ฝ่ายค้านเร่งโหม 4 ปมร้อนเปิดสภา นับถอยหลังรัฐบาล

เหลืออีกแค่ 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ก็จะเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรกันแล้ว ตั้งแต่ 23 พ.ค.นี้เรื่อยไปร่วมสี่เดือน  ซึ่งหลังสภาเปิดการเมืองก็จะกลับมาร้อนแรงมากขึ้นกว่าปัจจุบันแน่นอน เพราะหลายเรื่องสำคัญรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี  2566 การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบ รธน. 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับกติกาเลือกตั้งบัตรสองใบ

แต่ที่เป็นไฮไลต์สำคัญของการเมืองในสภาที่หลายฝ่ายจับตามอง ก็คือ

"ศึกซักฟอก-อภิปรายไม่ไว้วางใจ"

ซึ่งปกติศึกซักฟอกทุกครั้ง ก็จะเป็นฉากการเมืองที่หลายฝ่ายให้ความสนใจอยู่แล้ว ทั้งเรื่องข้อมูลการอภิปรายของฝ่ายค้าน การเตรียมตัวรับมือของฝ่ายรัฐบาล การลงมติออกเสียงไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจของ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงผลทางการเมืองที่จะตามมาหลังจบศึกซักฟอก เช่นการปรับ ครม. เป็นต้น

ทว่า ศึกซักฟอกรอบนี้หลายฝ่ายดูจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เหตุเพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อช่วงกันยายนปีที่แล้ว ที่เกิดกรณีความพยายาม ล้มประยุทธ์ กลางสภา เพื่อเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี โดยมีแกนนำอดีตพลังประชารัฐอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และกลุ่ม ส.ส.พรรคเล็กจับมือกันเคลื่อนไหว แต่สุดท้ายทำไม่สำเร็จ งานไม่เข้าเป้า จน ร.อ.ธรรมนัสโดนปลดจากรัฐมนตรี และต่อมาก็ออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย โดยมี ส.ส.ในมือ16 คน อีกทั้ง ร.อ.ธรรมนัสช่วงที่ผ่านมาพยายามเล่นบทดีลเมกเกอร์  เป็นโต้โผจะเข้าไปคุมเสียงพรรคเล็ก เพื่อรวมเสียงสร้างเพาเวอร์ให้ตัวเองในศึกซักฟอกที่จะมีขึ้น ทำนองมี ส.ส.ในมือไม่ต่ำกว่า 30 เสียง ที่สั่งได้ว่าจะให้ลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกคนไหน โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ที่มีแค้นฝังลึกกันอยู่

มันก็เลยทำให้ศึกซักฟอกที่จะมีขึ้น ยิ่งถูกเพ่งเล็งให้ความสนใจเป็นพิเศษมากขึ้นอีกหลายเท่า ว่าหากมีการต่อรองทางการเมืองเกิดขึ้นในสภาหนักๆ จะทำให้พลเอกประยุทธ์ อาจไม่รอดในศึกซักฟอกหรือไม่ ถ้าพลเอกประยุทธ์ ไม่ยอมให้ ส.ส.มาต่อรองง่ายๆ ขณะที่คนในพลังประชารัฐ อย่างบิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พยายามยืนกรานว่าทุกอย่างคอนโทรลได้ เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ไม่มีปัญหา  อย่างไรเสียรัฐบาลฝ่าด่านศึกซักฟอกไปได้แน่นอน

ขณะที่เมื่อมองไปที่ฝ่ายค้านก็พบว่ากำลังคึก เพราะมั่นใจว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในช่วงกลางปีนี้  ทั้งผลจากศึกซักฟอกหรือไม่ก็คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีวาระการเป็นนายกฯ แปดปี แต่ระหว่างนี้ที่สภาฯ ใกล้เปิด ก็พบว่าฝ่ายค้านเริ่มอุ่นเครื่อง เตรียมเข้าสู่โหมดสภาเปิดเพื่อลุยกับรัฐบาลอย่างเต็มเหนี่ยว

อย่างเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านที่ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคเสรีรวมไทย,  พรรคประชาชาติ, พรรคเพื่อชาติ, พรรคพลังปวงชนไทย ไปจัดงานกระชับความสัมพันธ์พรรคร่วมฝ่ายค้านกันที่นครราชสีมา และมีการออกแถลงการณ์เรื่องการทำหน้าที่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในสมัยประชุมที่จะเริ่มขึ้น โดยซัดรัฐบาลเต็มๆ

เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย-ผู้นำฝ่ายค้าน ระบุไว้ในเวทีดังกล่าวตอนหนึ่งว่า ...พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมีมติร่วมกันขีดเส้นตายให้รัฐบาลที่หมดสิ้นสภาพนี้ นับตั้งแต่การเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ 22 พฤษภาคม  2565 เป็นต้นไป ในการดำเนินการของพรรคร่วมฝ่ายค้านใน 4 วาระสำคัญ ได้แก่ 1.การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 2.การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในเดือนมิถุนายน 2565

3.การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 151

4.การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมกันแล้วไม่เกิน  8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนสิงหาคม  2565

 “พรรคร่วมฝ่ายค้านขอประกาศว่า วันนี้เรารวมพลังเพื่อยุติรัฐบาลที่สิ้นสภาพ โดยการขีดเส้นตายการทำงานของรัฐบาลนี้ ทำหน้าที่ได้ไม่เกินเดือนสิงหาคมที่จะถึง" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุ

 เช่นเดียวกับ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย บอกไว้ในงานดังกล่าวของฝ่ายค้านตอนหนึ่งเช่นกันว่า ...รัฐบาลจะเจอระเบิดเวลาสี่ลูก คือ 1.การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 หากงบไม่ผ่าน สภาต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภา 2.ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ  พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อผ่านจะมีแรงกดดันให้ยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ 3.ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ  ตามมาตรา 151 อภิปรายครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย และ 4.รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯ อยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ครบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคมนี้

"เป็นปมที่เรือแป๊ะจะไปยาก ตามระเบิดเวลา 4 ลูก แถมเรือแป๊ะยังมีรอยรั่ว 4 รู เพราะพรรคเศรษฐกิจไทยยังไม่รู้จะอยู่ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แม้แต่พรรคเล็กพรรคน้อย พรรคเศรษฐกิจไทยมี 18 เสียง พรรคเล็ก 12 เสียงเป็นสวิงโหวต ถ้าไม่โหวตให้ เชื่อว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไปไม่รอด เสียงมันปริ่มน้ำ

ฝ่ายค้าน 208 เสียง ฝ่ายรัฐบาลไม่เกิน 240 เสียง  สวิงโหวตตรงกลาง ที่ผมพูดคือมีพรรคเล็กและพรรคเศรษฐกิจไทย สองกลุ่มนี้รวมกัน 30 กว่าเสียงรวมฝ่ายไหนเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เรือแป๊ะไปไม่รอด” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์ไว้ระหว่างงานพบปะพรรคฝ่ายค้านเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นการเริ่มอุ่นเครื่องการเมืองของฝ่ายค้านก่อนสภาเปิด ซึ่งขนาดแค่อุ่นเครื่องยังร้อนขนาดนี้ แบบนี้ไม่ต้องสงสัยหากเปิดสภาเมื่อไหร่ ด้วยอุณหภูมิร้อนๆ ทางการเมือง ต่อให้แอร์ในห้องประชุมรัฐสภาก็ยังเอาไม่อยู่!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...