เป็นพรรคการเมืองที่น่าจะคึกคักที่สุดในช่วงนี้ สำหรับพรรคเพื่อไทย หลังยกพลไป จ.อุดรธานี เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ลูกสาวคนสุดท้องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น ‘หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย’
แม้จะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า ‘อุ๊งอิ๊ง’ จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แต่การสถาปนาให้เป็นถึงหัวหน้าครอบครัวของพรรค ที่มีศักดินาเหนือกว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค มันชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้ว
"หลายคนรู้ว่า เป็นรอง แต่ยังเลือกที่ลงสมัคร ส่วนหนึ่งเพราะต้องการเช็กกระแสพรรคโดยใช้สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เป็นปฐมบท ความพ่ายแพ้ไม่ได้เสียหายสำหรับบางคน แต่จะทำให้รู้ว่า สถานะตัวเองทางการเมืองตอนนี้อยู่ตรงไหน"
ขณะที่ลูกพรรคเพื่อไทย เรียงหน้ากันออกมาแสดงความมั่นใจว่า การได้ทายาทตระกูลชินวัตรถือธงนำ จะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้า เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘แลนด์สไลด์’ อีกครั้ง
ส.ส.อีสานของพรรคอย่าง ‘เสี่ยกุ่ย’ ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานีหลายสมัย ถึงขั้นออกมาแสดงความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะกวาด ส.ส.ถึงกว่า 200 เสียง
“เท่าที่ผมประเมิน คาดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 250 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีก 30 คน รวมทั้งสิ้น 280 คน”
แต่อย่างไรก็ดี การเปิดตัวคนในตระกูลชินวัตร ไม่อาจหลีกเลี่ยงความเป็นสายล่อฟ้าทางการเมืองได้ จะเห็นว่า ทันทีที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ บรรดาคนในขั้วตรงกันข้ามต่างออกมาทำนายชะตาชีวิตของเธอว่า อาจจะลงเอยเหมือนกับนายทักษิณ ผู้เป็นพ่อ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นอา
ที่ต้องลงเอยทางการเมืองด้วยการหนีออกจากประเทศไปเร่ร่อนอยู่ต่างแดน
อย่างเช่นรอบข้าง ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม อย่าง ‘แรมโบ้อีสาน’ เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และผู้ก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่รีบออกมาขู่
“มีคนมากมายฝากมาบอกด้วยความห่วงใยและสงสารน้องอุ๊งอิ๊ง กลัวโดนชะตากรรมวิบากกรรมเหมือนคุณพ่อและคุณอาเป็นที่สุด”
แน่นอนว่า ไม่แปลกที่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ จะเจอฝ่ายตรงข้ามรับน้องด้วยมุกนี้ เพราะสมัย ‘ยิ่งลักษณ์’ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ก็เคยมีคำเตือนในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
แต่นั่นมันเป็นเรื่องที่ยังไกลไป และการก้าวเข้าไปสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีในยุคนี้ ไม่ง่ายเหมือนสมัยพ่อและอา กติกาและแวดล้อมทางการเมืองมีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะ
อย่าเพิ่งข้ามช็อตไปถึงว่า จะลงเอยแบบพ่อกับอาหรือไม่ แต่เส้นทางที่จะไปถึงนายกรัฐมนตรีนั้น มีด่านและค่ายกลที่ต้องฝ่าอีกเพียบ
โดยเฉพาะเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 159 ที่ระบุว่า “มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”
ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สมาชิกรัฐสภามี 750 คน ประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้คะแนน 376 เสียง
พรรคเพื่อไทยจะรวบรวมเสียงให้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ได้ถึงหรือไม่ หากไม่มี ส.ว.ลงมติให้เลย
โอกาสที่ ส.ว.ชุดนี้ที่ยังมีอายุการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ถึงรัฐบาลหน้าแน่ มีน้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อเป็น ‘แบรนด์ชินวัตร’
ส.ว.ชุดนี้หลายคนล้วนแต่เป็นขั้วตรงข้ามระบอบทักษิณมาก่อน เป็นเส้นขนานกับตระกูลชินวัตร เสมือนงูเห่ากับพังพอน จะให้ยกมือโหวตให้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ เป็นนายกรัฐมนตรีแทบเป็นไปไม่ได้
แล้วอย่าลืมว่า ส.ว.ชุดนี้ถูกร่อนตะแกรงเข้ามาก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้ง ภารกิจหลักๆ พูดกันตรงๆ คือ มาสกัดกั้นการกลับมาของ ‘ระบอบทักษิณ’
เป็นโจทย์หินที่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ จะฝ่าไป
ต่อให้ในการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยเกิดทำแลนด์สไลด์ได้ แต่ก็มีโอกาสจะไปเจอ ‘เดดล็อก’ ตรงนี้เหมือนกัน ได้เสียงข้างมาก ส.ส. แต่ไม่พอดันทายาทตระกูลชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี
แล้วก่อนจะถึงตรงนั้น ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะฝันถึงการแลนด์สไลด์ ก่อนอื่นต้องให้กฎหมายลูก 2 ฉบับ นั่นคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ผ่านวาระ 3 ของสภา เพื่อนำไปสู่การมีผลบังคับใช้ให้ได้ก่อน เพราะถึงตรงนี้ไม่มีใครกล้าออกมาแสดงมั่นใจแบบ 100% แล้วว่า จะผ่านไปได้
เพราะยิ่งเข้าใกล้เดือนพฤษภาคมที่จะเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ ข่าวคราวขบวนการ ‘เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า’ จ้องคว่ำกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่งกลับเริ่มหนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ
ในทางเปิดเผยไม่มีใครออกมาพูดว่า จะทำเช่นนั้น แต่ในทางลับมีหลายพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน อยากจะให้เกิดอุบัติเหตุแบบนั้นจริงๆ เพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว
มีรายงานข่าวว่า ฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์บางส่วน ตลอดจนพรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก แสดงความประสงค์จะกลับไปใช้บัตรใบเดียว และมั่นใจว่าจะได้รับเสียงหนุนจากฝ่ายค้านเพื่อให้ถูกต้องตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะจากพรรคก้าวไกล
ที่สำคัญ มีบิ๊กรัฐบาลเซลไอเดียนี้ต่อหน้า ‘บิ๊กตู่’ แล้ว โดยให้เริ่มจากการคว่ำกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง จากนั้นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้บัตรใบเดียว
ขณะที่ผู้นำไม่ได้บอกปัด และยังแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ ขอดูสถานการณ์ก่อน
แต่เงื่อนไขที่จะกลับบัตรใบเดียวได้ อยู่ที่พี่น้อง 2 ป. คือ ‘บิ๊กตู่’ กับ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะต้องกลับไปอยู่ในจุดกลมเกลียว ถึงจะเลี้ยวกลับไปถึงจุดนั้นได้
วิธีนี้แม้จะน่าเกลียด เพราะ ส.ส.โหวตผ่านรัฐธรรมนูญกันมา แต่สำหรับการเมืองไทยในวงศ์วาน 3 ป. ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ การสับขาหลอกทำในเรื่องที่เหนือความคาดหมายเกินมานับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นต้นมา เพื่อรักษาและต่อท่ออำนาจ
ยิ่งพรรคเพื่อไทยหงายไพ่เร็ว เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ ตั้งแต่ไก่โห่ ก็ยิ่งทำให้รู้ว่า จะต้องวางแผนสกัดดาวรุ่งอย่างไร
และก่อนจะไปถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่ ฝ่ายอำนาจยังได้มีเวลาชิมลาง ประเมินสถานการณ์กับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สนามนี้พอจะทำให้เห็นอะไรรางๆ เกี่ยวกับแนวโน้มการเลือกตั้ง ส.ส.
สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หนนี้ แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแข่งขันกันของสองขั้วการเมืองระหว่าง ‘เหลือง’ กับ ‘แดง’ ไม่พิศวาสตัวผู้สมัคร แต่ต้องเลือกเพราะเกลียดอีกฝั่ง
ขณะที่ครั้งนี้ แม้จะยังมีขั้วอย่างที่เปรียบกันว่า เป็นฝ่ายเผด็จการกับประชาธิปไตยนั้น แต่ในแต่ละฝ่ายก็มีความขัดแย้งกันเอง โดย ณ เวลานี้ บิ๊กเนมเปิดหน้ากันออกมาครบ
ซีกรัฐบาล ประกอบด้วย ‘ดร.เอ้’ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ลงสมัครในนามอิสระ โดยมีองคาพยพของพรรคพลังประชารัฐช่วยอยู่
3 คนนี้ มีกลุ่มฐานเสียงที่ใกล้เคียงกัน คือ ฝ่ายที่ไม่เอาระบอบทักษิณและไม่ชอบกลุ่มบุคคลที่จาบจ้วงสถาบัน โดยจะต้องแย่งคะแนนกันเอง
ส่วนซีกฝ่ายค้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม แม้จะลงในนามอิสระ แต่สังคมทราบว่า มีพรรคเพื่อไทยคอยซัพพอร์ตอยู่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนาพรรคไทยสร้างไทย
3 คนนี้ต้องตัดคะแนนกันเองเช่นกัน โดยมีฐานเสียงมาจากฝ่ายที่ไม่เอาเผด็จการ ไม่ชอบรัฐบาล และเสียงของคนรุ่นใหม่
การเลือกตั้งรอบนี้ทั้งสองฟากแชร์คะแนนกันสนุก โอกาสที่จะมีใครสักคนแตะถึงล้านเสียงน่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย
หลายคนรู้ว่า เป็นรอง แต่ยังเลือกที่ลงสมัคร ส่วนหนึ่งเพราะต้องการเช็กกระแสพรรคโดยใช้สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นปฐมบท
ความพ่ายแพ้ไม่ได้เสียหายสำหรับบางคน แต่จะทำให้รู้ว่า สถานะตัวเองทางการเมืองตอนนี้อยู่ตรงไหน
ถึงแพ้ แต่แพ้กี่คะแนน แพ้ให้ใคร และตัวเองได้คะแนนเท่าไหร่ นอกจากนี้ เมื่อเอาคะแนนของผู้สมัครจากซีกฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมารวมกัน แต่ละฝ่ายได้เท่าไหร่
มันพอจะบอกความรู้สึกของคนกรุงที่มีต่อการเมืองภาพใหญ่ได้เหมือนกัน
ทั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ เองที่จะได้รู้ว่า แบรนด์ชินวัตรในเมืองหลวงเป็นอย่างไร กระแสตอบรับดีหรือไม่ เพราะพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ถึง 50 เขต
ผลเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้แต่ละฝ่ายเอาไปวางยุทธศาสตร์ปิดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่ ‘บิ๊กตู่’ พูดกลางห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ต้องอยู่กันอีกปีกว่า
มีเวลาให้แก้เกมกันอีกพอสมควร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับ“ไทย”ชน“เมียนมา” เด้งเชือกรับมือเกมมหาอำนาจ
หลังจากที่กองกำลัง “ว้าแดง” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข่าวลือความตึงเครียดระหว่างทหารไทยกับว้าแดงบริเวณชายแดน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้ “ข่าวลือ” ดังกล่าวเริ่มเบาเสียงลง
ACT เปิด '10 ทุจริต อบจ.' เสียหาย 377 ล้าน เฉพาะอุบลฯ โกงถึง 42 คดี
ACT เปิดข้อมูล '10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง' อบจ. ตั้งคำถาม 'ป.ป.ช.' ทำไมคดีน้อยแค่หลักสิบ สวนความเชื่อประชาชน งบท้องถิ่นโกงกันอื้อ
พท.ยึดอำนาจกองทัพ สกัดลากรถถังตรึงทำเนียบฯ
เรียกเสียงครางฮือไปทั่วแวดวงทหารและแวดวงการเมือง กับการขยับของ สส.เพื่อไทย ที่เข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เข้าสภาฯ ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ของสภาฯ
เพื่อไทยแจกเงินรัฐถังแตก? แผนสะดุดอดปล้นแวต15%
แม้รัฐบาลเพื่อไทยจะมั่นอกมั่นใจว่าจะอยู่ครบวาระหลังมีภูมิคุ้มกันด้วยพลังแฝง จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องคดี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำรัฐบาล
'ดร.บุญส่ง-นพ.ระวี' ส่องจุดจบ! ระบอบทักษิณ ภาค 2 | อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 07 ธันวาคม 2567
'ป่วยทิพย์' ชั้น 14 ในมือป.ป.ช. อีก 1 คดีจุดเปลี่ยนการเมือง
ไม่กี่วันก่อน นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนที่มี นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน