนนโดยสั่งให้ผู้จัดการการรณรงค์หาเสียงของเขา นั่นคือ Captain James Wood ให้ “ดูแล” และจากข้อมูลของ Douglas Freeman พบว่า ได้มีการจัดเตรียมเหล้าจำนวน 160 แกลลอนไว้ให้สำหรับผู้ลงคะแนน 391 คน ในจำนวนนี้มีเหล้ารัม 28 แกลลอน เหล้าพันช์รัม 50 แกลลอน และไวน์ 34 แกลลอน เบียร์ 46 แกลลอน และไซเดอร์รอยัล 2 แกลลอน อีกทั้งในหนังสือที่ Washington ได้เขียนถึงคนของเขาคนหนึ่งในวันที่ 28 กรกฎาคม 1758 ระบุว่า เขามีความกังวลว่า ยังจัดหาเหล้าไว้ไม่พอและได้กล่าวว่า “ความวิตกกังวลของข้าพเจ้าก็คือ ท่านยังออมมือในการดูแลมากไป”

จากข้อเท็จจริงข้างต้นในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน Brusoe ชี้ว่า ผู้นำทางการเมืองจำนวนมากในยุคแรกของอเมริกาต่างเข้าไปพัวพันกับแบบแผนการหาเสียงดังกล่าวอันส่งผลให้พวกเขาสามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งนักปฏิรูปในยุคนั้นได้มองแบบแผนพฤติกรรมดังกล่าวนี้ด้วยความเคลือบแคลงสงสัย อันส่งผลให้เกิดการออกกฎหมายปฏิรูปงบประมาณในการหาเสียงขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 1811 รัฐแมรี่แลนด์ ได้ออกกฎหมายห้ามผู้สมัครใช้เงินซื้อเหล้าให้ผู้ลงคะแนน

ส่วนในกรณีของ Lincoln Brusoe ได้กล่าวไว้ภายใต้หัวข้อ “อับราฮัม ลินคอล์นซื้อสื่อหนังสือพิมพ์ “ (Abraham Lincoln Buys a Paper) โดยเขาบรรยายว่า “ผู้คนในปัจจุบันที่ดูข่าวทางโทรทัศน์ อาจจะได้ยินการร้องเรียนจากผู้สมัครทุกคนว่า สื่อไม่เป็นธรรมต่อการรณรงค์หาเสียงของพวกเขาโดยเอียงให้แก่คู่ต่อสู้ของตน ผู้สมัครบางคนได้ไปไกลถึงขนาดที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการโต้เถียงทางโทรทัศน์เพราะกลัวผู้ดำเนินรายการ ความคิดที่ว่าสื่อต้องไม่อคติเป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ในศตวรรษที่ยี่สิบ เพราะในสังคมอเมริกันยุคแรกๆ หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญสำหรับจุดยืนทางการเมืองแบบเลือกข้าง และจริงๆแล้ว หนังสือพิมพ์ของสหพันธรัฐก็ถูกพิมพ์ขึ้นเพื่อควบคุมมติมหาชน

และเมื่ออุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ได้เติบโตขึ้นและเริ่มมีวุฒิภาวะมากขึ้นและเกิดกระแสคลื่นใหม่ของผู้อพยพมาอเมริกา หนังสือพิมพ์เริ่มปรากฏในหลากหลายภาษา และตามข้อมูลของ Harold Holzer กล่าวว่า ผู้อพยพชาวไอริชลงคะแนนเสียงให้พรรคเดโมแครต (the Democratic Party) ในขณะที่ผู้อพยพชาวเยอรมันลงคะแนนเสียงให้พรรครีพับลิกัน (the Republican Party) และหนังสือพิมพ์ภาษาเยอรมันชื่อ “Freie Presse” ได้ตกอยู่ในสถานะลำบากทางการเงิน อุปกรณ์เครื่องจักรถูกยึด Lincoln ได้เข้าไปซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวในราคา 400 ดอลล่าร์ และให้ตัวผู้พิมพ์คนเดิมของหนังสือพิมพ์ คือ Dr. Theodore Canisius ทำหนังสือพิมพ์หัวใหม่ขึ้นมาชื่อ Illinois Staats-Anzeiger และในสัญญาระหว่าง Lincoln กับหนังสือพิมพ์นั้น ระบุไว้ชัดเจนว่า หนังสือพิมพ์จะต้องออกเป็นรายสัปดาห์และจะต้องสนับสนุนพรรครีพับลิกกัน และหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี Lincoln ได้ยุติการเปลี่ยนเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้น และจากการที่ Canisius ได้ทำหน้าที่รับใช้อย่างจงรักภักดีในการสนับสนุนการเลือกตั้งของ Lincoln เขาได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งทางการทูตกงสุลพิเศษประจำกรุงเวียนนา


จากข้างต้น Brusoe สรุปให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า ในขณะที่ประธานาธิบดี Washington และ Lincoln เป็นมหาบุรุษที่ได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศ แต่คนอเมริกันก็ควรตระหนักรับรู้ไว้ด้วยว่า พวกเขาเป็นนักการเมืองที่ไปพัวพันกับการกระทำที่เป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกันทั่วไปในยุคของพวกเขา—นั่นคือ การซื้อเสียงด้วยเหล้าและการเข้าไปแทรกแซงสื่อ ซึ่งหากพิจารณาให้ดีแล้ว จะพบว่า การหาเสียงของ Washington และ Lincoln ในขณะนั้น ส่งผลให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ เสรีและยุติธรรม แต่ยังไม่มีกฎหมายห้าม พวกเขาจึงทำได้ ตามหลักที่ว่า “ไม่มีความผิดและไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ก่อน” (nullum crimen, nulla poena sine praevia lege poenali) แต่กระนั้น พวกเขาก็ทำทั้งๆที่รู้ว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบจากการมีเงินทุนที่มากกว่าผู้สมัครรายอื่นๆ
แต่เมื่อสังคมเห็นว่า มันนำมาซึ่งการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและเป็นธรรม จึงมีการออกกฎหมายห้ามการได้มาซึ่งคะแนนเสียงด้วยวิธีเหล่านี้ Brusoe กล่าวว่า Washington และ Lincoln ล้วนเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติความสามารถที่โดดเด่นมากที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง แต่กระนั้น การใช้เงินในทางการเมืองไม่ใช่คุณสมบัติที่ดีของรัฐบุรุษทั้งสองนี้


จากประสบการณ์กว่าสองร้อยปีของประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา นายไมเคิล จี. ดีซอมบรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ได้กล่าวว่า“ประชาธิปไตยของไทยยังใหม่และเยาว์วัยอยู่มาก” และเขาได้กล่าวยังต่ออีกว่า “ประชาธิปไตยบางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และทุกๆประเทศก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป” ซึ่งคำกล่าวของเขาไม่ได้หมายเพียงแต่ประเทศที่ประชาธิปไตยยังใหม่และเยาว์วัยอยู่เท่านั้น แต่จริงๆแล้ว สหรัฐอเมริกาสมัยที่ประชาธิปไตยยังใหม่และเยาว์วัย “บางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และ…ก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป”


การทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้งของอเมริกาก็เป็นปัญหาที่สร้างความยุ่งเหยิงและท้าทาย ที่สังคมอเมริกันต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป การเมืองอเมริกันมีประสบการณ์การทุจริตในการเลือกตั้งไม่น้อยไปกว่าของไทยดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น  แต่สหรัฐอเมริกาก็ได้มีการออกกฎหมายแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยของเขาตลอดมา

เพราะแม้ว่านายไมเคิล จี. ดีซอมบรี จะไม่ได้กล่าวย้อนไปในรายละเอียดของประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศของท่านเอง แต่ผู้เขียนก็คาดว่าเขาก็ย่อมต้องรู้ดีว่า จอร์จ วอชิงตันก็ยังให้ลูกน้องไปซื้อเหล้ามาซื้อเสียงผู้ลงคะแนน (Washington spent his entire campaign budget, 50 pounds, on 160 gallons of liquor served to 391 voters. [Yes, the Founding Fathers drank heavily, especially when they had to vote.] Buying votes with booze was already a custom in England. Washington also was following a Virginia tradition where barrels of liquor were rolled to courthouse lawns and polling places on Election Day. https://constitutioncenter.org/blog/booze-on-election-day-was-an-american-tradition/ ) และประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นแอบซื้อสื่อหนังสือพิมพ์มาเป็นของตัวเอง และใช้ให้สื่อหนังสือพิมพ์เขียนเชียร์ตัวเองโดยไม่เปิดเผยให้สาธารณะรู้ (They don’t know that Lincoln owned his own newspaper at one point—a German language newspaper no less (and that he managed to hide it from his contemporaries and most biographies). They don’t know the time he spent reviewing and typesetting his famous Cooper Union speech the night before with journalists—knowing how it would launch his political career or more famously, how he designed the Gettysburg address not for the crowd—who was actually quite underwhelmed by it—but to play well for the newswires. They’ve certainly never heard of the jobs, leaks, advertising dollars and access to crucial telegraph lines Lincoln dangled in order to get what he needed. https://observer.com/2014/11/abraham-lincoln-as-media-manipulator-in-chief-the-150-year-history-of-corrupt-press/)


และจากตัวอย่างของนักการเมืองระดับรัฐบุรุษทั้งสองท่านของสหรัฐฯและอาจจะรวมตัวอย่างของนักการเมืองไทยด้วย ทำให้เราเข้าใจคำของท่านทูตดีซอมบรีที่ว่า “ประชาธิปไตยบางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และทุกๆประเทศก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป” เพราะต่อมา สหรัฐฯก็ได้ออกกฎหมายห้ามซื้อเสียงที่เข้มงวดขึ้นและห้ามนักการเมืองซื้อสื่อหรือเป็นเจ้าของสื่อ อันเป็นกฎหมายที่บ้านเราเพิ่งมีมาไม่นานมานี้ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกู้เอกชนเกินจำนวนที่กำหนดไว้ บ้านเราก็ไม่ให้เช่นกัน เพียงแต่บ้านเขาโทษแรงสุดคือปรับ แต่ของเรายุบพรรค คำถามคือ การตั้งพรรคการเมืองบ้านเรากับบ้านเขาอันไหนมันยากง่ายกว่ากัน เขาหรือเราจริงจังกว่ากันที่จะให้พรรคการเมืองมาจากฐานประชาชนจริงๆ ?


แล้วความได้เปรียบที่กู้เงินหัวหน้าพรรคเพื่อไปใช้ในการเลือกตั้งจนทำให้ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมามากมายกว่าพรรคที่ไม่เงินส่งผู้สมัครครบทุกเขต เพราะไม่รู้ว่ากู้หัวหน้าพรรคได้มากขนาดนั้น หรือไม่มีหัวหน้าพรรคที่เป็นมหาเศรษฐี ที่ให้กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้เชิงพาณิชย์ทั่วไป และเมื่อไม่ชำระดอกเบี้ยรายเดือนตามสัญญา ก็ไม่มีการปรับแต่อย่างไร และแถมเปลี่ยนสัญญากู้จากการชำระดอกเบี้ยรายเดือนมาเป็นรายปีให้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ถ้ารายปี (ซึ่งในขณะที่เป็นคดีความยังไม่ครบปีตามสัญญาที่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระดอกเบี้ย) ไม่มีเงินชำระดอกเบี้ยตามสัญญา จะมีการผ่อนผันอย่างไรเกิดขึ้นอีก ซึ่งในรายละเอียดของการกู้และการเปลี่ยนแปลงสัญญาชำระดอกเบี้ย ขอให้ผู้อ่านอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มโดยละเอียดได้จาก https://www.thaipost.net/main/detail/58501


(แหล่งอ้างอิง: Michael D. Gilbert, “The Problem of Voter Fraud,” Columbia Law Review, Vol. 115, No. 3, (April 2015); Peter Brusoe, “That time George Washington bought an election with 160 gallons of booze (and other Presidents’ Day stories)” February 12, 2016, Bloomberg Government; Tracy Campbell, Deliver the Vote: A History of Election Fraud, an American Political Tradition- 1742-2004; https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2051909)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490