WHO ประเมิน XBB.1.5 ไม่ต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า

หมอธีระเผย WHO ออกรายงานประเมินความเสี่ยงโอมิครอนสายพันธุ์ XBB.1.5 แล้ว ชี้ความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า ย้ำยังต้องป้องกันตัวเองให้ตระหนักเรื่อง Long COVID ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

01 มี.ค.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิดประจำวันที่ 1 มีนาคม 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 70,428 คน ตายเพิ่ม 316 คน รวมแล้วติดไป 679,923,891 คน เสียชีวิตรวม 6,799,868 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน รัสเซีย และออสเตรีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.08 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.37

...ผลประเมินความเสี่ยงของ XBB.1.5
องค์การอนามัยโลกออกรายงานประเมินความเสี่ยงของ Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดังที่ทราบกันดีว่า XBB.1.5 นั้นเป็นสายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นจากการผสมกันของไวรัสในสายของ BA.2 จนถึงสัปดาห์ที่สามของกุมภาพันธ์ มีรายงานพบ XBB.1.5 ไปแล้ว 74 ประเทศทั่วโลก

ตอนช่วงที่เป็น XBB.1 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งพันธุกรรมที่ทำให้ไวรัสจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์ลดลงไป แต่พอมีการกลายพันธุ์เป็น XBB.1.5 พบว่าตำแหน่งพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงคือ 486P นั้นทำให้สมรรถนะในการจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายได้แน่นมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้สายพันธุ์ย่อยนี้มีการระบาดที่ขยายตัวได้รวดเร็วกว่าเดิม

ในขณะที่การหลบหลีกภูมิคุ้มกันนั้น ข้อมูลวิชาการชัดเจนว่า XBB.1.5 มีความดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอๆ กับ XBB.1 ซึ่งถือว่าสายพันธุ์นี้เป็นหนึ่งในไวรัสที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่สุดในบรรดาทุกสายพันธุ์ย่อยของ Omicron ที่มีมา การดื้อต่อภูมิคุ้มกันนี้ ทำให้แอนติบอดี้จากวัคซีนรุ่นเก่านั้นไม่เพียงพอที่จะจัดการไวรัสได้ แต่ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า การกระตุ้นด้วยวัคซีนรุ่นใหม่คือ Bivalent vaccine ที่มีการปรับให้สามารถกระตุ้นภูมิต่อ Omicron BA.5 ได้นั้นจะทำให้มีแอนติบอดี้ที่สูงกว่าวัคซีนรุ่นดั้งเดิมได้

ทั้งนี้ระดับแอนติบอดี้หลังฉีดเข็มกระตุ้น จะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป แต่เชื่อว่าระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ของร่างกาย (T-cells) จะยังคงทำงานต่อสู้กับไวรัสเมื่อเกิดการติดเชื้อ และช่วยลดเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงได้ ในแง่ของการป่วยรุนแรงจาก XBB.1.5 นั้น ข้อมูลที่มีอยู่ทำให้เชื่อว่ามีความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์ก่อนๆ และลักษณะตำแหน่งพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงของ XBB.1.5 นั้น คาดว่าไม่มีตำแหน่งใดที่จะส่งผลต่อเรื่องสมรรถนะการทำให้ป่วยรุนแรงมากขึ้น

โดยสรุปแล้ว ทางทีมองค์การอนามัยโลกคาดว่า XBB.1.5 จะยังคงทำให้เกิดการขยายตัวของการระบาดมากขึ้น อันเนื่องมาจากข้อมูลเกี่ยวกับสมรรถนะด้านต่างๆ ข้างต้น

...ดังนั้นจึงควรดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยงปรับปรุงเรื่องการระบายอากาศให้ดี ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ที่เรียน ที่กินดื่ม การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดเสี่ยงลงไปได้มาก ทั้งจากโควิด-19 และ PM2.5 ตอนนี้รอบตัวก็ยังคงมีคนที่ติดเชื้อ ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก มีอาการป่วย แม้ไม่รุนแรง แต่ขอให้ตระหนักถึงเรื่องผลกระทบระยะยาวอย่าง Long COVID ไว้ด้วยเสมอ ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

อ้างอิง : XBB.1.5 Updated Risk Assessment. 24 February 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

หมอกควันไฟป่าฝุ่น pm2.5 ภาคเหนือพุ่งปรี๊ด! เชียงใหม่ ครองที่ 1 โลกต่อเนื่อง

ปํญหาหมอกควันไฟป่าฝุ่น pm2.5 ภาคเหนือยังพุ่งสูงเป็นสถิติทุกวัน เชียงใหม่ AQI ครองที่ 1 โลกต่อเนื่อง PM2.5 เกินมาตรฐานทุกจุด

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

'หมอธีระวัฒน์' ของขึ้น เชี่ยมั้ย! ใครจะมาพูดอะไร แ-่ง ต้อง declare ผลประโยชน์ทับซ้อน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความ