พิษราคาเหล็ก-น้ำมันแพงกระทบทางด่วน ‘กะทู้-ป่าตอง’ จ่อเพิ่มวงเงินก่อสร้างอีก 5%

กทพ. อัปเดททางด่วน ‘กะทู้-ป่าตอง’ วงเงิน 1.4 หมื่นล้าน จ่อปรับค่าก่อสร้างใหม่เพิ่ม 5% หลังโดนพิษราคาน้ำมัน-เหล็กแพง วางไทม์ไลน์เปิดประมูลปลายปี 65 ชง ครม.เคาะปลายปี 66 ตอกเสาเข็มปี 67 พร้อมเปิดใช้ ธ.ค. 70 คาดปีแรกรถยนต์-มอเตอร์ไซค์แห่ใช้ 7.1 หมื่นคัน

20 พ.ค.2565-นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และหนังสือการรักษาข้อมูลเป็นความลับและไม่มีส่วนได้เสีย โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ตว่า โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง มีระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 14,670.57 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน วงเงิน 5,792.24 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 8,878.33 ล้านบาท

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กทพ.เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณา พร้อมทั้งสรุปวงเงินค่าก่อสร้างใหม่ ที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จากราคาเดิม หลังจากได้รับผลกระทบจากราคาเหล็ก และ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยอ้างอิงจากโครงการก่อสร้างทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ก่อนจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนในช่วง มิ.ย.-ก.ค. 2565 หลังจากนั้นจะรวบรวมความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อนำเสนอคณะกรรมการมาตรา 36 เพื่อพิจารณาใน ก.ค. 2565

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ในช่วงปลายปี 2565 หลังจากนั้นเอกชนจัดทำและยื่นข้อเสนอภายในเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน หากรายละเอียดเยอะจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน โดยคาดว่าจะสามารถยื่นข้อเสนอแล้วเสร็จไม่เกินกลางปี 2566 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการพิจารณาข้อเสนอเจรจาต่อรอง จัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุน และหารือกับอัยการต่อไป คาดว่ารายละเอียดทั้งหมดจะแล้วเสร็จ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในปลายปี 2566 และลงนามสัญญากับเอกชน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2567 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายใน ธ.ค. 2570

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน รูปแบบ PPP Net Cost โดยมีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 20.44% และผลตอบแทนทางการเงิน (IRR) 8.5% ทั้งนี้ กทพ. อาจจะมาทบทวน IRR อีกครั้ง ภายหลังที่ราคาค่าก่อสร้างสูงขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนมาลงทุนในโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะเดินหน้าโครงการต่อไป โดยไม่ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ หลังจากโครงการดังกล่าว มีความล่าช้ามานาน หรือตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2553 และ ครม.อนุมัติ เมื่อ ม.ค. 2564

สำหรับโครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตองนั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางจากตัวเมืองภูเก็ต ผ่านอำเภอกะทู้ ไปยังหาดป่าตอง ซึ่งทางหลวงดังกล่าวมีขนาด 2 ช่องจราจร เขตทางแคบ เส้นทางมีความคดเคี้ยวและลาดชันสูง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และยังเกิดปัญหาการจราจรติดขัด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ตอีกด้วย

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณจราจรที่มาใช้บริการในปีแรกประมาณ 71,000 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 36,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 35,000 คัน ซึ่งโครงการดังกล่าว จะเป็นทางด่วนสายแรกของประเทศไทย ที่มีทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์สามารถใช้บริการได้ โดยมีการแยกช่องจราจรอย่างชัดเจน หรือแยกเลนจักรยานยนต์ซึ่งจะมีแบริเออร์กั้น

ในส่วนของแนวสายทางโครงการดังกล่าว จะเป็นทางยกระดับ มีอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทาง มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตา ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง ยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิดแล้ว จึงเป็นอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทาง 1.85 กม. หลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับระยะทาง 1.23 กม. จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางด่วนส่วนต่อขยาย กะทู้-ป่าตอง ช่วงสนามบินภูเก็ต-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 32 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการฯ พร้อมทั้งการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียด ซึ่งได้เริ่มออกแบบแล้ว มีความคืบหน้า 10% คาดว่า จะศึกษาแล้วเสร็จในกลางปี 2566 อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าไว้ว่า จะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการใน ธ.ค. 2570 ช่วงเวลาเดียวกันกับกะทู้-ป่าตอง

รายงานข่าวจาก กทพ. ระบุว่า โครงการดังกล่าว เป็นการร่วมทุนกับเอกชน ในลักษณะของ BTO โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขณะที่ภาคเอกชนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง รวมถึงค่าควบคุมงาน และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด ทั้งนี้ มีระยะเวลาร่วมลงทุนรวม 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง ระยะเวลาไม่มากกว่า 4 ปี และระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา ระยะเวลานับจากสิ้นสุดระยะเวลาสำหรับงานระยะที่ 1 โดยมีระยะเวลารวมทั้ง 2 ระยะ ไม่มากกว่า 35 ปี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทพ. เร่งด่วน 'พระราม 3-ดาวคะนอง' คืบ 75% เปิดใช้กลางปี 68

กทพ. อัปเดตสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง คืบหน้า 75% คาดเสร็จพร้อมเปิดให้บริการตลอดเส้นช่วงกลางปี 68 ลุยสำรวจความแข็งแรงสะพานพระราม 9 ก่อนประเมินซ่อมบำรุง หลังเปิดใช้งานกว่า 35 ปี คาดใช้งบประมาณ 1 พันล้าน จ่อเปิดประมูลด่วนจตุโชติ – ลำลูกกา 1.8 หมื่นล้านบาท เม.ย.นี้

การทางพิเศษฯ กางแผนลงทุนปี 67 จ่อประมูลทางด่วน 4 สายทาง 9.1 หมื่นล้าน

“กทพ." กางแผนภายใน 10 ปีขยายทางด่วนครบ 11 สาย ยาว 200 กม. ครอบคลุมกรุงเทพฯ-ภูมิภาค จ่อเปิดประมูลทางด่วน 4 สาย วงเงิน 9.1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 67

กทพ.เดินหน้าแก้รถติดแยกเกษตรฯ - ถนนงามวงศ์วาน

กทพ.เดินหน้าแก้รถแยกเกษตร -ถนนงามวงศ์วาน ย้ำโครงการทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ขุดอุโมงค์เหมาะสุด วงเงินก่อสร้างกว่า 3.6 หมื่นล้าน คาดศึกษาแล้วเสร็จปี67 ก่อนเสนอ ครม.ปี68 ลุ้นเปิดประมูลปี 69

กทพ.เปิดทางเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาที่พักริมทางมูลค่า 5.1 พันล้าน

กทพ.ซาวด์เสียงภาคเอกชน ผุดพัฒนาที่พักริมทาง 2 แห่ง รวม 140 ไร่ มูลค่า 5.1 พันล้าน เปิดทางดึงนักลงทุนไทย-ต่างชาติ ร่วมพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เล็งเสนอ ครม.กลางปี67 ตอกเสาเข็มต้นปี68

กทพ. ลุยชงครม.ใหม่เคาะทางด่วนภูเก็ตหวังเปิดใช้ปี 71 

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต

กทพ. เร่งสอบเหตุคานด่วนพระราม 3 หล่นล้อมคอกเพิ่มโทษหากประมาท

การทางพิเศษฯ สั่งเบรกงานผู้รับเหมา 7 วัน เหตุคานทางด่วนพระราม 3 หล่น ทับคนงานเสียชีวิต ล้อมคอกด้านความปลอดภัย เตรียมปรับปรุงสัญญาจ้างผู้รับเหมา เล็งเพิ่มโทษหากมีอุบัติเหตุปรับ 1 ล้านบาท