ฉุดรั้ง ขัดขวาง "ปฏิรูปตำรวจ" เหตุ "ทุนสีเทา" แผลงฤทธิ์!

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ผ่านพ้นไปแล้ว ตลอด 2 วันในการอภิปราย แม้จะเป็นการอภิปรายตาม รธน.มาตรา 151 แต่ก็เหมือนการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตาม รธน.มาตรา 151

    การอภิปรายไม่ได้มีประเด็นใหม่ๆ ที่มีพยานหลักฐานการทุจริตที่จะมัดรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งได้ เป็นการนำประเด็นเก่าอธิบายเชื่อมโยง ดิสเครดิตรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มากกว่า

    โดยพุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว เกิดความเหลื่อมล้ำ ปล่อยให้กลุ่มทุนจีนสีเทาอาชญากรต่างชาติแผลงฤทธิ์ ทำลายความมั่นคง เลือกอุ้มเครือข่าย-หลานนายกฯ ปัญหายาเสพติดระบาด การทุจริตในกองทัพ จนเกิดเหตุเรือหลวงล่ม และกราดยิงโคราช แก้สัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม หวังกินส่วนต่าง 6 หมื่นล้าน การปฏิรูปประเทศที่ไม่คืบหน้า เป็นต้น

    โดยเฉพาะเรื่อง ทุนจีนสีเทา นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายเปิดคลิปที่มี นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ หาว เจ๋อ ตู้ กำลังสนทนากับคนกลุ่มหนึ่ง ระบุว่า "เมืองไทยถ้ามีเงินทำได้ทุกอย่าง" จากนั้นนายวิสารกล่าวว่า ที่นายตู้ห่าวพูดจายิ่งใหญ่ได้ถึงเพียงนี้ เพราะทำมาค้าขายและประกอบธุรกิจกับบริษัทหลานชาย พล.อ.ประยุทธ์ ใช่หรือไม่ ที่ธุรกิจของนายตู้ห่าวเติบโตก่อร่างสร้างตัวได้นั้น ด้วยเพราะอาศัยอำนาจและความใกล้ชิดจากหลานของ พล.อ.ประยุทธ์ การทำธุรกิจเช่ารถทัวร์ 50 คัน ที่เกี่ยวโยงกับนายตู้ห่าวด้วย จีนเทามาให้ฟอกหรือหลานนายกฯ ไปฟอกให้

    ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตีแผ่ขบวนการค้ายาเสพติดฟอกเงิน มี ส.ว.ทรงเอ หรือ ส.ว.อ อยู่เบื้องหลัง ร่วมกับ นายทุน มิน หลัต นักธุรกิจชาวเมียนมา ที่ถูกตำรวจไทยจับกุม เชื่อมโยงว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนแต่งตั้ง ส.ว. ตึกที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็เป็นของ ส.ว.อ  ตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้กลับถูกเด้งไปอยู่ สภ.บ้านเดื่อ จ.ชัยภูมิ ศาลอนุมัติหมายจับกลับเพิกถอนหมายจับ ยังปล่อยให้ ทุนจีนสีเทา-นายตู้ห่าว ประกอบมิจฉาชีพ กอบโกยผลประโยชน์ ได้บริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 3 ล้านบาท ทำให้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติลุกลาม สูบเอาผลประโยชน์จากเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน แล้วเอาไปแสวงหาอำนาจ นอกจากนี้เครือข่ายทุนจีนสีเทายังแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงอีกด้วย

    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงถึงคดีตู้ห่าวว่า "พฤติกรรมเกิดขึ้นมานานพอสมควร ก่อนปี 57 โดยเข้ามาในประเทศปี 54 และมีการอนุญาตเรื่องสัญชาติ พฤติกรรมเหล่านี้ทราบในวันนี้หรือ ผมได้ให้ตรวจสอบย้อนหลังว่าเงินเหล่านี้ใช้กันอย่างไร เมื่อไหร่ ทราบว่าใช้ซื้อกิจการอสังหาริมทรัพย์ ยกหมู่บ้าน ไม่ทราบว่าบริษัทของใคร สำหรับรัฐบาลนี้ไม่มีแน่นอนขายบ้านแล้วแถมสัญชาติ ถ้าตรวจสอบให้ดีจะทราบว่าภรรยาของนายตู้ห่าวมีความเกี่ยวข้องกับอดีตรัฐมนตรีของบางพรรคการเมือง"

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยืนยันมาโดยตลอดจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้เด็ดขาด เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน หลายท่านยังกล้าพูด อดีตรัฐมนตรีหลายคนมีปัญหานี้ ติดคุกบ้าง หนีไปต่างประเทศก็มี รัฐบาลของผมตั้งแต่ปี 57 ยังไม่มีใครติดคุกสักคน ส่วนเรื่องยาเสพติด ถ้าทราบว่าใครเกี่ยวข้องขอให้แจ้งมาจะได้ดำเนินการตามกฎหมาย เราก็ต้องแก้ไขปรับปรุง ไม่ใช่ปราบยาเสพติดด้วยวิธีการฆ่า 2,000-3,000 คน

    การชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ เน้นการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามมากกว่า ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดี ก็โยนเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ชี้แจงว่าจะมีแนวทางมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไรบ้าง 

ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวสรุปว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคงของคนไทย นโยบายเรื่องนี้ทำไมนายกฯ ไม่คิด ไปอ้างความมั่นคงเรื่องอื่น แต่เรื่องนี้กลับปล่อยปละละเลย มาบอกซื้อบ้านเป็นชุดแถมสัญชาติ บอกข้าราชการเสนอมา เรื่องนี้ใครก็พูดได้ ที่บอกว่าคนกลุ่มนี้อยู่มานาน พยายามบอกว่า ก็มีมาตั้งแต่รัฐบาลเพื่อไทย คนชั่วถ้าคุมอยู่ ก็ไม่มีปัญหา ที่สำคัญคนดีต้องคุมคนเลวให้อยู่ แต่มันมารุ่งเรืองในยุคนี้ แสดงว่าไม่คุมคนเลว เมื่อไม่คุม แสดงว่า คุณเลวด้วย ยุคนั้นเขายังไม่แผลงฤทธิ์ เพราะกลไกเอาอยู่ แต่มาแผลงฤทธิ์ตอนนี้”

    บทสรุปของนายสุทินน่าจะตรงประเด็นที่สุด เพราะแม้ นายตู้ห่าว จะได้รับอนุญาตให้ได้สัญชาติไทยยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย ยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น รมว.มหาดไทย แล้วขยายอิทธิพลใหญ่โตมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน

    การจะไปชี้หน้าด่ากันว่า เอ็งก็ชั่ว ข้าก็เลว ก็เป็นการปัดความรับผิดชอบมากเกินไป เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุนจีนสีเทาสร้างอิทธิพลเติบโตในยุครัฐบาล และก็ต้องมีการจ่ายส่วยสินบนให้ตำรวจ ส่งต่อถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงด้วย

    รวมทั้งปัญหา เว็บการพนันออนไลน์ ที่ถูกเปิดโปงจากดาราสาว ดิว-อริสรา และ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง รวมทั้งกลุ่มโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้เริ่มจากเจ้าหน้าที่่รัฐแต่อย่างใด

    ปัญหา การพนันออนไลน์ รวมทั้ง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนมากมายนับแสนล้านบาท เจ้าของกิจการเถื่อนร่ำรวยนับหมื่นล้านบาท ก็เติบโตในยุคนี้ โดยมีตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นเจ้าของเว็บเอง เช่น สารวัตรซัว นายพล จ. ผู้การ ม. ดาบศร เป็นต้น ส่วนการดำเนินการของตำรวจก็ได้แต่ไล่ตามข้อมูลจากประชาชน และก็ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินคดีอย่างโปร่งใส ยุติธรรมแค่ไหน

เพราะกระบวนการยุติธรรมของไทยยังล้าหลัง เงินและอำนาจยังซื้อความยุติธรรมได้ แม้คดีขึ้นสู่ศาลก็มีการลงโทษเพียง 60 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกนั้นยกฟ้อง คนผิดลอยนวล ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะโยนเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องปฏิรูปตามเสียงเรียกร้องของประชาชนให้เป็นรูปธรรม

ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีการเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่คืบหน้า คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เสนอร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ส่งให้นายกฯ แต่กลับส่งต่อไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแปลงสาร ตัดสาระสำคัญทิ้ง อาทิ ประเด็นการแยกงานสอบสวนให้มีสายการบังคับบัญชาของตัวเอง และการสั่งคดีต่างหากจากงานตำรวจ ป้องกันมิให้ถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ กำหนดเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง พร้อมกับวิธีประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยตำรวจโดยภาคประชาชน เป็นต้น

ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.….ว่าด้วยการสอบสวน ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้นำเข้าสู่ที่ประชุมสภาอีกครั้ง โดยสาระสำคัญคือ การตรวจค้น จับกุม สอบปากคำต้องบันทึกภาพ-เสียง อัยการมีอำนาจตรวจสอบคดีสำคัญ หรือเมื่อมีการร้องเรียน แต่กลับถูกดองไว้อีก

ส่วนกรณีคดี บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง นายกฯ ได้แต่งตั้ง นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มีข้อสรุปว่า มีการสมคบคิดการประวิงคดี การใช้อิทธิพลทางการเมืองกดดันกระบวนการยุติธรรม และมีข้อเสนอต่อการปฏิรูปกฎหมาย แต่ก็เลือนหายไปตามสายลม

    ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม .ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.2566 โดยให้ขยายกำหนดเวลาการมีผลบังคับใช้ของมาตรา 22-25 ซึ่งเป็นมาตราที่สำคัญออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.2566

    ถือเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงว่ากฎหมายที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วรัฐบาลชุดนี้ยังกล้าออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้อีก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แสดงความผิดหวังว่าจะกระทบสิทธิประชาชนและความน่าเชื่อถือของประเทศ ขณะที่ 19 องค์กรประชาชนออกแถลงการณ์ว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172   ที่ต้องเป็น “กรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้” และขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าว

    พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) และอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ระบุถึงเหตุการณ์เลื่อนการใช้ เพราะไม่ต้องการให้ใช้มาตรา 22 วรรคสอง เป็นสำคัญ "เพราะได้บัญญัติให้ผู้รับผิดชอบการจับ ต้องรายงานการจับให้นายอำเภอและอัยการทราบทันที จะมีผลในการป้องกันการทำร้ายและการละเมิดบุคคลหลังถูกจับมากที่สุด ถ้ากฎหมายใช้บังคับทุกมาตราอย่างสมบูรณ์ การนำตัวผู้ถูกจับไปควบคุมไว้ในที่ลึกลับเพื่อเค้นข้อมูล หรือต่อรองแลกเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ต่างๆ แล้วปล่อยตัวไป โดยนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ไปส่งส่วยให้ตำรวจผู้ใหญ่เช่นที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จะไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป"

    ส่วนที่อ้างเรื่องอุปกรณ์ไม่พร้อม พ.ต.อ.วิรุตม์ระบุว่า ข้อเท็จจริงไม่จำเป็นต้องซื้อกล้องจำนวนมากขนาดนั้น เพียงซื้อไว้เป็นอุปกรณ์ประจำหน่วย ให้ตำรวจผู้มีหน้าที่จับกุมไม่ว่าจะเป็นสายตรวจ หรือ ตร.ฝ่ายสืบสวนหมุนเวียนเบิกไปใช้เมื่อเวลาเข้าเวรเท่านั้น จะซื้อไปทำไมมากมายโดยไม่จำเป็น สิ้นเปลืองเงินภาษีของประชาชน อย่างมากก็ซื้อเพิ่มจากที่มีอยู่แล้ว 90% ไม่เกิน 30,000 ชุด ใช้เงินแค่ระดับร้อยล้านเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ปัญหาฉาวโฉ่ในวงการตำรวจ ซึ่งเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมปะทุขึ้นมาหนักขึ้นทุกวัน แต่การปฏิรูปกลับไม่มีความคืบหน้า นายชูวิทย์ ที่ออกมาเปิดโปงทุนจีนสีเทา ตำรวจ สน.ห้วยขวาง รีดเงินดาราสาวไต้หวัน และเว็บพนันออนไลน์ มองว่า “ที่ผ่านมาการปฏิรูปตำรวจคือภาพลวงตา เพราะผ่านมาแล้ว 8 ปี ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ดังนั้นผู้นำต้องปฏิรูปตัวเองเพื่อให้ทุกอย่างคืบหน้า เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยอาจจะมีการขับเคลื่อนประเด็นสักอย่าง มีคนออกมาร้องเรียน และตำรวจเสียเองที่เป็นอาชญากร แทนที่จะเป็นผู้ตรวจสอบ

สรุปแล้วกว่า 8 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจ นอกจากไม่ใส่ใจ ไร้วิสัยทัศน์ ขาดภาวะผู้นำในการปฏิรูปตำรวจ ยังปล่อยให้มีขบวนการฉุดรั้ง เตะถ่วง ขัดขวางไม่ให้การปฏิรูปเดินหน้าอีกด้วย จึงไม่แปลกที่ โจรในคราบตำรวจ จะได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ และตำแหน่งใหญ่โตในหน่วยงานสำคัญ แล้วใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการรีดส่วยจากธุรกิจสีเทา ทั้งจีนเทา ไทยเทา ผู้ค้ายาเสพติด และคนที่กระทำผิดกฎหมาย ปล่อยให้อาชญากรมีอิทธิพลใหญ่โตแผลงฤทธิ์ ก่ออาชญากรรม กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และชีวิตทรัพย์สินของประชาชนอย่างร้ายแรง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

นายกฯ รับไม่มีสิทธิ์โกรธ ฝึกคุมอารมณ์ พร้อมหาวิธีปรับจูน สส.เพื่อไทย

นายกฯ รับต้องปรับจูนทำความเข้าใจ สส.เพื่อไทย หลังมีเสียงสะท้อนยังมีระยะห่าง ลั่นไม่น้อยใจ ไม่โกรธ ไม่งอน แจงต้องเข้มเรื่องงบ

'เลขาฯ ประชาชาติ' ยันไร้แรงกระเพื่อม 'ปรับ ครม.' ยังหนุน 'ทวี' คุม ยธ.

'ซูการ์โน' ชี้ยังไม่มีหารือพรรคร่วมรัฐบาล ปรับ ครม. ยันประชาชาติยังหนุน 'ทวี' นั่งเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม ปัดตอบกระแสเปลี่ยนตัว 'ปธ.สภา'