
'หมอนิธิพัฒน์' บอกต้องวัดใจตัวเลขผู้ติดเชื้อช่วง 12-16 ก.ค.จะทะยานหรือไม่ รับตัวเลขจริงน่าจะแตะ 5 หมื่นต่อวัน ชี้หากไม่อยากเห็นการรอต่อคิวเข้าไอซียูโควิด ยังต้องใส่หน้ากากและหมั่นรักษาระยะห่าง
14 ก.ค.2565 - รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลโพสต์เฟซบุ๊กว่า เพิ่งสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงการรายงานยอดผู้ติดเชื้อ น่าจะเริ่มมาได้ไม่กี่วัน จากกรอบสีฟ้าที่มุมซ้ายล่างของรูปการรายงานวันนี้ จะเห็นยอดผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK แล้วรายงานเข้ามาในระบบ OPSI ตัวเลขที่แสดงเป็นยอดรวมของวันที่ 3 ถึง 9 ก.ค. ที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละราวสองหมื่น แต่ช่วงนี้มีการปรับระบบสิทธิประโยชน์ของผู้รายงานเข้ามา ประมาณกันว่ายอดรายงานจะลดลงจากเดิมราวหนึ่งในสาม ดังนั้นยอดจริงน่าจะราวสามหมื่น และประมาณกันว่ายอดคนที่ตรวจแล้วไม่รายงานเข้าในระบบ ระยะนี้จะสูงขึ้นต้อนรับการเป็นโรคประจำถิ่น ยอดผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อรายวันจึงน่าจะแตะที่ระดับห้าหมื่น นับว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ช่วง 26 มิ.ย. ถึง 2 ก.ค. ต้องวัดใจกันว่า ตัวเลขของสัปดาห์ 12-16 ก.ค. ถัดไปนี้ จะทะยานขึ้นไปต่ออีกหรือไม่ ตอนนี้ยังใจชื้นหน่อย ที่ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงยังฝ่าแนวต้านที่ 800 ขึ้นไปไม่ได้
แต่ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะสงบหรือจะเบ่งบานเพียงใด ไอซียูโควิดที่บ้านริมน้ำเช่นเดียวกับของโรงพยาบาลใหญ่อีกหลายแห่ง ยังคงมีผู้ป่วยโควิดรุนแรงจนถึงวิกฤต หมุนเวียนกันเข้ามารับการดูแลรักษาต่อเนื่องกันมาเกือบสามปีแล้ว เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยเฉพาะกลุ่มพยาบาล ที่ต้องอยู่คอยดูแลให้การรักษากับผู้ป่วยเกือบตลอดเวลา พวกเขามีโอกาสได้พักผ่อนน้อยลงกว่าแต่ก่อนชัดเจน (ที่ยังครองความเป็นโสดก็ยิ่งหมดโอกาส ได้แต่นับวันรอคอยอยู่บนคานทองต่อไป) วันหยุดยาวบางคนวางแผนจะแลกเวรเพื่อไปพักกายหย่อนใจเหมือนอาชีพอื่นเขาบ้าง เพื่อนร่วมงานก็ดันมาป่วยจากโควิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานประจำ ทำให้แผนพังทลายเพราะต้องขึ้นเวรแทนเพื่อนที่ต้องถูกดึงตัวออกไปพักชั่วคราว โปรดช่วยกันควบคุมสถานการณ์โควิดอย่าให้บานปลาย ให้โอกาสพวกเขาได้เบาแรงกายแรงใจ สะสมพลังไว้ต่อกรกับโควิดต่อไปได้อีกยาวนานจนกว่าโรคจะสงบ
อย่างที่กล่าวมาในครั้งก่อนๆ ว่า ระลอกโอไมครอนนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รุนแรงจากโควิด การต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมักไม่ได้เป็นผลจากปอดอักเสบโควิดเหมือนสมัยเชื้อสายพันธุ์เดลตา แถมผู้ป่วยเองก็มีต้นทุนสุขภาพไม่ดีจากอายุที่มากและมีโรคร่วมรุนแรงอยู่เดิม การช่วยหายใจในผู้ป่วยระลอกนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นแบบไม่รุกล้ำ (non-invasive ventilation) คือ ต่อเครื่องช่วยหายใจเข้าสู่ผู้ป่วยผ่านทางอุปกรณ์ต่อเชื่อม ซึ่งมักนิยมใช้เป็นหน้ากากครอบที่ปากและจมูกดังในรูป ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมานจากการใส่ท่อช่วยหายใจทางปากผ่านเข้าไปในหลอดลม และในผู้ป่วยที่รู้ตัวดีและแข็งแรงพอระดับหนึ่ง ยังสามารถหยุดใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นครั้งคราวได้ระหว่างทำกิจกรรมการพยาบาล อีกทั้งไม่ต้องใช้ยาระงับประสาทระหว่างใช้เครื่องช่วยหายใจหรือใช้แต่เพียงน้อย ทำให้สามารถสื่อสารกันได้กับบุคลากรที่เข้าไปในห้องผู้ป่วย จึงช่วยลดความแปลกแยกจากสิ่งแวดล้อมในไอซียูโควิดที่ไม่คุ้นเคยและดูน่าหวั่นใจ
หากไม่อยากเห็นการรอต่อคิวเข้าไอซียูโควิด มาช่วยกันหยุดยั้งการระบาดช่วงนี้ด้วยการหมั่นใส่หน้ากากและหมั่นรักษาระยะห่าง
หากไม่อยากเห็นพ่อแม่ญาติพี่น้องที่สูงวัยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โปรดใส่ใจนำท่านเข้ารับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นทั้งเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สองตามคำแนะนำ
พวกเราเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ จะยืนหยัดทำหน้าที่กันต่อไปจนกว่าโควิดจะซา เหมือนสาวกปิศาจแดงที่ยืนหยัด รอผู้จัดการทีมคนที่ใช่อย่าง ETH มาช่วยปลุกผี แม้การถล่มคู่แข่งตลอดกาลในเมืองไทยจะเป็นเพียงแมตช์ก่อนฤดูกาลก็ตามที #โควิดยังไม่หมดอย่ารีบปลดหน้ากาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' กางข้อสรุปจากองค์การอนามัยโลกเรื่องวัคซีนโควิด19 ตบหน้าวัคซีนเทพ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
ช็อก! 'ณัฐภาณุ นพคุณ' รองโฆษกบัวแก้ว เสียชีวิต
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตกใจ...และ ใจหายมากๆ ที่รองฯนิ้ง ณัฐภาณุ นพคุณ โฆษกศบค. ภาคภาษาอังกฤษ ที่
‘หมอยง’ ชี้โรคปอดบวมในเด็กที่กำลังระบาดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่
มีการระบาดและเพิ่มมากขึ้นของปอดอักเสบ โดยเฉพาะในเด็ก ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีน ยังพบมากในเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อเมริกาในหลายรัฐ และแม้แต่ในประเทศไทย
'หมอยง' ชี้โควิด19 แนวโน้มเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่!
หมอยงชี้โควิด 19 แนวโน้มเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลคล้ายไข้ไหวัดใหญ่ แต่เชื่อความรุนแรงอาจน้อยกว่า วัคซีนจึงจำเป็นเฉพาะในกลุ่มเปราะบางเท่านั้น และควรให้ก่อนการระบาดใหญ่หรือก่อนเปิดเทอม
อาจารย์หมอจุฬาฯ เตือนตรวจโควิด 3 วันแรก มีผลเป็นลบอย่าชะล่าใจ
การตรวจด้วย ATK ในช่วงวันแรกๆ หลังจากที่เริ่มมีอาการนั้นมีความไวลดลงเหลือ 30-60% จึงมีโอกาสที่จะทำให้ตรวจได้ผลลบปลอม
โควิดรายสัปดาห์ ป่วยนอนโรงพยาบาล 390 ราย เสียชีวิต 1 ราย
กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 12 - 18 พฤศจิกายน 2566