'บิ๊กตู่'ปักหลัก'รวมไทยสร้างชาติ' แยกทางกับ'บิ๊กป้อม'สู่เป้าหมายเดียวกัน

       เป็นไปตามการคาดหมาย ภายหลังการประชุมเอเปก บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงจุดยืนและอนาคตทางการเมืองชัดเจนขึ้น

       โดยมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าพบ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดใจและพูดคุยถึงทิศทางการเมืองในอนาคต และได้มาลาเพื่อไปทำงานการเมืองกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยจะมีการเปิดแถลงข่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

       ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางกลับ พล.อ.ประวิตร ได้โทรศัพท์เช็กแกนนำแต่ละกลุ่ม ว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรค พปชร.แล้วจะยังอยู่กับพรรคต่อหรือไม่ โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.พรรค พปชร. ซึ่งจะย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์ไปพรรค รทสช. ได้เช็กชื่อ ส.ส.ในกลุ่ม ซึ่งล่าสุดมีประมาณ 12 คน

       วันถัดมา พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่สนามกีฬาเคหะคลองจั่น บางกะปิ กทม. โดยที่ไม่มีทั้งหมายงาน และไม่ได้มีการแจ้งสื่อมวลชน ซึ่งบางกะปิเป็นพื้นที่ของ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ 1 ใน 3 ส.ส.หญิงของ กทม. จากพรรค พปชร. ที่มีกระแสข่าวว่าจะย้ายตาม "บิ๊กตู่" ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ

       และเมื่อวันพฤหัสบดี พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินทางไปจ.เพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธี KICK OFF มาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง เลขาธิการพรรค พปชร. เจ้าของพื้นที่ ให้การต้อนรับ

       ต่อมาช่วงค่ำวันเดียวกัน ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์เดินทางกลับมาจาก จ.เพชรบูรณ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้นำ ส.ส.พปชร.จำนวน 8 คน เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ที่บ้านพัก รวมถึง นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ที่พา ส.ส.สงขลา และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สงขลา พปชร. เข้าพบในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่ด้วย

       มีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยังไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรค รสทช.ในเร็วๆ นี้ แต่หากมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคแล้ว จะนั่งเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค รทสช. และจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์หนึ่ง  ขณะที่นายพีระพันธุ์จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์สอง

และเมื่อผู้สื่อข่าวซักถามถึงความชัดเจนทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “เมื่อถึงเวลาแล้วจะพูดเอง”

       จังหวะก้าวช่วงนี้จึงเป็นการเตรียมการเดินเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหม่ให้เป็นไปตามกฎหมาย และขับเคลื่อนองคาพยพต่างๆ ตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง

       โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรค พปชร. จะยังไปสมัครพรรคการเมืองอื่นได้หรือไม่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาล การันตีว่า ทำได้ เพราะจะไม่ดูคุณสมบัติในระหว่างที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องเลือกนายกฯ

       อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายไม่ห้าม แต่ในฐานะที่ตนเองเป็นนายกฯ ตามบัญชีรายชื่อของพรรค พปชร.จะกระโดดไปสมัครสมาชิกพรรค รทสช. ก็อาจจะขัดความรู้สึกอยู่บ้าง แต่ด้วยสถานการณ์ที่จำเป็น ก็ต้องรีบแสดงความชัดเจนเพื่อดึงดูดให้กลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนต่างๆ เลือกข้างตามมา

       หลังมีความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เกิดแรงกระเพื่อมภายใน พปชร.ทันที นอกจากกรณีนายสุชาตินำ ส.ส.กลุ่มหนึ่งออกตามบิ๊กตู่ไปแล้ว กลุ่มก๊วนมุ้งอื่นๆ ก็เริ่มขยับเช่นกัน ขณะที่ กลุ่มสามมิตร นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ยังสงวนแทงกั๊กรอพิจารณาข้อมูลให้ครบถ้วน รวมทั้ง กลุ่มมะขามหวาน ของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาฯ พรรคพปชร.         

