ฟ้องแล้ว 'ทีมแอม' วางไซยาไนด์ฆ่าก่อนฉกทรัพย์

อัยการฟ้องแล้ว 'แอม ไซยาไนด์' คดีการตายของ 'ก้อย ศิริพร' โดนวางไซยาไนด์ในอาหารดับ ก่อนฉกทรัพย์ อื้อ 9 รายการกว่า 1.5 แสนไป ทั้งหมดปฏิเสธสู้คดี ศาลนัดตรวจหลักฐาน 2 ต.ค.นี้

19 ก.ค.2566 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือแอม ไซยาไนด์ อายุ 35 ปี นายหรือ พ.ต.ท. วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อายุ 39 ปี อดีตสามี และอดีตรอง ผกก.สภ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และ น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ หรือทนายพัช อายุ 35 ปี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น, ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ปลอมปนอาหาร ยาหรือเครื่องอุปโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้และการปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย, เพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด, เพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เสียหาย ทำลายซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า จำเลยทั้งสามได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมายต่างกรรมกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2566 เวลากลางวัน นางสรารัตน์จำเลยที่ 1มีเจตนาฆ่าโดย ไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ น.ส.ศิริพร หรือก้อย ขันวงษ์ อายุ 32"ปีด้วยการวางแผนใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต น.ส.ศิริพร โดยนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium Cyanide) อันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นสารพิษที่เมื่อบุคคลเสพรับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เลือดมีภาวะความเป็นกรดสูง เกิดภาวะขาดพลังงานและออกซิเจน ส่งผลให้สมองและหัวใจขาดพลังงานและออกซิเจน อันเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตของผู้เสพรับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย ทำการปลอมปนใส่ลงในอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภคบริโภค ชนิดใดและปริมาณเท่าใดไม่ปรากฏชัดให้น.ส.ศิริพร ดื่ม หรือรับประทาน หรือเสพรับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีใดไม่ปรากฏชัด แต่เป็นปริมาณที่มากพอที่ทำให้สารโพแทสเซียมไซยาไนด์ดังกล่าวเข้าสู่ร่าง กายน.ส.ศิริพร จนหมดสติและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้บังอาจชิงทรัพย์โดยใช้ลักเอาเงิน จำนวน 50,000 บาท, กระเป๋าถือ ยี่ห้อ Louis Vuitton สีน้ำตาล จำนวน 1 ใบ ราคา 30,000 บาท , กระเป๋าถือยี่ห้อ MAC สีดำ จำนวน 1 ใบ ราคา 300 บาท , กระเป๋าใส่บัตร ยี่ห้อ COACH สีน้ำเงิน จำนวน 1 ใบ ราคา 2,000 บาท , กระเป๋าสตางค์ ยี่ห้อ COACH สีน้ำตาลจำนวน 1ใบ ราคา 2,000 บาท , กระเป๋าสตางค์ ยี่ห้อ CHARLES & KEITH สีน้ำเงิน จำนวน 1 ใบ ราคา 1,000 บาท , สลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 18 ฉบับ ราคา 1,440 บาท , โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO รุ่น Reno 6 Pro 5 G จำนวน 1 เครื่อง ราคา 22,990บาท และโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ IPhone รุ่น 14 Pro Max จำนวน 1 เครื่อง ราคา 44,900บาทรวมทรัพย์ สิน9 รายการ มูลค่าทั้งสิ้น 154,630บาท ของน.ส.ศิริพร ผู้ตายไปโดยทุจริต เพื่อความสะดวกแก่การชิงทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น และเพื่อให้พ้นจากความผิด เหตุเกิดที่ ต.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ต.ปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี, และที่อื่นเกี่ยวพันกัน

