เลือกตั้งยุคย้ายขั้ว-สลับข้างชิงจัดตั้งรัฐบาลล่วงหน้า 14 พฤษภา.ประชาชนคือผู้ตัดสิน

ภายหลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา โดย กกต.กำหนดวันเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 รับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 3-7 เม.ย.2566-วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองแจ้งบัญชีรายชื่อบุคคลที่แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี  4-7 เม.ย.2566 ถือว่าประเทศไทยเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว

บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้จะแตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่กลิ่นอายของคณะรัฐประหาร คสช.และ กลุ่ม 3 ป. เลือนรางไปแล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เล่นบทนักการเมืองอย่างเต็มตัว เดินลงพื้นที่ยกมือไหว้หาเสียงกับประชาชนเหมือนนักการเมืองทั่วไป

ส่วนการกล่าวอ้างว่าตนเองเป็น ฝ่ายประชาธิปไตย โจมตีอีกฝ่ายว่าเป็น ฝ่ายเผด็จการ ก็จะไม่มีน้ำหนักอีกต่อไป เพราะนักการเมืองแต่ละพรรคย้ายขั้ว สลับข้างกันจนมั่วไปหมด 

เช่น นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ อดีต ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อชาติ ที่เคยเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็เปลี่ยนขั้วไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค รทสช. และขอขมา พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยกล่าวโจมตีและท้าดวลปืนกลางสภา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นสุภาพบุรุษให้อภัย สวมเสื้อ รทสช.ให้อย่างอบอุ่น

โดย นายศรัณย์วุฒิ บอกว่า "พรรคที่เป็นประชาธิปไตยอยู่ไม่ได้ ไม่เหลือเลย ที่มีอยู่ก็จอมปลอมและผสมพันธุ์กันจนหมดแล้ว เมื่อไม่มีขั้วประชาธิปไตย ไม่มีขั้วที่เรียกว่าเผด็จการ หรือบางคนจะเรียกว่าอนุรักษนิยมก็แล้วแต่ สุดท้ายผมไม่สนใจขั้วไหน สนใจอยู่ขั้วประชาชน"

ก่อนหน้านั้น น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ อดีต ส.ส.กทม.เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ก็ย้ายไปพรรคเพื่อไทย เปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 1 พรรคเพื่อไทย

ส่วน นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าทีมชลบุรี ก็ยกทีมเข้าพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ น้องชาย-นายอิทธิพล คุณปลื้ม ก็ยังนั่งในตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม

ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า "พรรคนี้ไปซื้อบ้านใหญ่ ตระกูลบ้านใหญ่นี้จังหวัดนี้ จะไปอยู่พรรคไหน กระโดดกันไปมา ดูถูกประชาชนมาก บางทีอยู่ขั้วรัฐบาลสนับสนุนรัฐประหาร กระโดดกลับมาอีกฝั่ง บางทีอยู่ฝั่งไม่สนับสนุนจะย้ายไปอยู่ฝั่งเผด็จการทหารจำแลง เหมือนไม่มีอุดมการณ์อะไรเลย เหลือเชื่อมากๆ นี่มันเป็นความล้มเหลวทางสามัญสำนึกเลย คุณจะไม่เห็นพรรคก้าวไกลไปอยู่ในสนามแบบนั้น”

ประเด็นดังกล่าวทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตอบโต้กลับว่า “ก้าวไกลชักเหมือนประชาธิปัตย์ขึ้นทุกวัน”

ล่าสุด แกนนำกลุ่มสามมิตร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.อุตสาหกรรม และอดีตแกนนำพรรค พปชร. ก็ย้ายกลับเพื่อไทย นายสมศักดิ์ซึ่งเคยบอกว่า "รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อพวกเรา (พปชร.)" แต่มาวันนี้กลับบอกว่า "วันนี้ฟ้าเปิด เมฆหมอกจางหายสู่บรรยากาศประชาธิปไตย"

ที่น่าสนใจการเลือกตั้งครั้งนี้เพียงแค่มีประกาศยุบสภา ยังไม่ถึงวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ก็มีความเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาลกันล่วงหน้าแล้ว 

โดยเมื่อช่วงบ่ายวันพุธที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมด้วย นายศักดิ์​สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ไปรับประทานอาหารกลางวันกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ โดยมีแกนนำพรรค พปชร. อาทิ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค, นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค ร่วมโต๊ะอาหารด้วย

สำหรับภาพรับประทานอาหารครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกนายอนุทินและแกนนำ ภท.เคยมานั่งรับประทานอาหารด้วยเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันเพียงสัปดาห์เดียว

เนื้อหาบทสนทนาบนโต๊ะระหว่างแกนนำ ภท.กับ พล.อ.ประวิตร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจับมือตั้งรัฐบาล โดยมีการคำนวณตัวเลขที่แต่ละพรรคจะได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดย พปชร.จะได้ 70 ที่นั่ง ภท.จะได้ 70 ที่นั่ง รวมเป็น 140 ที่นั่ง บวกกับพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะได้เกิน 203 ที่นั่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และไม่ใช่เสียงข้างน้อย เพราะมีเสียงของ ส.ว.ด้วยส่วนหนึ่ง

มีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร ได้ระบุเรื่องการเป็นนายกฯ ว่า "ถ้าคะแนนใครชนะเอาไปเลย ส่วนพรรคที่ได้ 25-30-40 เสียง จะมาเอาไม่ให้ คนที่ได้คือเรากับหนู (นายอนุทิน)" ทำให้นายอนุทินที่ฟังอยู่ยิ้มออกมา ก่อนพูดทำนองว่า “ถ้าอาจะเอา เอาไปก่อน” นอกจากนี้วงสนทนายังมีการประเมินเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่าจะได้ไม่เกิน 170 ที่นั่ง

วันต่อมา นายวิรัช รัตน​เศรษฐ เปิดเผยว่า "นายอนุทินปรารภออกมา ใครได้มากกว่าคนนั้นก็เหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างรวมไทยสร้างชาติ กับพลังประชารัฐ นายอนุทินบอกว่า ระหว่าง 2 พี่น้อง ใครได้มากผมก็สนับสนุนคนนั้นเป็นนายกฯ"

แต่ภาพการร่วมรับประทานอาหารและพูดคุยถึงเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สบอารมณ์มากนัก โดยบอกว่า "มันไม่ใช่เวลาอะไรในตอนนี้ มันยังไม่ได้เลือกตั้งเลย ต้องดูที่ผลการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง"

หากถอดรหัส เสี่ยหนู กับ บิ๊กป้อม ร่วมรับประทานอาหารติดต่อกัน 2 รอบ และตั้งใจปล่อยภาพดังกล่าวออกมาให้สื่อมวลชน คือการเดินเกมสร้าง ขั้วอำนาจใหม่ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกลุ่มการเมืองทั้ง 2 ขั้ว ทั้งฝั่งพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคเพื่อไทย

โดยเฉพาะ เสี่ยหนู กับ บิ๊กป้อม ที่เชื่อว่าพวกตนกำลังโดนเกมใต้ดินเล่นงานจากพวกเดียวกันเอง ตั้งแต่พรรค พปชร.ถูกยื่น กกต.ยุบพรรค กรณีการรับเงินบริจาค 3 ล้านบาท จากกลุ่มทุนจีนสีเทา ขณะที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง เดินหน้าแฉเรื่องเงินทอนรถไฟฟ้าสายสีส้ม และต่อต้านกัญชาเสรี รวมทั้งกรณีนายศักดิ์สยามเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วน จํากัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ถูกร้องเรียนจนศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

น่าจับตาว่าเรื่องที่ถูกร้องเรียนเหล่านี้ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ จะถูกผู้มีอำนาจใช้ พลังพิเศษ สั่งให้เชือดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้?

ที่น่าสนใจกรณี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ออกมาแฉนายชูวิทย์ไถเงิน 50 ล้าน จากกลุ่มทุนสีเทา-เว็บพนันออนไลน์ โดยมีภาพหลักฐานชัดเจน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ทนายตั้้ม สนิทกับ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นลูกน้องบิ๊กป้อม จึงไม่แปลกหากจะมีการตอบโต้นายชูวิทย์ที่เล่นงานพรรคภูมิใจไทยกันบ้าง

อย่างไรก็ตาม แม้ นายอนุทิน จะกล่าวถึงการพูดคุยเรื่องเงื่อนไขการตั้งรัฐบาลบนโต๊ะอาหารดังกล่าวว่า "เรื่องที่อยู่บนโต๊ะอาหารไม่ควรนำเรื่องที่พูดคุยกันออกมาพูด เพราะเรื่องนี้ไม่มีอะไรที่เป็นทางการเลย" แต่นายอนุทินก็ยืนยันว่า "หากภูมิใจไทยได้เสียงอันดับหนึ่งจะเป็นรัฐบาลเอง"  

จึงเป็นความหมายเดียวกัน หากขั้วรัฐบาลเดิม ใครได้เสียงอันดับหนึ่งก็เป็นนายกฯ หาก รทสช.ได้ 30-40 เสียง หรือน้อยกว่า ภท.-พปชร. แล้ว บิ๊กตู่ จะขอเป็นนายกฯ ก่อน 2 ปี เสี่ยหนู กับ บิ๊กป้อม ก็คงไม่ยอม เว้นแต่บิ๊กตู่ยอมเว้นวรรค แล้วให้พรรคที่ได้อันดับหนึ่งเป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน

ส่วนขั้วฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ประกาศจะชนะแลนด์สไลด์ 310 เสียง ปลุกประชาชนให้เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ กำลังทำลายพันธมิตรฝ่ายค้านด้วยกันเอง เพราะเท่ากับไม่แบ่งเสียงให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเลย ขณะที่ พรรคก้าวไกล ก็ปรับยุทธศาสตร์ ตรึงคะแนนเสียงให้เลือกพรรคที่มีอุดมการณ์และแนวทางที่กล้าเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างชัดเจน บนเวทีปราศรัยก็กล่าวพาดพิงกันเอง เพื่อแย่งคะแนนเสียงจากฐานเดียวกัน  

และหากพรรคเพื่อไทยได้เสียงอันดับหนึ่ง แต่โอกาสที่จะรวบรวมเสียงให้ได้ 376 เสียงก็เป็นไปได้ยาก และก็ไม่อยากดึงพรรคก้าวไกลมาร่วมงานด้วย เพราะไม่อยากเอานโยบายแก้ ม.112 มาเป็นเผือกร้อน

หากเพื่อไทยจะดึงพลังประชารัฐกับภููมิใจไทยมาร่วมด้วย ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเงื่อนไขหลักที่จะเจรจาต่อรองกันว่าจะเป็นคนของฝั่งไหน แม้ก่อนหน้านี้มีกระแส ดีลลับ ให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ แต่ พล.อ.ประวิตรก็เริ่มไม่เชื่อใจว่าจะถูกหลอกหรือไม่ การผนึกกำลังกับอนุทิน-ภูมิใจไทย จึงเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้มากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม หากเพื่อไทยจะอ้างว่าพรรคตนเองได้เสียงอันดับหนึ่ง ถือเป็นฉันทานุมัติของประชาชน มีความชอบธรรมที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกฯ แต่ก็ไม่มีกติกาบังคับชัดเจน เมื่อครั้งโหวตเลือกนายกฯ เมื่อปี 2562 พรรคเพื่อไทยก็เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคอนาคตใหม่ ที่มี ส.ส. 81 เสียง ในขณะนั้นเป็นนายกฯ ไม่ได้เสนอชื่อพรรคที่ได้ ส.ส.อันดับหนึ่งแต่อย่างใด

การจัดตั้งรัฐบาลจึงอยู่ที่พรรคใดรวบรวมเสียงได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ คือ 250 เสียง เพื่อเสถียรภาพในการบริหาร และบวก ส.ว.อีกจำนวนหนึ่งให้ครบ 376 เสียงตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

ส่วนพรรคการเมืองใดจะได้คะแนนกี่เสียง ได้ ส.ส.จำนวนเท่าไหร่ อยู่ที่อำนาจประชาชนจะตัดสินใจเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง