'บิ๊กตู่' สั่ง สธ. เกาะติดเชื้อกลายพันธุ์ หลัง WHO พบโควิดพุ่งทั่วโลก

8 ก.ค. 2565 – เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 10/2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุม ว่า มีเรื่องที่จะเรียนให้ที่ประชุมรับทราบคือองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานผลการติดตามการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา และระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5 ซึ่ง WHO แสดงความกังวลในเรื่องนี้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมโควิด-19 เพราะหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ซึ่งอาจจะทำให้การติดตามสถานการณ์สายพันธุ์ใหม่ยากยิ่งขึ้น และขอร้องให้ประเทศต่างๆ สร้างภูมิคุ้มกันกับประชาชน เพื่อลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตหากติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่วนข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4 , BA.5 มากขึ้นโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อาจจะทดแทนสายพันธุ์เดิม แม้ยังไม่มีข้อมูลว่าสายพันธุ์ดังกล่าวมีการแพร่เชื้อที่รุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดิมอย่างไร แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการแพร่ระบาดในประเทศไทยก็มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะทำให้พบการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยพบผู้ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อยและรักษาตัวที่บ้านมากขึ้น แต่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รวมทั้งสุ่มตรวจและติดตามการกลายพันธุ์โดยเฉพาะ BA.4 BA.5 เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และกำหนดมาตรการต่อไป พร้อมขอให้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน รวมทั้งติดตามการผ่อนคลายกิจกรรม เพื่อช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพราะหากคำนึงถึงสาธารณสุขเพียงด้านเดียว ด้านอื่นจะไปต่อไม่ได้ และขอให้เข้มงวดมาตรการ Universal prevention พร้อมเร่งรัดการวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากยิ่งขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