เหลืออีกเพียง 3 วันสุดท้าย ก่อนเข้าคูหากาเลือก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าฯ กทม. ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเอาไว้ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ในรอบ 9 ปี
จับกระแสช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ที่มีการเสนอแคมเปญ “โหวตเชิงยุทธศาสตร์” หรือ “เลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์” นั้น
จนถึง ณ ตอนนี้ ดูเหมือนว่ากระแสดังกล่าวจะไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร
ถึงขนาด “ดร.เสรี วงษ์มณฑา” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ออกมาโพสต์แสดงความรู้สึก
“ถึงวันนี้ มั่นใจว่าคงต้องแพ้แน่ๆ ไม่ผิดคาด แม้จะเสียใจที่แพ้ แต่ก็ไม่เสียใจเท่ากับการเห็นสลิ่มด่ากัน แบบไม่ให้เกียรติการตัดสินใจของกันและกัน แม้คนเคยร่วมอุดมการณ์ก็ยังประณามกัน ไม่ชอบบรรยากาศแบบนี้เลยค่ะ"
ก่อนนั้น ดร.เสรี ก็โพสต์อีกข้อความ...
“อีก 6 วัน สิ่งที่กังวลจะเกิดขึ้นเป็นความจริงเชิงประจักษ์ ถึงเวลานั้น ไม่ต้องต่อว่าใคร เพราะสลิ่มไม่อาจตกลงกันได้ ลองหยั่งเสียงดู คำตอบที่ได้ เห็นชัดว่าเสียงแตก”
ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้อย่างชัดเจน
เช่นเดียวกับ กนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรรายการข่าวชื่อดัง ช่อง TOPNEWS ก็ได้โพสต์ข้อความเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งเชิญชวนให้เปิดชมช่องท็อปนิวส์ในวันอาทิตย์นี้ จะเกาะติดนาทีต่อนาที จนรู้ผลวิเคราะห์ให้เสร็จสรรพ ที่สำคัญช่วงท้าย กนก ได้ทิ้งคำที่น่าสนใจ ที่น่าบ่งบอกถึงสถานการณ์ ณ ตอนนี้เอาไว้
“ด้วยหวังใจว่า จะมีปาฏิหาริย์ กระแสตีกลับ ฉีกหน้าสารพัดโพลในที่สุด”
ยิ่ง เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นี่ ไม่มีเม้ม ไม่มีกั๊ก ฟันธงฉับ เอากันแบบชัดๆ
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ชูแคมเปญ ไม่เลือกเราเขามาแน่ มุกแป้ก!!!
“...มีการเสนอแนวทางให้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครอย่างมียุทธศาสตร์ นั่นหมายความว่า จากการเมืองที่มี 2 ขั้ว ให้แต่ละขั้วเลือกคนที่มีโอกาสได้มากที่สุดขั้วละคน โดยการเทคะแนนให้ผู้สมัครที่มีโอกาสมากได้รับเลือกมากที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ยากจากฐานคะแนนเสียงของคนใน กทม.สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ขั้วการเมืองใหญ่ๆ ที่เชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งสุดท้าย ก็มีการแบ่งฐานคะแนนเสียงอย่างชัดเจน คือกลุ่มที่เอาทักษิณกับกลุ่มที่ไม่เอาทักษิณ เห็นได้จากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 3 มีนาคม 2556 ที่กลุ่มไม่เอาทักษิณ เทคะแนนเสียงให้กับหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ 1,256,349 คะแนน จนเบียดชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย 1,077,899 คะแนน ที่ได้รับคะแนนสนับสนุนจากกลุ่มที่นิยมทักษิณในโค้งสุดท้ายไปได้
ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ฐานเสียงของกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณมีผู้สมัครอยู่ 2 คน คือ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8 และคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1 ส่วนฐานเสียงกลุ่มที่ไม่เอาทักษิณ ก็มีผู้สมัครอยู่ 4 คน คือ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 4 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6 คุณสกล ภัททิยกุล เบอร์ 3 คุณรสนา โตสิตระกูล เบอร์ 7 ซึ่งกลุ่มนี้มีฐานเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร และกลุ่ม กปปส.
