ข่าวดี! ผลวิจัยชี้ยา Xocova ของญี่ปุ่นแก้โควิดและลดเสี่ยง Long COVID เยี่ยม

หมอธีระเผยยา Xocova ซึ่งญี่ปุ่นบุกเบิกใช้แก้โควิด ช่วยลดระยะเวลาป่วยได้ และมีความปลอดภัย รวมทั้งการนี้ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้ถึง 45%

22 ก.พ.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถงึสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 87,023 คน ตายเพิ่ม 318 คน รวมแล้วติดไป 678,893,364 คน เสียชีวิตรวม 6,792,383 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย และฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.35 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 79.55

...อัพเดตยาของญี่ปุ่น Ensitrelvir fumarate (S-217622) ดังที่ทราบข่าวกันมาตั้งแต่ปลายปีก่อนว่า ญี่ปุ่นได้อนุมัติให้ใช้ยา Xocova หรือ Ensitrelvir fumarate ในการรักษาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง โดยมีข้อมูลงานวิจัยที่สนับสนุนชัดเจนว่าช่วยลดระยะเวลาป่วยได้ และมีความปลอดภัย โดยมีผลข้างเคียง ได้แก่ อาจทำให้ระดับไขมัน HDL ลดลง และมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นได้ ทั้งนี้ ขนาดยาที่ใช้คือ 125 มิลลิกรัม วันละครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน (วันแรกกิน 375 มิลลิกรัม)

ล่าสุดในขณะนี้กำลังมีการประชุมโรคติดเชื้อระดับโลก CROI 2023 ที่ซีแอตเติ้ล สหรัฐอเมริกา มีข้อมูลสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกตื่นเต้นและจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยทางคลินิกแบบสุ่มและมีกลุ่มเปรียบเทียบ ที่ศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมใน 1,821 คน ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม พบว่าการให้ยานี้ขนาด 375 มิลลิกรัมในวันแรก (เม็ดละ 125 มิลลิกรัม 3 เม็ด) ต่อด้วย125 มิลลิกรัม อีก 4 วัน ภายใน 120 ชั่วโมง (5 วัน) หลังเกิดอาการป่วย จะช่วยให้ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสได้เร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ 96% ของกลุ่มที่ได้ยานี้จะตรวจไม่พบเชื้อ ณ วันที่ 4 (หลังได้รับยาไป 3 โดส)

นอกจากนี้ที่สำคัญคือ มีการติดตามกลุ่มผู้ป่วยต่อไป 3 เดือน และ 6 เดือน เพื่อประเมินอัตราการเกิดปัญหา Long COVID (ในงานวิจัยนี้กำหนดไว้ 14 อาการ) พบว่า การให้ยานี้ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้ถึง 45% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ยา (14.5% ในกลุ่มที่ได้ยา และ 26.3% ในกลุ่มที่ไม่ได้ยา) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ถือเป็นข่าวดีที่โลกเราจะมีอาวุธในการสู้กับโรคโควิด-19 ทั้งสำหรับการรักษาโควิด-19 และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทาง US NIH เองก็เพิ่งประกาศโครงการวิจัยยานี้เช่นกัน จะทำการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยประกาศมาเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง คงต้องติดตามอัพเดตข่าวสารกันต่อไป

...สถานการณ์การระบาดยังมีอยู่ต่อเนื่อง ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ ใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัว การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
อ้างอิง
1. CROI 2023, Seattle, USA.
2. Novel Coronavirus Infection (COVID-19) Drug Encitrervir Fumarate on Early Negative Conversion of Viral Titer and Reduction of Risk of Post-Covid-19 Symptoms (Long COVID) -Presented New Data at International Conference CROI 2023. Press release. Shionogi. 22 February 2023.
3. NIH trial to evaluate Shionogi antiviral in adults hospitalized with COVID-19. US NIH. 15 February 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ

ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science”  ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน 

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform