วัดใจ"กสทช."ชี้ขาด ควบรวม ทุนใหญ่โทรคมนาคม ทรู-ดีแทค

บิ๊กดีลการควบรวมกิจการ 2 กลุ่มทุนบริษัทขนาดใหญ่ในวงการโทรคมนาคม ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่ถูกจับตามองทุกความเคลื่อนไหวมานานร่วมปี แต่ที่ผ่านมาดีลดังกล่าวไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะทั้ง 2 บริษัทต่างรอไฟเขียวจาก “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ชุดปัจจุบัน” ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ช่วงเมษายนปีนี้ ซึ่งถึงขณะนี้ก็ร่วม 3 เดือนกว่าแล้ว แต่บอร์ด กสทช.ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปหรือมีมติอย่างเป็นทางการออกมา

จนกระทั่งตอนนี้บิ๊กดีลดังกล่าวถูกมองว่า กสทช.ที่มี ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน กสทช.คนปัจจุบัน คงต้องสร้างความชัดเจนออกมาได้แล้วว่า กสทช.จะไฟเขียวหรือจะสั่งล้มกระดานการควบรวมกิจการดังกล่าว หลังคณะอนุกรรมการที่บอร์ดใหญ่ กสทช.ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทั้ง 2 บริษัท จำนวน 4 คณะ ได้ส่งรายงานผลสรุปของอนุกรรมการให้บอร์ด กสทช.ไปเมื่อ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา จนมีกระแสข่าวว่า กสทช.อาจจะเตรียมพิจารณาชี้ขาดเรื่องดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้หรือช้าสุดไม่เกินเดือนสิงหาคม

อย่างไรก็ตาม พบว่าการขอรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นฯ ที่มีเครือข่ายทางธุรกิจและสินทรัพย์ที่รวมกัน 2 บริษัทมีมูลค่ามหาศาลเป็นแสนล้านบาท และที่สำคัญ เป็น 2 กิจการที่มีประชาชนเป็นลูกค้า-ผู้ใช้บริการระบบโทรคมนาคมรวมกันหลายล้านคน ที่มีการมองกันว่าหากสุดท้าย ดีลนี้หากสามารถควบรวมกิจการได้ ยังไงผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการ-ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของ 2 บริษัทที่จะรวมเป็นกิจการเดียวกัน โดยพบได้อย่างหนึ่งว่า ถึงตอนนี้เรื่องดีลควบรวมกิจการดังกล่าวเริ่มกลายเป็นประเด็นการเมืองมากขึ้นหลังมีข่าวว่า กสทช.ใกล้เคาะเรื่องนี้ แม้ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา "ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ กสทช." จะออกมาเปิดเผยหลังการประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อ 4 ส.ค. ที่มีเนื้อหาโดยสรุปว่าบอร์ด กสทช.ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการตัดสินใจ จึงได้ให้สำนักงาน กสทช.ไปทำการวิเคราะห์และส่งข้อมูลเพิ่มด้านต่างๆ เช่น เรื่องโครงสร้างการรวมธุรกิจ ผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด การลดอัตราค่าบริการ เพื่อส่งให้ กสทช.ได้พิจารณาอีกครั้ง ก่อนที่คณะกรรมการจะมีมติในเรื่องนี้ออกมา และย้ำว่าการพิจารณาของ กสทช.จะพยายามไม่ให้ยืดเยื้อ

แต่ระหว่างนี้ ในเชิงประเด็นการเมืองพบว่าเริ่มมีฝ่ายการเมืองออกมาให้ความเห็นและเคลื่อนไหวในเชิงไม่เห็นด้วย หากคณะกรรมการ กสทช.จะไฟเขียวให้มีการควบรวมกิจการกันได้ของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ธุรกิจโทรคมนาคม

เห็นได้จากเช่น นักการเมืองเริ่มออกมาขยับให้ความเห็นเรื่องนี้มากขึ้น เช่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล" ก็มีการออกมาระบุ โดยอ้างว่า ในวันที่ 10 ส.ค. จะมีการประชุมบอร์ด กสทช.เพื่อพิจารณาการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งในการควบรวมครั้งนี้จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ TRUE-DTAC เกิน 50% ของส่วนแบ่งตลาด ในเรื่องนี้ศาลปกครองได้วินิจฉัยเอาไว้ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้วว่า กสทช.มีอำนาจเต็มในการระงับการควบรวมธุรกิจ หากการควบรวมธุรกิจส่งผลให้เกิดการผูกขาด ซึ่งหากปล่อยให้มีการควบรวมกิจการ ผูกขาดธุรกิจดิจิทัล ต่อไปเอกชนก็จะไม่ต้องแข่งขัน ไม่เกิดนวัตกรรม ไม่เกิดการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพราะสามารถที่จะทำกำไรได้จากการผูกขาด เป็นการทำกำไรบนความลำบากของประชาชน ขอเรียกร้องให้ กสทช.ใช้อำนาจที่มีอยู่ทำตามความเห็นของอนุกรรมการของ กสทช.ทั้ง 4 คณะ ในการยับยั้งการควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC เพราะไม่มีเหตุผลเลยที่บอร์ด กสทช.จะปฏิเสธความรับผิดชอบอ้างว่า แค่รับจดแจ้งรายงานไม่มีอำนาจยับยั้ง

ส่วนความเห็นของ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร สภาองค์กรของผู้บริโภคและอดีต กสทช. ให้ความเห็นผ่านเวทีเสวนา “ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่” ที่จัดไปเมื่อ 2 สิงหาคม โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค กรณีผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ของ 'ทรู-ดีแทค' และเอไอเอส ประกาศควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้าน กับทรีบรอดแบนด์ (3BB)

พบว่า สุภิญญา-อดีต กสทช. ระบุตอนหนึ่งว่า กรณีควบรวมทรู-ดีแทค หากควบรวมกิจการกันจะทำให้ตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงแค่ 2 ราย ผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือก กสทช.ต้องปลดล็อกปัญหานี้ให้ได้ ด้วยมีอำนาจลงมติจะให้เกิดการควบรวมทรู-ดีแทคหรือไม่ รวมถึงกรณีเอไอเอสกับ 3BB ด้วย ทั้ง 2 กรณีนี้หากเกิดขึ้นจะเป็นฝันร้ายของผู้บริโภค กสทช.ต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการลงมติคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคม โดยหากเอกชนไม่เห็นด้วยก็ให้ไปฟ้องร้องที่ศาลปกครอง สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้ตัดสิน

สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็อยู่ที่ การพิจารณาและตัดสินใจของ กสทช.ว่าจะออกมาอย่างไร แต่ก่อนหน้านี้ นพ.สรณ-ประธาน กสทช. เคยบอกไว้ว่า หลักการทำงานของ กสทช.รวมถึงนโยบายที่ให้ไว้หลัง กสทช.เข้ามาทำหน้าที่คือ ต้องยึดมั่นหลัก Integrity ขององค์กร สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและสังคม ว่า กสทช.จะดูแลผลประโยชน์ให้เขา และสามารถกำกับดูแลกิจการให้มีความยุติธรรมและเท่าเทียม เป็นไปตามกฎหมาย

"นโยบายที่ให้คือ Integrity Justice and Equality ความน่าเชื่อถือ ความยุติธรรม และความเท่าเทียม องค์กรต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าจะรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศ และบังคับใช้กฎหมายให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เอกชนและประชาชนมั่นใจถึงนโยบาย และการพัฒนาที่จะช่วยเอื้อตลาดให้เติบโต รวมถึงเพิ่มการใช้ประโยชน์ของโครงข่ายให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน"

จึงต้องบอกว่า การตัดสินใจของ กสทช.ในเรื่องดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทคฯ ที่เป็นเผือกร้อนรอการตัดสินใจของ กสทช.อยู่ในเวลานี้ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงการทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบันว่าประชาชนจะเห็นอย่างไร และจะให้ กสทช.สอบผ่านการทำงานหรือไม่ ขอให้อดใจ รอติดตาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลยจุดกลบซีน ‘เศรษฐา’ ‘แม้ว’ ลุยสุด ภารกิจ ‘พิฆาตส้ม’

การเมืองเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา คงไม่มีปรากฏการณ์ไหนได้รับการจับตาเท่าพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่มีตัวละครทางการเมืองสำคัญในปัจจุบันอยู่ที่นั่น

ก้าวไกลเบรกเกมเร็ว ชิงดักทาง ผวาเร่งยุบพรรค

คดียุบ พรรคไทยรักษาชาติ ที่เป็นพรรคสาขาของเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เคยสร้างสถิติไว้ว่าเป็นคดียุบพรรคที่ใช้เวลาสั้นที่สุด คือแค่ 25 วัน นับจาก กกต.มีมติให้ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 13 ก.พ.2562

เปิดทาง‘ทักษิณ’กู้กระแส‘เพื่อไทย’ ปิดประตูรีเทิร์น‘ก้าวไกล’บริบูรณ์

น่าสนใจกับความเคลื่อนไหวของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ค่อนข้างขยับเร็ว หลังเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

“บิ๊กโจ๊ก” พลิกเกม ตั้งทนายสู้ข้อกฎหมาย จับตาไม่ตายเดี่ยว สะเทือน "กรมปทุมวัน"

ร้อนกว่าอากาศก็บรรยากาศภายใน กรมปทุมวัน กลับมาระอุอีกครั้งกับอภิมหาศึกสีกากี เป้ายังล็อกอยู่ที่ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เมื่อคณะพนักงานสอบสวน นำโดย พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.น. หอบหลักฐานขอศาลออกหมายจับเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ “BNKMaster” ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับบิ๊กของ ตร.พัวพันด้วย

ร้องเพลงคนละคีย์กับรัฐบาล เสี่ยงกินแห้วแทน”มาม่า”

จากบทเรียนของกกองทัพเรือ (ทร.)ในการจัดหาโครงการเรือดำน้ำ S26T ของจีน เพราะปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เยอรมันที่ไม่สามารถหามาติดตั้งใน S26T ได้ตามสัญญา และยังต้องฝ่ากระแสวิพากย์วิจารณ์เรื่องคุณภาพ และมาตรฐานของเรือจีนอย่างยากลำบาก

นับถอยหลังยุบ”ก้าวไกล” งัดพรรคสำรอง-จัดทัพใหม่สู้

สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้หลัง”คณะกรรมการการเลือกตั้ง”(กกต.)มีมติเอกฉันท์ให้ส่งคำร้องให้”ศาลรัฐธรรมนูญ”ให้มีคำสั่ง”ยุบพรรคก้าวไกล”ที่เป็นการยื่นตามช่องทางพรบ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ที่คาดกันว่า กกต.น่าจะส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญ ภายในอนาคตอันใกล้นี้ และเมื่อยื่นไปแล้ว ศาลรธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัยแน่นอน