ทางแยกสำคัญ สถานการณ์โควิด หลังเปิดประเทศ 1 พ.ย.

เริ่มต้นแล้วตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 พ.ย.นี้ กับการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยว-นักเดินทางต่างชาติ สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัวภายในเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้

โดยข้อมูลอย่างเป็นทางการตามประกาศของศูนย์ปฏิบัติการมาตรการการเดินทางเข้า-ออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ศปก.กต.) ที่อนุมัติประเทศและพื้นที่ที่อนุญาตให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข และการเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ออกมาเมื่อ 23 ตุลาคม

ประกอบด้วย 1.ออสเตรเลีย 2.ออสเตรีย 3.บาห์เรน 4.เบลเยียม 5.ภูฏาน 6.บรูไนดารุสซาลาม 7.บัลแกเรีย 8.กัมพูชา 9.แคนาดา 10.ชิลี 11.จีน 12.ไซปรัส 13.สาธารณรัฐเช็ก 14.เดนมาร์ก 15.เอสโตเนีย 16.ฟินแลนด์ 17.ฝรั่งเศส 18.เยอรมนี 19.กรีซ 20.ฮังการี 21.ไอซ์แลนด์ 22.ไอร์แลนด์ 23.อิสราเอล 24.อิตาลี 25.ญี่ปุ่น 26.ลัตเวีย 27.ลิทัวเนีย 28.มาเลเซีย 29.มอลตา 30.เนเธอร์แลนด์

31.นิวซีแลนด์ 32.นอร์เวย์ 33.โปแลนด์ 34.โปรตุเกส 35.กาตาร์ 36.ซาอุดีอาระเบีย 37.สิงคโปร์ 38.สโลวีเนีย 39.สาธารณรัฐเกาหลี 40.สเปน 41.สวีเดน 42.สวิตเซอร์แลนด์ 43.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 44.สหราชอาณาจักร 45.สหรัฐอเมริกา 46.ฮ่องกง

ภายใต้เงื่อนไข เช่น ชาวต่างชาติ-นักท่องเที่ยวจากประเทศข้างต้นที่จะเข้ามาต้องฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยมีเอกสาร-หลักฐานรับรองการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทางมาประเทศไทย และต้องมีผลตรวจโควิด-19 ก่อนออกเดินทาง พร้อมใบรับรองปลอดโควิดที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง

การเปิดประเทศที่เริ่มตั้งแต่จันทร์ที่ 1 พ.ย. พบว่าหลายหน่วยงานมีการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศไว้อย่างดี

อย่างเมื่อวันศุกร์ที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา “นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท." ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมและตรวจความพร้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมย้ำว่า ท่าอากาศยานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ มีความพร้อมที่จะให้บริการรองรับการเปิดประเทศแล้ว โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งวันที่ 1 พ.ย.มีสายการบินแจ้งทำการบินเที่ยวบินพาณิชย์มาประมาณ 440 เที่ยวบิน แบ่งเป็น เที่ยวบินภายในประเทศ 230 เที่ยวบิน เที่ยวบินระหว่างประเทศ 110 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขนส่งสินค้า 100 เที่ยวบิน

“คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 3 หมื่นคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารภายในประเทศ 2.3 หมื่นคน และระหว่างประเทศ 7 พันคน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทอท.ระบุ

นอกจากนี้ กก.ผจก.ใหญ่ บริษัท ทอท.บอกด้วยว่า การเปิดประเทศเดือน พ.ย.นี้ คาดว่าจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารคงยังไม่ได้กลับมาในทันที และมีจำนวนไม่มาก เพราะการจองตั๋วส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะจองล่วงหน้า ใช้ระยะเวลาเป็นเดือน ดังนั้นที่เปิดประเทศในเดือน พ.ย.นี้ถือเป็นเดือนที่เหมาะสม หวังว่าจะกลับมามากขึ้นทันในช่วงเทศกาลปีใหม่ (ธ.ค.64-ม.ค.65) และคาดว่าปีงบประมาณ 65 (ต.ค.64-ก.ย.65) ท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท.จะมีผู้โดยสารรวมกว่า 60 ล้านคน ขณะที่ปีงบฯ 66 (ต.ค.65-ก.ย.66) ผู้โดยสารจะทยอยกลับมาสู่ปกติเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

และแน่นอนว่า ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าหลังเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดไปหลายอย่างแล้ว สถานการณ์โควิดหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร มีอะไรน่าห่วงหรือไม่?

ปมดังกล่าว ทาง “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค." แถลงไว้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังการประชุมใหญ่ ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ที่น่าสนใจก็คือ นพ.ทวีศิลป์ระบุว่า ศบค.คาดหวังว่าการเปิดประเทศนี้จะทำให้เศรษฐกิจ สังคม ก้าวหน้าไปพร้อมกับการอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ โดยมีการพยากรณ์จากกระทรวงสาธารณสุขว่า หลังเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.ประมาณ 1 สัปดาห์จะมีทางแยกต่างๆ แต่ทางแยกที่เราอยากให้เป็นคือ ประชาชนการ์ดไม่ตก ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เราจะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้

“ทางแยกที่สองคือการ์ดตกเล็กน้อย ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจขยับขึ้นมา แต่ถ้าการ์ดตกมาก ไม่คำนึงเรื่องอื่นๆ เลย ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจสูงเป็นหมื่น หรือหลายหมื่น เริ่มเปิดประเทศหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ เราจะรู้กำหนดชีวิต ถ้าเราผ่านไปได้ เราจะนำเม็ดเงินและความเป็นอยู่ที่เป็นสุขกลับมาคืนสู่ชีวิตวิถีใหม่ที่เราต้องการ จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกท่าน” โฆษก ศบค.กล่าว

ขณะที่ในมุมด้านเศรษฐกิจเห็นชัดว่า คาดหวังกับการเปิดประเทศครั้งนี้มากกว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวขึ้น อย่างเช่น การประเมินของ “พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง” ที่ระบุว่า การเปิดประเทศจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจหลายสาขาได้รับการผ่อนคลายจากมาตรการล็อกดาวน์ และคาดว่าทั้งปี 2564 การบริโภคจะขยายตัว 0.8% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 4% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 16.3% โดยในปี 2565 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4% เนื่องจากแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย มีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยกว่า 6-7 ล้านคน ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% การบริโภคอยู่ที่ 4.2%

ส่วน "วิจัยกรุงศรีของธนาคารกรุงศรีอยุธยา” ออกรายงานวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า แม้มีการเปิดประเทศแล้ว แต่คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมภายในสิ้นปีนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดประมาณ 6%

ด้าน "ศูนย์วิจัยกสิกร” ประเมินไว้ว่า การเปิดประเทศน่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 64% เมื่อเทียบกับที่ไม่มีมาตรการ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2564 ขยับขึ้นมาที่ประมาณ 1.8 แสนคน (เดิมคาดไว้ที่ 1.5 แสนคน) โดยประเมินว่าตัวเลขข้างต้นจะสร้างรายได้เข้าประเทศ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท

ข้อมูล-ความคาดหวัง-การคาดการณ์ดังกล่าวข้างต้น เทน้ำหนักไปในทางที่สรุปได้ว่า การเปิดประเทศนับจากนี้ ถ้าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมีการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดหลังเปิดประเทศได้อย่างรัดกุม การเปิดประเทศจึงดีกว่าการไม่เปิดแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท