อนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์

อนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ตั้งประดิษฐานอยู่ที่ลานศรียานนท์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

รูปลักษณะอนุสาวรีย์ เป็นอนุสาวรีย์ แบบเต็มตัว ขนาดเท่าครึ่งคนจริง  ลักษณะยืนเท้าซ้ายอยู่หน้าเท้าขวาเล็กน้อย สวมเครื่องแบบครึ่งยศ เสื้อคอตั้ง มีกระเป๋าแปะ 4 ใบ ใส่เข็มขัดเหนือเอว  คาดสายกระบี่และกระบี่ สวมหมวกหม้อตาล ใส่รองเท้าคัชชู มือซ้ายถือคทา มือขวาปล่อยตามสบาย

หล่อด้วยนวโลหะสีดำ ตั้งอยู่บนแท่นทำด้วยหินแกรนิต 3 ชั้น แท่น 2 ชั้นล่างทำด้วยหินแกรนิตสีดำ ทรงแปดเหลี่ยม แต่ละชั้นมีความสูง 0.20 เมตร แท่นชั้นบน ทำด้วยหินแกรนิตสีน้ำตาลอ่อน ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 1.60 x 1.60 เมตร สูง 1.73 เมตร

ที่ฐานชั้นนี้มีตราโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทำด้วยทองเหลืองสีเหลือง และมีอักษรภาษาไทย 4 แถว แถวแรกมีคำว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, แถวสองมีคำว่า อธิบดีกรมตำรวจผู้สถาปนา, แถวที่สามมีคำว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, แถวที่สี่มีคำว่า พ.ศ.2499

และแท่นชั้นบนสุดซึ่งใช้เป็นฐานรองรูปปั้นเป็นรูปสีเหลี่ยมจัตุรัสสูง 0.53 เมตร

พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ระหว่างปี พ.ศ.2494 ถึง พ.ศ.2500

ประวัติ พล.ต.อ.เผ่า เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2452 ที่ตำบลบางขุนพรหม อำเภอบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพันตำรวจโทพระพลาพิรักษ์เสนีย์ (พลุ้ย ศรียานนท์) และนางพงษ์ ศรียานนท์ สมรสกับคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ (สกุลเดิมชุณหะวัณ) บุตรสาวของจอมพลผิน ชุณหะวัณ

ปี พ.ศ.2469 จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เข้ารับราชการเป็นทหาร เจริญก้าวหน้าเป็นเจ้ากรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม ลาออกจากราชการ ต่อมากลับเข้ารับราชการ โดยโอนย้ายมาเป็นตำรวจ มียศเป็นพลตำรวจตรี ในตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ ในปี พ.ศ.2491

ปี พ.ศ.2494 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ จนถึงปี พ.ศ.2500 เป็นยุคที่ตำรวจมีการพัฒนาจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจน้ำ ตำรวจพลร่ม ตำรวจม้า ตำรวจรถถัง โรงพยาบาลตำรวจ และจัดหาสถานที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ตลอดจนจัดให้มีธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยตำรวจเหมือนกับทหาร และมีการสวนสนามของตำรวจเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่บริเวณลานพระราชวังดุสิต

เป็นยุคที่ถูกเรียกว่า “รัฐตำรวจ” หรือ “อัศวินผยอง” เนื่องจากเวลานั้นกำลังตำรวจสามารถเทียบเท่ากับกองทัพ เหมือนกองทัพทหาร

นับได้ว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอดีตอธิบดีกรมตำรวจ ที่ได้สร้างผลงาน พัฒนาปรับปรุงองค์กรตำรวจให้เจริญก้าวหน้ามากที่สุด ได้รับฉายาจากสื่อต่างประเทศว่า “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย”

เจ้าของคำขวัญ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม และกฎหมายบ้านเมือง”

พล.ต.อ.เผ่า ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจวาย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2503 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยวัยเพียง 51 ปี

สมัย พล.ต.อ.เผ่า เป็นอธิบดีกรมตำรวจ โรงเรียนนายร้อยตำรวจตั้งอยู่ที่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร สถานที่ดังกล่าวคับแคบ ไม่สะดวกต่อการฝึกของนักเรียนนายร้อยตำรวจ จึงได้สั่งการให้ย้ายโรงเรียนนายร้อยตำรวจไปตั้งอยู่ที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยซื้อที่ดินจากราษฎรจำนวน 571 ไร่