       ขณะที่ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ซึ่งเป็นอดีตส.ส.พปชร.เดิม นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ขอกลับ พปชร.ทันที โดยมีการตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ส.ส.เศรษฐกิจไทย จำนวน 13 คน ซึ่งรวมถึง ร.อ.ธรรมนัส จะย้ายกลับมาเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งต่อไป โดย พล.อ.ประวิตรได้วางตัวทั้ง 13 คนไว้แล้ว ใครที่เป็น ส.ส.เขต ก็จะส่งลงสมัครในเขตเดิม

       แต่การกลับมาของ ร.อ.ธรรมนัส ก็สร้างความอึดอัดใจให้กับ ส.ส.ในพรรค จากภาพลักษณ์ที่ติดลบ จะทำให้หาเสียงลำบาก โดยเฉพาะความขัดแย้งกับแกนนำพรรคในอดีต และอาจทำให้ กลุ่มสามมิตร กับ กลุ่มมะขามหวาน ตัดสินใจย้ายออกจาก พปชร.เช่นเดียวกัน แต่หาก พล.อ.ประวิตร ประสานผลประโยชน์กับมุ้งต่างๆ ได้ลงตัว ก็คงอยู่ร่วมกันได้

       อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัส อาจไม่กลับมามีบทบาทภายใน พปชร.อย่างเปิดเผย แต่จะอยู่ทำงานเบื้องหลังให้กับ พล.อ.ประวิตร รวมทั้ง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ตามที่มีกระแสว่ามี "ดีลลับ" ก่อนหน้านี้

       ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่้ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส ได้เดินทางไปเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถิ่นพำนักของนายทักษิณ และได้เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว แต่ก็ยังเก็บตัวอยู่ หลังถูก "ผู้มีอำนาจ" ไล่บี้จากที่ถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์กับ กลุ่มทุนจีนสีเทา ค้ายาเสพติด ฟอกเงิน  ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสได้อัดคลิปปฏิเสธไปแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนจีนสีเทาดังกล่าว

       แม้นายทักษิณจะเคยปฏิเสธว่าไม่มีดีลลับอะไรกัน  แต่ก็มีท่าทีที่ดีกับ พล.อ.ประวิตรและ ร.อ.ธรรมนัส ตลอด โดยบอบว่าตนเองไม่ใช่ศัตรู ร.อ.ธรรมนัส เพราะ ร.อ.ธรรมนัสเป็นรุ่นน้องเยอะเลย เคยอยู่พรรคเพื่อไทย เป็นคนเหนือด้วย รู้จักกันดี

       และก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลือมาตลอดว่า พล.อ.ประวิตรอยากเป็นนายกฯ ตัวจริง แกนนำพรรคเพื่อไทยก็บอกเสมอว่า เพื่อไทยพร้อมร่วมงานกับ พล.อ.ประวิตร แต่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ 

       เป็นการเปิดประตูสู่การจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะหากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์หรือไม่ก็ตาม แต่ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและบริบททางการเมือง จะต้องอาศัยเสียงส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ

       ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่า พล.อ.ประวิตรคุมเสียง ส.ว.ได้จำนวนหนึ่ง หากจับมือกับ พล.อ.ประวิตร พรรคเพื่อไทยก็จะจัดตั้งรัฐบาลได้ง่าย ส่วนบุคคลที่เพื่อไทยจะเสนอชื่อเป็นนายกฯ อาจไม่ใช่แคนดิเดตนายกฯ 1 ใน 3 ของบัญชีรายชื่อเพื่อไทย แต่จะเป็น พล.อ.ประวิตร  ตามกระแสข่าว ดีลลับ

       ถามว่า เพื่อไทยชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งทำไมไม่เป็นนายกฯ เอง โดยความชอบธรรมเพื่อไทยสามารถรวบรวมเสียงข้างมาก รวมทั้งกดดันให้ ส.ว.ยกมือโหวตให้ได้ แต่ก็อาจจะสร้างความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ขึ้นอีก จะส่งผลให้หนทางที่ นายทักษิณ อยากจะกลับบ้านมาเลี้ยงหลานอาจล่มสลายลงไปอีก

       จึงวาดหวังว่า หาก พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ จะสามารถประสานทุกฝ่ายเพื่อสร้างความปรองดอง เปิดช่องทางให้นำทักษิณกลับมาได้ ก็ถือว่าคุ้มค่ากับรายจ่ายทางการเมือง

       แต่การเมืองไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร กลุ่ม 3 ป.ที่ยึดกุมอำนาจกว่า 8 ปี  ไม่มีทางที่จะลงจากอำนาจง่ายๆ ในอดีตนายทหารที่ลงมาเล่นการเมืองส่วนใหญ่ลงจากอำนาจแบบไม่สวย แต่กลุ่ม 3 ป. มีชั้นเชิงทางการเมืองที่แพรวพราว ลับลวงพราง จนนักการเมืองยุคนี้ตามแทบไม่ทัน

“การแยกกันกันเดินของ ประยุทธ์-ประวิตร การวางแผนไว้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า คะแนนนิยมของพรรค พปชร.ตกต่ำลงเรื่อยๆ หากยังอยู่ในพรรค พปชร.ด้วยกันก็อาจตายหมู่ การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปปักหลักที่พรรค รทสช. จึงเป็นทางเลือกใหม่”

       ว่ากันว่า การแยกกันเดินของ ประยุทธ์-ประวิตร  มีการวางแผนไว้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า คะแนนนิยมของพรรค พปชร.ตกต่ำลงเรื่อยๆ หากยังอยู่ในพรรค พปชร.ด้วยกันก็อาจตายหมู่

       การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปปักหลักที่พรรค รทสช. จึงเป็นทางเลือกใหม่ ประกอบกับคนรอบข้าง ประยุทธ์-ประวิตร ไม่ลงรอยกัน อยู่ชายคาเดียวกันก็เกิดแรงกระเพื่อมภายในองค์กรอยู่ตลอด

การเปิดตัวของ รทสช. จะดึงดูด ส.ส.และนักการเมืองจากพรรคต่างๆ มารวมกัน และจะเก็บคะแนนบัญชีรายชื่อจากกระแสนิยม "ลุงตู่" สู้ระบอบทักษิณ กับพวกล้มเจ้าได้ รวมทั้งได้ ส.ส.เขตในภาคใต้ที่ยังนิยมลุงตู่ สำหรับ พปชร.นั้น ก็เน้นเก็บ ส.ส.เขตเป็นหลัก

       หลังจากเลือกตั้งครั้งหน้า หากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิมรวมกันแล้วได้ ส.ส.มากกว่าฝั่งฝ่ายค้านปัจจุบัน    รทสช.กับ พปชร.ก็จับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถนั่งนายกฯ ต่อได้อีก 2 ปี

       แต่หากได้เสียงน้อยกว่าพรรคเพื่อไทย แล้วจัดตั้งรัฐบาลได้ และหนุน พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯปรองดอง อำนาจก็จะยังอยู่ในมือพี่ใหญ่ของ 3 ป.อีก ถึงตอนนั้นพี่ใหญ่ 3 ป. ก็สามารถกุมทิศทางการเมือง ตามแนวทางของพวกตนเองได้

       หากผลลัพธ์ทางการเมืองออกมาเช่นนั้น ก็เป็นไปตามหมากเกมทางการเมืองของ 3 ป.ที่วางไว้อย่างแยบยล

       แต่ก็เป็นเพียงกระดานใหม่ทางการเมือง ภายใต้โครงสร้างประเทศแบบเก่าที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงท่ามกลางกระแสตื่นตัวทางความคิดของคนรุ่นใหม่ ที่กำลังเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างประเทศทุกด้าน ซึ่งกำลังเขย่าโครงสร้างและสถาบันหลักของชาติ โดยที่ “3 ป.” ยังแก้โจทย์ไม่ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