'หมอธีระ' แนะแนวป้องกันโควิดหลังสงกรานต์ คาดติดเชื้อพุ่ง 2-3 เท่า

17 เม.ย. 2565 น.พ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ให้คำแนะนำแนวทางป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิดสำหรับผู้ที่กลับจากเดินทางสงกรานต์

1.ไม่ว่าจะสบายดีหรือไม่ก็ตาม ควรตรวจ ATK ด้วยตนเองสัก 2 ครั้งในสัปดาห์หน้า ห่างกัน 3-5 วัน

2.ทำงานที่บ้านตลอดสัปดาห์หน้า แต่หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน โปรดใส่หน้ากากเสมอ เช็คให้เแน่ใจว่าปิดปากปิดจมูกและแน่นเพียงพอ กระชับใบหน้า ไม่ใช่แปะไว้บนใบหน้าพอเป็นพิธี

3.สถานที่ทำงานใดๆ ที่เปิดให้คนเข้ามาทำงาน หรือต้องบริการลูกค้า ควรตรวจ ATK สำหรับบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสอบ สังเกต ว่ามีคนไม่สบาย ไอ จาม เจ็บคอ ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หรือไม่ หากมี ต้องตรวจ แม้ผลเป็นลบโดยยังมีอาการ ก็ควรให้หยุดงาน ไปรักษาให้หายดีเสียก่อน ระหว่างหยุดพักรักษาตัวก็ควรตรวจซ้ำเป็นระยะ

4.งดการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น ทั้งที่ทำงาน และอื่นๆ นอกบ้าน เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง

5. บ้านใด ยังสบายดี ก็ไม่ควรประมาท วางแผนรับมือเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า เตรียมข้าวของอุปกรณ์เครื่องใช้จำเป็นและห้องหับให้เรียบร้อย จะได้ไม่วุ่นวายเวลาสมาชิกในบ้านเกิดปัญหาติดเชื้อขึ้นมากระทันหัน

พร้อมกันนี้ น.พ.ธีระ ยังระบุว่า ไทยผ่านช่วงพีคมาตั้งแต่ 10 มีนาคม 2565 ขาลงใช้เวลาราว 1.5 เท่าของขาขึ้น ตามลักษณะที่เห็นจากธรรมชาติการระบาดของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

จึงสังเกตได้จากภาพที่ 3 และ 4 ว่ากราฟการระบาดที่แสดงจำนวนการติดเชื้อจากรายงานทางการ (RT-PCR) รวมกับจำนวน ATK มีลักษณะเหมือนกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขของไทย ที่มีเสรีการใช้ชีวิตมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ร่วมกับเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ ก็จะมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการปะทุระบาดหนักมากขึ้นได้คล้ายกับหลายประเทศในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่จะปะทุจนทำให้จำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงขึ้นเป็น 2-3 เท่าของ baseline ก่อนเกิดการปะทุ ภายในเวลา 3-4 สัปดาห์

ดังนั้นหากยอด RT-PCR รวมกับ ATK ในจุดที่ต่ำสุดอยู่ราว 30,000 การปะทุก็น่าจะทำให้เกิดจำนวนติดเชื้อมากขึ้นราว 2-3 เท่า ถ้าเป็นไปตามลักษณะของต่างประเทศ

แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ สงกรานต์ปีที่แล้ว ในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเมษายนเราพบว่าการติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นเป็น 3 เท่าของช่วงก่อนสงกรานต์ และเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ที่มีจำนวนสูงขึ้นไปอีกเป็น 2 เท่าของปลายเมษายน

คงต้องติดตามดูต่อไปว่า การระมัดระวัง ป้องกันตัวของเราทุกคนจะช่วยลดโอกาสเกิดการปะทุซ้ำได้มากน้อยเพียงใด เพราะพฤษภาคมจะมีการเปิดเทอมของเด็กๆ ซึ่งหากจำนวนติดเชื้อในชุมชนสูงมาก ก็คงน่าเป็นห่วง เพราะมีเด็กเล็กอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงอายุที่จะรับวัคซีนได้ และมีอีกไม่น้อยที่แม้อยู่ในช่วงอายุที่รับวัคซีนได้ ก็ยังไม่ได้ไปรับ

การติดเชื้อ Omicron ในเด็กเล็ก นำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้มาก ผู้ปกครองควรดูแล ป้องกันเด็กๆ ของเราให้ดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่ง! ไทยติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 630 ราย ดับเพิ่ม 5 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 630 ราย

ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 501 ราย ดับเพิ่ม 4 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 10 - 16 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 501 ราย

ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 446 ราย ดับเพิ่ม 3 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 446 ราย