ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 8: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475)  ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม เรื่อง เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองหลวงของสยาม

“สืบเนื่องจากรายงานฉบับที่ 22/A ลงวันที่ 24 มิถุนายนฉบับที่แล้วของข้าพเจ้า (ดูตอนที่ 5/ผู้เขียน) ว่าด้วยการยึดอำนาจโดยทหารในบางกอกเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะรายงานให้ท่านทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางกอกหลังจากวันก่อการปฏิวัติ 1 สัปดาห์ 

เรื่องที่จะรายงาน ได้แก่

เรื่องที่ 1 – พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับคำขาดที่ได้รับทูลเกล้าฯถวายและทรงยอมรับรัฐบาล ‘คณะราษฎร’

เรื่องที่ 2 – การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน (แนบฉบับแปลมา ณ ที่นี้ด้วย)

เรื่องที่ 3 – การแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่

1.ท่าทีของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหาร

ในส่วนของพระมหากษัตริย์และท่าที่ของพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว  ต่อไปเป็นรายงานเกี่ยวกับ “ข้อสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่”

“ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่นี้เป็นเพียงฉบับร่างเท่านั้น และคณะกรรมการพิจารณายกร่างธรรมนูญการปกครองที่เพิ่งร่างเสร็จเมื่อ 2 วัน (เน้นโดยผู้เขียน และโปรดดูเชิงอรรถที่ 2) ก่อนดูจะทำงานไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากคณะยกร่างธรรมนูญปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้ก่อให้เกิดารวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แม้แต่ในสายตาของผู้ไม่เชี่ยวชาญนัก โดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดอะไรแน่นอน และในขณะที่พยายามก้าวไปข้างหน้าก็กลับถอยหลังเข้าคลอง นอกจากนั้น ธรรมนูญฉบับนี้ยังมีข้อขัดแย้งที่ชัดเจน เช่น ‘มาตรา 33…..ประธานกรรมการเป็นผู้เลือกสมาชิกในสภาอีก 14 คน...’ ‘มาตรา 34…..สภาแต่งตั้งกรรมการสำหรับตำแหน่งนั้นๆ แทน...’  [1] ผู้ยกร่างคนสำคัญของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม สมาชิกรัฐบาลชุดใหม่และคณะกรรมการราษฎร น่าจะได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาคนรุ่นหนุ่มที่ไปศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศฝรั่งเศสและประเทศเยอรมนี และเพิ่งเดินทางกลับสยาม….” 

---------------------

สำหรับผู้ยกร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ตามรายงานข้างต้นของนายพันโท อองรี รูซ์ ดูเหมือนว่า นายพันโท อองรี รูซ์ จะเห็นว่า มีคณะกรรมการพิจารณายกร่าง และผู้มีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการพิจารณายกร่างคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ส่วนแหล่งข้อมูลอื่นที่กล่าวราวกับว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้ร่างโดยคณะบุคคล ได้แก่ บทความเรื่อง “ย้อนดูจุดเริ่มต้นและจุดจบ “คณะกรรมการราษฎร 2475” ผู้พลิกโฉมหน้า “การเมืองไทย” (ตอนที่ 1)” โดยผู้เขียนคือ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_109908) ที่เขียนไว้ในบทความดังกล่าวว่า “คณะผู้ก่อการใช้เวลาร่างพระธรรมนูญเพียง 2 วัน”  แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่บ่งบอกว่ามีคณะกรรมการยกร่าง   

ขณะเดียวกัน มีแหล่งข้อมูลที่เห็นว่า มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเท่านั้นที่เป็นผู้ยกร่าง แต่ยกร่างไว้ล่วงหน้า ซึ่งไม่น่าจะเป็นการยกร่างเพียง 2 วัน อย่างที่นายพันโท อองรี รูซ์ และกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมได้กล่าวไว้   คือ Judith A. Stowe, Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue, (Honolulu: University of Hawaii Press: 1991), p. 25 โดย Stowe ได้เขียนไว้ว่า “On June 26 when representatives of the promoters were received by the King, they presented him with a copy of a provisional constitution drafted in advance by Pridi.” (วันที่ 26 มิถุนายน เมื่อตัวแทนของคณะผู้ก่อการได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวกเขาได้กราบบังคมทูลถวายสำเนาของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราวที่ร่างขึ้นไว้ล่วงหน้าโดยปรีดี”)

ส่วนข้อมูลของเวปไซต์ Public Law Net  http://public-law.net/publaw/view.aspx?id=138    กล่าวว่า “ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งถือกันว่าเป็น "มันสมอง" ของคณะราษฎร”

ในบทความของ Eugenie Mérieau กล่าวว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน “ร่างขึ้นโดยคณะปฏิวัติฝ่ายเดียวเท่านั้น และเป็นไปได้มากว่า โดยปรีดี พนมยงค์ นักกฎหมายที่ได้รับการศึกษาในฝรั่งเศส” (…first Constitution, unilaterally drafted by the revolutionaries, and most likely by Pridi Panomyong, a jurist educated in France.)  Eugenie Mérieau, “The 1932 Compromise Constitution: Matrix of Thailand’s Permanent Constitution Instability,” in Kevin YL Tan and Bui Ngoc Son, eds.,  Constitutional Foundings in Southeast Asia, (Oxford: Hart: 2019), p. 298.

ส่วนงานของนครินทร์ ไตรรัตน์ เรื่อง การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ที่ผลงานเป็นที่ยอมรับทั่วไปในฐานะที่เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม 2475 ได้กล่าวว่า  “เป็นที่แน่ชัดว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้เขียน (ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว/ผู้เขียน) ขึ้น” นครินทร์ เมฆไตรรัตน์,  การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพมหานคร: ฟ้าเดียวกัน: 2553, พิมพ์ครั้งที่ห้า), หน้า 215.

ผู้เขียนอยากจะชวนผู้อ่านลองคิดดูว่า การยกร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยบุคคลคนๆเดียวและนำไปประกาศใช้  มีนัยความหมายแตกต่างจากการยกร่างโดยคณะบุคคลแล้วนำไปประกาศใช้อย่างไร ?

--------------------------------

กลับมาที่รายงานเกี่ยวกับธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่ของนายพันโท อองรี รูซ์         

“ผู้ยกร่างคนสำคัญของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม สมาชิกรัฐบาลชุดใหม่และคณะกรรมการราษฎร น่าจะได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาคนรุ่นหนุ่มที่ไปศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศฝรั่งเศสและประเทศเยอรมนี และเพิ่งเดินทางกลับสยาม แต่ดูเหมือนนักเรียนอังกฤษแทบจะถูกกีดกันออกไปอย่างสิ้นเชิงโดยไม่ทราบสาเหตุ ดูเหมือนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายจากฝรั่งเศส เป็นอาจารย์ที่โรงเรียนกฎหมาย และมีความคิดก้าวหน้ามาก เช่นเดียวกับนักเรียนจากตะวันออกไกลทั้งหลายที่เรียนจบจากยุโรป รายละเอียดน่าสนใจที่จะรายงานต่อไปนี้สะท้อนถึงลักษณะนิสัยของเขา  เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเข้าร่วมกับเป็นคณะกรรมการสอบปลายปีที่มหาวิทยาลัยกฎหมายในบางกอกร่วมกับอาจารย์ชาวยุโรปหลายท่าน ในบรรดาหัวข้อเรียงความที่เขาเสนอให้เพื่อนร่วมงานเลือก หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอหัวข้อ ‘วิธีใดบ้างที่ประเทศหนึ่งๆสามารถนำมาใช้เพื่อจะได้ไม่ต้องชำระหนี้’  เพื่อนร่วมงานชาวฝรั่งเศสของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมคนหนึ่งยืนยันกับข้าพเจ้าว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ในขณะนี้จึงพอสรุปได้ว่าการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ถูกตระเตรียมไว้ก่อนและหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ตั้งเป้าหมายบทบาทของตนไว้ตั้งแต่ตอนนั้นโดยหารือกับบรรดาลูกศิษย์ไว้ล่วงหน้า”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย.   ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 36, 38).

[1] มาตรา ๓๓ : “ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้ ๑ ขึ้นเป็นประธานกรรมการ  และให้ผู้เป็นประธานนั้นเลือกสมาชิกในสภาอีก ๑๔ เพื่อเป็นกรรมการ การเลือกตั้งนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาแล้ว ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับเลือกนั้นๆเป็นกรรมการของสภา ในเมื่อสภาเห็นว่ากรรมการมิได้ดำเนินกิจการตามรัฐประศาสโนบายของสภา สภามีอำนาจเชิญกรรมการให้ออกจากหน้าที่ แล้วเลือกตั้งใหม่ตามที่กล่าวในตอนนั้น”  มาตรา ๓๔: “กรรมการคนใดมีเหตุอันกระทำให้กรรมการคนนั้นขาดคุณสมบัติอันกำหนดไว้สำหรับผู้แทนในมาตรา ๑๑ ก็ตาม หรือตายก็ตาม ให้สภาเลือกกรรมการแทนสำหรับตำแหน่งนั้นๆ

ในเมื่อสภาได้เลือกตั้งกรรมการแล้ว สภาชุดนั้นหมดกำหนดอายุตำแหน่งเมื่อใด ให้ถือว่ากรรมการชุดนั้นย่อมหมดกำหนดอายุตำแหน่งด้วย”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 24: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ

สัญญาณ 'ทักษิณ' กินรวบ 'สมชาย' สมัคร สว. หึ่ง!วางตัวนั่งประธาน

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา(สว.) วันแรกที่จังหวัดเชียงใหม่หลายพื้นที่คึกคักโดยเฉพาะเขตเมืองและอำเภอปริมณฑล

ขาสั่น 'เศรษฐา' รับกังวล ปมถูกยื่นถอดถอน

สาธารณรัฐอิตาลี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี 40 วุฒิสมาชิก ยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า ตนคงไม่ไปก้าวล่วงกับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเป็น 50 ต่อ 50 หรือ 40 ต่อ 60 และเมื่อ

คนไม่ได้เลือกพลอยซวยไปด้วย 'ดร.เสรี' ฟาด 2 พรรคการเมือง

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า พรรคหนึ่งก็พยายามประกาศนโยบาย จัดทำโครงการที่ประชาชนเคลือบแคลง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 11)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490