'ศาลรัฐธรรมนูญ' กับ 'นายกฯไทย' จาก 'สมัคร-ยิ่งลักษณ์' ถึง 'บิ๊กตู่'

ในห้วงความขัดแย้งทางการเมืองตลอดหลายปีมานี้ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ถือเป็น ‘สมการ’ ที่เข้ามาเป็นตัวแปรในเหตุการณ์สำคัญของการเมืองไทยหลายครั้ง 

หลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ คือ ผู้ชี้เป็นชี้ตาย 

และมีนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน ที่ต้องกระเด็นตกเก้าอี้มาแล้วจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คนแรกคือ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย  

กรณีของ ‘สมัคร’ สืบเนื่องมาจากกรณีประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ และ ‘ยกโขยง 6 โมงเช้า’ 

ก่อนที่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า ‘สมัคร’ กระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่  

คนที่ 2 คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย สืบเนื่องจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้น  ร้องขอให้ศาลพิจารณาว่า สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่ ‘รักษาการนายกรัฐมนตรี’ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 กรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตัวเอง  มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รวมถึงรัฐมนตรีในขณะนั้นจำนวน 9 คนที่ร่วมมีมติดังกล่าวให้พ้นตำแหน่ง เพราะถือว่ามีส่วนร่วมในการก้าวก่ายแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการ 

หลังความเป็นรัฐมนตรีของ ‘ยิ่งลักษณ์’ สิ้นสุดลง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในขณะนั้นเข้ามาทำหน้าที่ ‘รักษาการนายกรัฐมนตรี’ จวบจนกระทั่งถูกรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 

และผู้นำรัฐประหารในวันดังกล่าวชื่อ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่วันนี้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี และชีวิตทางการเมืองกำลังอยู่ในมือ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เช่นกัน  

หากเป็นสถานการณ์ก่อนหน้านี้ บางคนอาจเชื่อว่า ‘บิ๊กตู่’ จะฝ่าด่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้แบบสบาย เพราะรอดมาได้หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่ศาลจะมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง  

หรือกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ ‘บิ๊กตู่’ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ ในประเด็นพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหาร หรือ ‘บ้านพักหลวง’ ทั้งที่เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว ก่อนที่จะมีมติเอกฉันท์ออกมาว่า ไม่ขาดคุณสมบัติ  

ขณะที่ครั้งนี้ แม้บางฝ่ายจะยังเชื่อว่า ‘บิ๊กตู่’ จะผ่านมันไปได้อีกรอบแม้จะมีแรงกดดันที่รุนแรงเหมือนกับกรณี ‘บ้านพักหลวง’ ก็ตาม หากแต่สถานการณ์ในปัจจุบันมันต่างจากวันนั้นไปพอสมควร 

โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของ ‘บิ๊กตู่’ กับ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ‘ไม่เหมือนเดิม’ ในห้วงไม่กี่ปีหลัง 

ในทางการเมืองทราบกันดีว่า ‘บิ๊กป้อม’ เป็นผู้มีบารมีทั้งนอกและในรัฐบาล และตั้งแต่ยุค คสช.เป็นต้นมา ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีส่วนเกี่ยวพันกับการเลือกบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ    

เมื่อความสัมพันธ์ของ 2 พี่น้องไม่ได้สนิทใจเหมือนแต่ก่อน ‘ความไม่แน่นอน’ ในทางการเมืองจึงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะทั้งในและนอกสภา 

ขณะเดียวกัน แม้นักกฎหมายฝ่ายรัฐบาลจะมั่นใจในข้อกฎหมายว่า ‘บิ๊กตู่’ จะไม่พ้นจากตำแหน่งในประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี หากแต่สถานการณ์วันนี้อาจจะคำนึงถึง ‘หลักนิติศาสตร์’ เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองไปในมิติของ ‘หลักรัฐศาสตร์’ ด้วย  

กระแสแอนตี้-เบื่อหน่าย ‘บิ๊กตู่’ ค่อนข้างแรง ต่อให้รอดจากตรงนี้ไปได้ แต่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่จากฝ่ายที่ต่อต้าน 

ด้อยค่าการเลือกตั้ง-ด้อยค่ากติกา จนนำไปสู่การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหรือรัฐบาลในอนาคต เหล่านี้ล้วน ‘แหลมคม’ ทั้งสิ้น 

สัญญาณที่เห็นได้ชัดคือ การออกมากดดันให้ ‘บิ๊กตู่’ ลาออกเพื่อแสดงสปิริต สร้างวาทกรรม ‘นายกฯเถื่อน’ เพื่อแสดงให้รู้ว่า ไม่ยอมรับแม้คำวินิจฉัยจะออกมาแบบไหนก็ตาม  

ยิ่งล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องฝ่ายค้านให้วินิจฉัยปม 8 ปีของนายกฯ และมีมติให้ ‘บิ๊กตู่’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน การเมืองตอนนี้อะไรจึงเกิดขึ้นได้ทั้งหมด 

เพราะ ‘ความไม่แน่นอน’ คือ ‘ความแน่นอน’  

การเมืองวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...

'ทักษิณ-โจ๊ก'ย่ามใจ! จุดจบเส้นทาง'สีเทา'

ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ เดินทางมาร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และ สส.ของพรรค ร่วมรับประทานอาหารกับนายทักษิณอย่างคึกคัก

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร