'หมอธีระ' เผยข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก โอมิครอนยึดโลกแล้ว 99.9% สายพันธุ์ BA.5 มากสุด ผลวิจัยนอร์เวย์ชี้ไม่ว่าติดจากสายพันธุ์ไหนมีโอกาสเจอ Long COVID แน่
01 ธ.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด 19 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ว่าเริ่มต้นเดือนแห่งเทศกาลอย่างระมัดระวัง... เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 372,982 คน ตายเพิ่ม 741 คน รวมแล้วติดไป 647,708,741 คน เสียชีวิตรวม 6,639,450 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.41 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.1
...อัพเดตจาก WHO
องค์การอนามัยโลกออกรายงานล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืนนี้ 30 พฤศจิกายน 2565 Omicron ครองการระบาดถึง 99.9% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หากวิเคราะห์สายพันธุ์ในสัปดาห์ล่าสุด พบว่า BA.5 มีสัดส่วน 73%, BA.2 เพิ่มขึ้นเป็น 10.1% (เดิม 7.9%), BA.4 ลดลงเหลือ 2.8% (เดิม 3.4%)
สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่น่ากังวลสำหรับทั่วโลกนั้น พบว่า BQ.1.x นั้นมีการระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 27.3% (เดิม 23.1%), ในขณะที่ BA.2.75.x เพิ่มขึ้นเป็น 6.6% (เดิม 5.4%), ส่วน XBB เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.8% (เดิม 2.7%)
ปัจจุบัน BQ.1.x นั้นแตกหน่อต่อยอดไปจนมีลูกหลานกว่า 30 สายพันธุ์ย่อยแล้ว
...อัพเดต Long COVID หลังติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron
Magnusson K และคณะ จากประเทศนอร์เวย์ เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ Nature Communications เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยศึกษาความชุก และความเสี่ยงในการเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ของ Long COVID ในกลุ่มประชากรที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา จำนวน 23,767 คน และ Omicron จำนวน 13,365 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 105,297 คน
สาระสำคัญคือ ในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากที่ติดเชื้อนั้น ความเสี่ยงและอัตราการเกิดปัญหา Long COVID ของกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา และ Omicron นั้นไม่แตกต่างกัน แต่หลังจาก 3 เดือนเป็นต้นไป กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron นั้นจะมีอัตราการเกิดปัญหา Long COVID โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ น้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ในแง่ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการผิดปกติหลักๆ ของ Long COVID ในระบบต่างๆ ของร่างกายนั้น หากเทียบกับกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อแล้ว การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า Omicron ไม่ได้แตกต่างจากเดลตา ดังนั้น จึงตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ
สถานการณ์ปัจจุบันของไทยนั้นมีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันมากระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและคนใกล้ชิด (Responsible living) เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเป็นกิจวัตร หากไม่สบาย ตรวจพบว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวจากคนอื่นอย่างน้อย 7-10 วัน จนกว่าจะอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK แล้วได้ผลลบ ก่อนออกมาใช้ชีวิตและป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์ แต่หากมีอาการป่วย แต่ตรวจได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ ควรตรวจซ้ำทุกวันอย่างน้อย 3 วันติดกัน คอยสังเกตรอบข้าง รักษาระยะห่างจากคนที่ไม่ได้ป้องกันตัว ใช้เวลาสั้นๆ ในการพูดคุยพบปะหรือบริการ เลี่ยงการกินดื่มร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับคนอื่น เลี่ยงสถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
Magnusson K et al. Post-covid medical complaints following infection with SARS-CoV-2 Omicron vs Delta variants. Nature Communications. 30 November 2022.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดีอธิบายต้นตอทำไม WHO ยังเตือนเรื่องโควิด
คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีไขข้อข้องใจทำไม WHO ยังเตือนเรื่องโควิด19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เหตุมาจากการกลายพันธุ์จำนวนมาก แต่ยังดีวัคซีนทั้งแบบฉีดและกินเอาอยู่
'นพ.ธีระ' ยกวิจัย 'สหรัฐ-อาร์เจนตินา' ชี้โควิดทำเด็กเสี่ยง Long COVID
'หมอธีระ' ยกผลวิจัยเมืองมะกัน-อาร์เจนตินาเตือนเรื่อง Long COVID ในเด็กและเยาวชน สหรัฐเผยเป็นสาเหตุทำให้เก็ดเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 8 ส่วนอาร์เจนฯ ระบุ 1 ใน 3 เด็กติดเชื้อเจอภาวะลองโควิด
หมอธีระ เปิดข้อมูลเทียบ Long COVID ระหว่างก่อนเดลต้า เดลต้า และ Omicron
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” 31 มกราคม 2566
WHO จับตาใกล้ชิด 'โรคเอ็กซ์' กำลังระบาด
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังเฝ้าติดตามการระบาดของ "โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง
'นพ.ธีระ' ชี้โควิดระลอกใหม่ๆ เด็กโตติดมากกว่าเด็กเล็ก!
หมอธีระเผยผลวิจัยโควิดเด็กทั่วโลก ชี้อัตราติดเชื้อกระโดดสูงโดยเฉพาะในระลอกใหม่ เด็กโตติดมากกว่าเด็กเล็ก วัคซีน mRNA ฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปีให้ผลดี
WHOเปิดตัวเลขสังเวยโควิด 2 เดือนดับแล้ว 1.7 แสนรายทั่วโลก!
หมอธีระยกตัวเลขเสียชีวิตโควิดจาก WHO ชี้ 2 เดือนที่ผ่านมาสังเวยแล้ว 170,000 คน เฉลี่ย 10,000-30,000 รายถือว่ายังน่าวิตก พร้อมแนะแนวทางตรวจการติดเชื้อด้วยตนเองล่าสุด