จากนั้นได้มีการก่อสร้างอาคารกองบัญชาการ อาคารกองรักษาการณ์ อาคารเรียน อาคารโรงนอน อาคารโรงอาหาร และบ้านพักข้าราชการ ฯลฯ

วันที่ 31 ตุลาคม 2497 นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 9, รุ่น 10 และรุ่น 11 ได้เดินทางไปที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจแห่งใหม่

วันที่ 13 ตุลาคม 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจอย่างเป็นทางการ

พระบรมราโชวาทตอนหนึ่ง ความว่า

 “โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นหลักสำคัญของบ้านเมือง เพราะประชาราษฎร์จักได้อาศัยเป็นที่พึ่งในยามที่มีทุกข์ร้อน  บุคคลที่จะให้ผู้อื่นพึ่งพาอาศัยได้นั้น จำต้องเป็นผู้ที่มีการศึกษาดี มีวิชาการ และเป็นผู้มีศีลธรรมอันดี ทุกประการ

การที่รัฐบาลของข้าพเจ้าได้จัดสร้างโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จึงเป็นการบำเพ็ญกรณียกิจที่ควรชมเชย

ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยอันประเสริฐ จงดลบันดาลให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจแห่งนี้ สถิตสถาพรเป็นศรีสง่าแก่ประเทศชาติ และเป็นสถาบันสำคัญ สำหรับให้การศึกษาวิชาการตำรวจแก่ผู้เข้าศึกษา ณ โรงเรียนแห่งนี้”

ปี พ.ศ.2532 พล.ต.ท.สมชาย ไชยเวช ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นคนแรก (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) ได้ริเริ่มและดำเนินการจัดสร้างอนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่า

วัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนนายร้อยตำรวจ และผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรต่างๆ ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้ระลึกถึงคุณงามความดีและคุณูปการของ พล.ต.อ.เผ่า ที่มีต่อโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และกรมตำรวจ

พล.ต.ท.สมชาย ซึ่งได้รับสมญานามว่า “สุภาพบุรุษสามพราน” เพราะเป็นนายตำรวจที่มีบุคลิกลักษณะสุภาพเรียบร้อย มีอัธยาศัยไมตรีกับทุกคน เป็นนายตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง เสียสละ ทำคุณประโยชน์ให้กับหน่วยงาน และเป็นแบบอย่างให้กับข้าราชการตำรวจทั่วไป

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.กอง สภ.อ.เมืองขอนแก่น ดำเนินการปรับปรุงสถานีตำรวจภูธร อ.เมืองขอนแก่น เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม เป็นต้นแบบตัวอย่างให้ตำรวจทุกหน่วยและหน่วยราชการอื่นๆ ต้องมาศึกษาดูงานเพื่อไปปรับปรุงหน่วยงานของแต่ละหน่วยงาน

พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อดีตอธิบดีตำรวจ เคยกล่าวชมเชย พล.ต.ท.สมชายว่า “พล.ต.ท.สมชายเป็นเจ้ากรมพิธีการตำรวจ…”

เนื่องจาก พล.ต.ท.สมชายได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้จัดงานพิธีการสำคัญต่างๆ อาทิ พิธีการงานวันตำรวจ  พิธีสวนสนามของนักเรียนนายร้อยตำรวจ  การประชุมสัมมนาตำรวจระดับสูงทั่วประเทศ ฯลฯ

ดำเนินการด้วยความประณีต  ละเอียด รอบคอบ เอาใจใส่การปฏิบัติทุกขั้นตอน ซักซ้อมการปฏิบัติทุกครั้ง เป็นที่ประทับใจผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมพิธีทุกครั้ง เป็นแบบอย่างยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อ พล.ต.ท.สมชาย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้ทุ่มเทการทำงาน กินนอนพักอาศัยอยู่บ้านพักภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจตลอดเวลา ทุกวันราชการและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงอาคาร สถานที่ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น อาคารกองบัญชาการ อาคารห้องเรียน อาคารโภชนาการ อาคารเรือนนอน สนามยิงปืน ลานฝึกศรียานนท์ ฯลฯ

ผลงานที่สำคัญได้จัดทำโครงการของบประมาณจากรัฐบาลนายกฯ ชาติชายขณะนั้น จำนวน 1,250 ล้านบาท เพื่อพัฒนา ปรับปรุงก่อสร้างอาคาร สถานที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจให้ทันสมัย เหมาะสมกับสภาพสถานศึกษาตำรวจที่สำคัญแห่งหนึ่ง

พล.ต.ท.สมชายได้หารือการจัดสร้างอนุสาวรีย์กับ พล.ต.ท.สนอง วัฒนวรางกูร ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) พล.ต.ท.สนองได้ติดต่อช่างปั้นและช่างหล่อมาดำเนินการ

โดย พล.ต.ท.สนองได้นำภาพถ่าย พล.ต.อ.เผ่า ขณะควบคุมการฝึกซ้อมการเดินสนามของนักเรียนนายร้อยตำรวจ สำหรับพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อปี พ.ศ.2499 มาเป็นต้นแบบปั้นรูปอนุสาวรีย์

ภาพดังกล่าวเป็นภาพจริงในท่ามือขวาถือซิการ์ มือซ้ายถือไม้ตะพดเล็ก แต่รูปปั้นจริงจะไม่มีซิการ์

วันที่ 22 ธันวาคม 2533 เริ่มดำเนินการจัดสร้างอนุสาวรีย์และปรับปรุงบริเวณสถานที่ตั้งประดิษฐาน

ผู้อำนวยการในการปั้นและหล่อรูปปั้นคือ อาจารย์สาโรช จารักษ์ ประติมากรอาวุโส อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร โดยนายสุภร ศิระสงเคราะห์ ประติมากร กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ปั้น (ผู้ปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4) หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผู้ดำเนินการจัดการหล่ออนุสาวรีย์คือนายแหลมสิงห์ ดิษฐพันธุ์ (ผู้หล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4) เช่นกัน

งบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ ค่าปั้น 100,000 บาท ค่าหล่อรูปปั้น 200,000 บาท รวม 300,000 บาท โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ

พ.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ และ พ.ต.ท.เอก อังสนานนท์ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ประสานงานรวบรวมเงินบริจาคจากผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกรุ่นทุกหลักสูตร

เมื่อดำเนินการจัดสร้างอนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่าเสร็จ ได้นำไปประดิษฐานไว้ที่บริเวณทางเข้าลานศรียานนท์ ด้านทิศเหนือ

วันที่ 22 ธันวาคม 2533 ปี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ได้ไปเป็นประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่ลานศรียานนท์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม

มีงานเลี้ยงรับรองที่ลานศรียานนท์ โดยมีผู้บังคับบัญชาและผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกรุ่นทุกหลักสูตร นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกชั้น นักเรียนพยาบาลจากโรงพยาบาลตำรวจไปร่วมงานจำนวนมาก

นับว่าเป็นเรื่องประจวบเหมาะอย่างยิ่ง พล.ต.อ.เผ่าเป็นผู้ดำริและหาเงินมาซื้อที่ดินก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม โดย พล.ต.อ.เผ่าเป็นพี่เขย พล.อ.ชาติชาย (คุณหญิงอุดมลักษณ์ ภริยา พล.ต.อ.เผ่า เป็นพี่สาวแท้ๆ ของ พล.อ.ชาติชาย) 

ต่อมา พล.อ.ชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อนุมัติเงินงบประมาณเงินปรับปรุงโรงเรียนนายตำรวจครั้งใหญ่ที่สุด (1,250 ล้านบาท) จนโรงเรียนนายร้อยตำรวจดำเนินการพัฒนา ปรับปรุง ทันสมัย เรียบร้อยสมบูรณ์ถึงปัจจุบันนี้

พล.ต.อ.สมชาย ไชยเวช เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองอธิบดีตำรวจ เมื่อปี พ.ศ.2537 เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น และคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปัจจุบัน พักอาศัยอยู่บ้านที่จังหวัดขอนแก่น เป็นปูชนียบุคคลของข้าราชการตำรวจในพื้นที่ภาคอีสาน ยังมีข้าราชการตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ

ทุกวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันตำรวจ โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้จัดให้มีพิธีวางพวงมาลาอนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่า เพื่อแสดงความเคารพสักการะเป็นประจำทุกปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ย้ายวันตำรวจมาเป็นวันที่ 17 ตุลาคม)

หมายเหตุ ขอขอบคุณ พล.ต.ท.ฉลองเกียรติ โรจน์ปัญญาคุปต์ อดีต รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้รวบรวมข้อมูลสนับสนุน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