คำฟ้องระบุอีกว่า ต่อมาวันที่ 19 เม.ย.2566 เวลากลางวันและเวลากลางคืนต่อเนื่องกัน ภายหลังเกิดเหตุตามฟ้องแล้ว พ.ต.ท.วิฑูรย์ จำเลยที่ 2 มีเจตนาเพื่อจะช่วยนางสรารัตน์ จำเลยที่ 1 มิให้ต้อง รับโทษหรือให้ได้รับโทษน้อยลงในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น, ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายฯ, โดยบังอาจช่วย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ เป็นทรัพย์สิน ของน.ส.ศิริพร ผู้ตายซึ่งเป็นทรัพย์บางส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้มาจากการกระทำความผิด และเป็นพยานหลักฐานในคดีการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับทรัพย์ดังกล่าวมาไว้ในความครอบครองแต่มิได้นำทรัพย์ดังกล่าวส่งมอบให้แก่ทายาทของน.ส.ศิริพร ผู้ตาย หรือเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญาคดีนี้ยึดไว้เป็นของกลางในคดี แต่กลับนำทรัพย์ดังกล่าวส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ได้ส่งทรัพย์ดังกล่าวไปให้แก่ผู้มีชื่อ เพื่อซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ตามที่จำเลยที่ 3 ได้ใช้ หรือยุยงส่งเสริมจำเลยที่ 2 เพื่อมิให้เจ้าพนักงานตำรวจติดตามหาทรัพย์ของน.ส.ศิริพร ผู้ตาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษตามกฎหมาย หรือให้ได้รับโทษน้อยลงอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

โดยเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 3 ได้บังอาจก่อให้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง โดยทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สิน 6 รายการ ของน.ส.ศิริพร ผู้ตาย อันเป็นพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วยการใช้ ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ให้พ.ต.ท.วิฑูรย์ จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานดังกล่าว โดยน.ส.ธันย์นิชา จำเลยที่ 3 ได้พูดยุยงบอกให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ได้รับทรัพย์ของน.ส.ศิริพร มาไว้ในความครอบครองว่า “ถ้าจะสู้ให้หลุด ก็ต้องไม่ปรากฏของกลาง” และ “มีคดีที่ศาลยกฟ้องเพราะไม่มีของกลางซึ่งคดีนี้ก็ควรทำให้ไม่มีของกลาง” โดยยกตัวอย่างคดีอาวุธปืนให้จำเลยที่ 2 ฟัง ซึ่งจำเลยที่ 2เข้าใจว่าทำยังไงก็ได้ให้กระเป๋าหายไป อันเป็นการใช้ หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อให้จำเลยที่ 2 ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ไม่ให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง โดยช่วยซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินของ น.ส ศิริพร อันเป็นพยานหลักฐานในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้จำเลยที่ 2 นำทรัพย์ดังกล่าวส่งมอบให้แก่ทายาทของน.ส.ศิริพร ผู้ตาย หรือ เจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญาคดีนี้ยึดไว้เป็นของกลางในคดี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 3 ได้ก่อให้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยการใช้ยุยงส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใดดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่จำเลยที่ 3 ก่อให้เกิดขึ้นดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ต่อมา วันที่ 22 เม.ย.2566 ภายหลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตรวจยึดขวดยาบรรจุ สารโพแทสเซียมไซยาไนด์(Potassium Cyanide) 1ขวด ที่จำเลยที่ 1 มีไว้และได้ใช้ปลอมปนเพื่อฆ่าและชิงทรัพย์น.ส.ศิริพร ไว้เป็นของกลางและต่อมาวันที่ 11 พ.ค. 2566 เจ้าพนักงานตรวจยึดทรัพย์สินของผู้ตายบางส่วนรวม 6 รายการ เป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กระทั่งพนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อหาคดีนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1ถูกจับและถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 2566 ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. 2566 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาคดีนี้แก่จำเลยที่ 2 และในวันที่ 26 พ.ค 2566 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาคดีนี้แก่จำเลยที่ 3

ชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการโจทก์ระบุด้วยว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 กระทำผิดซึ่งข้อหาที่มีอัตราโทษสูง โจทก์ขอคัดค้านการประกันตัวของจำเลยที่ 1 เนื่องจากเกรงว่าจำเลยที่ 1 จะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ศาลอาญา ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณา เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2084/2566 โดยศาลได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเร้นซ์ ไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนจำเลยที่ 2-3 เดินทางมาศาลตามที่พนักงานอัยการฟ้องส่งตัว โดยจำเลยทั้งสาม แถลงให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายวันที่ 2 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ต่อมา พ.ต.ท.วิฑูรย์ จำเลยที่ 2 และ น.ส.ธันย์นิชา จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้ทั้งสองมีประกันตัวไปโดยตีราคาประกันคนละ 100,000 บาท ขณะที่นางสรารัตน์ ไม่ยื่นขอประกันตัวแต่อย่างใด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งอัยการพิจารณา 14 คดี ’แอม ไซยาไนด์‘ ฆาตกรต่อเนื่องวางยาพิษสังหารเหยื่อ

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธํารงค์ผู้ช่วย ผบ.ตร. พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผบก.ป. นำทีมพนั