ระทึก! หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มระบายน้ำ หลายพื้นที่เมืองปทุมธานีน้ำท่วมขัง

29 ก.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ขยายวงกว้างมากขึ้น ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร โดยเฉพาะที่ชุมชนหน้าวัดบางหลวง ม.4 ต.บ้านฉาง อ.เมืองปทุมธานี พบว่าระดับน้ำยังขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางหลวงที่ล้นตลิ่งท่วม หลังเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการระบายน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้กระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาพื้นที่นอกคันกั้นอำเภอสามโคกและอำเภอเมืองปทุมธานีจังหวัดปทุมธานี และมีสัญญาณที่ระดับน้ำในอำเภอเมืองปทุมธานีจะสูงขึ้นอีก

โดยในชุมชนหน้าวัดบางหลวง ถนนทางเดินเข้าออกน้ำสูงกว่า 50 ซม.และท่วมเข้าบ้านทุกหลังคาเรือน การสัญจรไปมาต้องเดินลุยน้ำเข้าบ้าน ชาวบ้านเริ่มนำเรือ ออกมาใช้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝนตกจากพายุโนรู

และที่วัดน้ำวน ม.6 ต.บางเดื่อ อ.เมือง จ.ปทุมธานี น้ำได้เข้าท่วมสูงตั้งแต่ 40-60 ซม. กุฏิพระชั้นล่าง น้ำได้เข้าท่วมหมดแล้ว ทางวัดได้เก็บข้าวของขึ้นศาลาไว้ทั้งหมด

ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี เตือนประชาชนให้ ระมัดระวัง และให้ทุกอำเภอ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ฝนตกหนักหรืออาจเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกร ที่ประกอบอาชีพประมง เพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริษัทห้างร้าน ที่ประกอบกิจการ ในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น ร่วมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เตรียมความพร้อมยกสิ่งของขึ้นที่สูงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา วันนี้น้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณ 2,554 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 225 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน อ.เมืองชัยนาท สูงขึ้น 22 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 17.00 เมตร(รทก) ระดับน้ำท้ายเขื่อน อ.สรรพยา สูงขึ้น 56 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 15.33 เมตร(รทก)

ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 43/2565 เรื่องเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา โดยคาดการณ์ว่า จะมีน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ ในเกณฑ์ 2,500-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรัง และลำน้ำสาขา ไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,300-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 1-7 ตุลาคม 2565 โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 30-60 เซนติเมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท / อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี / อ.ป่าโมก อ.ไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง / คลองบางบาล อ.เสนา อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา /จ.ปทุมธานี / จ.นนทบุรี / กรุงเทพมหานคร /และจังหวัดสมุทรปราการ จึงขอให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บุรีรัมย์พายุถล่มยับรอบ 30 ปี โรงเรียน–พระพุทธรูปล้มพังทั้งแถบ

บุรีรัมย์ ระทึก พายุถล่ม ร.ร.หนักสุดรอบ 30 ปี อาคารเรียน บ้านพักครู โรงอาหารพังยับ สะเทือนใจ พระพุทธรูปถูกพัดคอขาด เร่งสำรวจความเสียหายป้องกันความเสี่ยงให้ครู – นักเรียน

เร่งเดินหน้ารับมือภัยแล้ง หลังพบ 4 แห่ง ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยขณะนี้ มีปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ 46,027 ล้านลูกบาศก์

กรมอุตุฯ ออกประกาศ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ‘พายุฤดูร้อน’ ช่วง 8-11 เม.ย.

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 2 เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 8 – 11 เมษายน 2567)