ดังนั้นการเสนอแคมเปญให้เลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์นั้น น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะผู้สมัครแต่ละคนก็มีฐานเสียง แฟนคลับ หรือกลุ่มผู้สนับสนุนค่อนข้างชัดเจน ซึ่งไม่สามารถทำใจไปเทคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ตามแนวทางการลงคะแนนอย่างมียุทธศาสตร์ตามที่ได้ขายความคิดในช่วงนี้ได้ เพราะผู้ลงคะแนนจะเกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง กลัวผู้สมัครที่กลุ่มตนสนับสนุนจะได้คะแนนน้อยเกินไป จะเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองได้
ส่วนตัวเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะใช้ยุทธศาสตร์แบบ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ไม่น่าจะสำเร็จ เชื่อว่าคะแนนของผู้สมัครแต่ละคน จะแชร์กันเองในกลุ่มฐานคะแนนของแต่ละขั้ว อยู่ที่ใครจะมีฝีมือดึงคะแนนเสียงในขั้วตัวเองได้มากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ ผู้สมัครคนนั้นก็จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ ซึ่งสามารถฟันธงได้ว่า ขั้วเอาทักษิณจะได้เปรียบขั้วไม่เอาทักษิณ เพราะมีตัวแชร์คะแนนน้อยกว่า”
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้วิเคราะห์การ vote เชิงยุทธศาสตร์ 10 ข้อ โดยสรุปนั้น ดร.พิชัย ชี้ชัดในปัจจุบันความคิดทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ มีความหลากหลายมากขึ้น และประชาชนจำนวนไม่น้อยของกรุงเทพฯ แยกการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ออกจากการเมืองระดับชาติ
“ดังนั้นในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จึงมีการพิจารณาคุณสมบัติและนโยบายของตัวผู้สมัครมากกว่าความเชื่อแบบขั้วการเมืองที่ยังดำรงอยู่ในระดับชาติ”
ถ้าจับกระแสศึกชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯ กทม.” ครั้งนี้ ดูเหมือนโอกาสของตัวเต็งยืนหนึ่งมาทุกโพลจะมีเปอร์เซ็นต์สูงจะคว้าชัยไปได้ กระนั้นเลยก็หาใช่จะปิดประตูสำหรับผู้สมัครรายอื่นจะเบียดแซงโค้งสุดท้าย เพราะหากดูจากผลสำรวจล่าสุดของซูเปอร์โพล เรื่องการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบว่า มีอีก 35.9% ยังไม่ตัดสินใจรอใกล้วันเลือกตั้ง, 27.3% ยังไม่ตัดสินใจ กำลังหาข้อมูล, 25.4% ตัดสินใจแล้ว แต่เปลี่ยนใจได้ และ 11.4% ตัดสินใจแล้ว ไม่เปลี่ยนใจอีก
หาก 3 วันสุดท้ายก่อนเข้าคูหากาหมายเลข ใครมีทีเด็ดมัดใจคนกรุงออกมาแบบโป้งเดียวจอด ตัวเต็งอาจกลายเป็นตัวเกร็ง
ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นได้ใครจะรู้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายที่“อิ๊งค์”ไม่กล้าพูด เรื่องสำคัญกว่าผลงาน90วัน
บรรดากองเชียร์รัฐบาลเพื่อไทยอาจจะชื่นชม หลัง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เล่นใหญ่ เปิดสตูดิโอ 4 ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ยืนเดี่ยวไมโครโฟน
แถลงผลงาน3เดือน‘รัฐบาลอิ๊งค์’ โชว์อนาคตประเทศ รอดหรือร่วง?
ได้เวลาตีปี๊บผลงานรัฐบาล 90 วันของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันนี้ 12 ธันวาคม 2567 ในหัวข้อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” (2025 Empowering Thais : A Real Possibility) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) พร้อมถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชม
ดร.เสรี ลั่นรังเกียจ วาทกรรมแซะสถาบัน
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊กว่า เกิดวาทกรรมใหม่ "ใบอนุญาตที่ 2"
กม.สกัดรัฐประหาร‘ส่อแท้ง’ พรรคร่วมไม่อิน-ไม่เอา
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ฉบับ ‘หัวเขียง’ ที่นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเสนอ ส่อแวว ‘แท้ง’ ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น
จับ“ไทย”ชน“เมียนมา” เด้งเชือกรับมือเกมมหาอำนาจ
หลังจากที่กองกำลัง “ว้าแดง” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข่าวลือความตึงเครียดระหว่างทหารไทยกับว้าแดงบริเวณชายแดน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้ “ข่าวลือ” ดังกล่าวเริ่มเบาเสียงลง
พท.ยึดอำนาจกองทัพ สกัดลากรถถังตรึงทำเนียบฯ
เรียกเสียงครางฮือไปทั่วแวดวงทหารและแวดวงการเมือง กับการขยับของ สส.เพื่อไทย ที่เข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เข้าสภาฯ ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ของสภาฯ