"พิธา" หลังพิง 14 ล้านเสียง ดิ้นสู้คลายหุ้น ก่อนโหวตนายกฯ

ชัดเจนแล้วว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ได้คลายหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น จากการครอบครองของตัวเองไปเรียบร้อย หลังมีกระแสข่าวดังกล่าวออกมาในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

การออกสเต็ปดังกล่าวของพิธา มันคือ การดิ้นสู้ทางคดีและทางการเมือง ของพิธา ก่อนที่จะไปเข้าให้ถ้อยคำในเรื่องนี้่ต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะเรียกพิธาไปชี้แจงการถือครองหุ้นดังกล่าว หลัง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องว่า พิธาถือหุ้นดังกล่าวก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง และก่อนพรรคก้าวไกลส่งชื่อพิธาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมของพิธาในการสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคงเชื่อว่า เรื่องนี้ กกต.จะส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

พิธา-หัวหน้าพรรคก้าวไกล ย้ำว่า การคลายหุ้นดังกล่าวไม่ใช่ขาย แต่โอนให้ทายาท หลายคนก็ออกมาบอกว่า มีความพยายามสกัดกั้นผมออกจากการเมือง ผมได้ยินอย่างนี้ แน่นอนว่าต้องกังวล เพราะอดีตกับอนาคตไม่เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าอดีตก็คืออดีต แต่ในอนาคตมีความไม่แน่นอนอยู่ ดังนั้นต้องมีความแน่นอน เพื่อให้ตั้งรัฐบาลให้ได้

อย่างไรก็ตาม ความคิดของพิธาในเรื่องนี้ ถ้าจะดูให้ละเอียด ก็ต้องดูสิ่งที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กของตัวเองก่อนที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อ ซึ่งเนื้อหาในสิ่งที่พิธาถ่ายทอดไว้ สรุปสาระสำคัญได้ว่า เป็นการโอนหุ้นเพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV ที่มีบางฝ่ายพยายามเล่นงาน หลังพบข้อพิรุธ-ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิด-ไม่มีใครหรืออำนาจไหนมาสกัดกั้นฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถึงกว่า 14 ล้านเสียง ได้อีกแล้ว-มั่นใจไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

"ผมมีความมั่นใจว่า ก่อนที่ผมจะดำเนินการโอนหุ้น ITV นั้น บริษัท ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด

กระบวนการถัดจากนี้ ผมขอยืนยันทุกท่านว่า ผมมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อ กกต. ไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใดๆ ต่อกรณีนี้ และจะไม่เสียสมาธิในการทำงานเด็ดขาด

หลังจากนี้ผมจะเดินหน้าทำงานเตรียมการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลที่มีพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จจงได้ในที่สุด

ไม่มีใครหรืออำนาจไหน มาสกัดกั้นฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถึงกว่า 14 ล้านเสียง ได้อีกแล้ว

ขอให้ทุกท่านสบายใจ และเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปด้วยกันครับ"

การตัดสินใจดังกล่าวของพิธา แน่นอนว่า ต้องเกิดจากการได้ปรึกษาหารือกับฝ่ายกฎหมายของพรรคและทนายความ มือกฎหมายส่วนตัว จนเป็นที่มาของการโอนหุ้นดังกล่าว เพราะคงมองว่าเมื่อโอนไปแล้ว จะมีผลดีต่อการสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างเหลี่ยมในการสู้คดี ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งมาตรา 98 (3) ที่เป็นบทบัญญัติเรื่องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งโดยถือหุ้นสื่อก่อนลงเลือกตั้ง รวมถึงเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกฯ เพราะคงมองว่า มาตราที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนายกฯ คือ มาตรา 159 และ 160 ยังมีปัญหาให้ตีความได้อยู่ แม้จะเสี่ยงถูกมองว่า ถ้ามั่นใจว่าหุ้นไอทีวีไม่ใช่หุ้นสื่อ แล้วมาโอนหุ้นในช่วงนี้ ก่อนวันโหวตนายกฯ เพื่ออะไร-การโอนหุ้นแบบนี้ ก็แสดงว่าเริ่มไม่มั่นใจแล้วใช่หรือไม่ ถึงได้ปลดล็อกปัญหาด้วยการโอนหุ้น เพื่อจะได้เป็นประเด็นต่อสู้ทางข้อกฎหมายต่อไป

วิเคราะห์ไว้ว่า พิธาและก้าวไกลคงประเมิน Worst case scenario สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญว่า อย่างมากอาจแค่หลุดจาก ส.ส. แต่ยังสามารถลุ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หรือแม้แต่เป็นรัฐมนตรีได้ โดยใช้แง่มุมข้อกฎหมายบางมุมมาต่อสู้

รวมถึงแม้กระทั่งพิธาก็ยังสามารถกลับมาเป็น ส.ส.ในสภาฯ ชุดนี้อีกก็ยังได้ เพราะหากพิธาไม่รอด ก็แค่หลุดจาก ส.ส. แต่ไม่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะบทลงโทษของการถือหุ้นสื่อก่อนวันลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้มีการให้ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ดังนั้นหากอนาคตมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้น พิธายังสามารถไปลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตก็ยังได้ เพราะคนในพรรคย่อมเปิดทางให้อยู่แล้ว และยังกลับมาลุ้นเป็นนายกฯ ได้อีกในสมัยนี้ หากโอกาสมาถึง

เรียกได้ว่ายังมีแง่มุมข้อกฎหมายหลายอย่างที่เปิดทางให้พิธายังสามารถอยู่ในวงจรแผงอำนาจได้แบบที่หลายคนคาดไม่ถึง จึงน่าจะเป็นที่มาของการที่พิธา หลังได้ปรึกษากับนักกฎหมายหลายคนแล้ว คงมองว่า โอนหุ้นไปตอนนี้ย่อมมีผลดีในอนาคต

เพียงแต่จะเห็นได้ว่า “พิธา” นำเรื่อง 14 ล้านเสียง ที่ประชาชนเลือกก้าวไกลตอนเลือกตั้ง พ่วงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงในช่วงนี้แล้ว  เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณไปยังบางฝ่ายที่จะสกัดกั้นตัวเองไม่ให้เป็นนายกฯ ว่า มี 14 ล้านเสียงเป็นแบ็กอัพ เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กคอยหนุนหลังตัวเองอยู่ให้จัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

มองได้ว่า “พิธา” ต้องการสื่อไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและสมาชิกวุฒิสภา ที่จะลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

ขณะที่ฝ่าย สมาชิกวุฒิสภา ก็เริ่มเห็นท่าทีแล้วว่า ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในการโหวตนายกฯ โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ว.ที่จะไม่หนุนพิธา อยู่แล้ว แต่ก็ต้องการหาสิ่งที่จะเป็นน้ำหนักมาทำให้การตัดสินใจของตัวเองมีความชอบธรรม ไม่โดนบรรดาด้อมส้มถล่มหนักว่าไม่เลือกนายกฯ จากพรรคที่ได้ 14 ล้านเสียง

จึงได้เริ่มเห็นท่าทีของ ส.ว.อย่าง เสรี สุวรรณภานนท์ ที่เรียกร้องให้ กกต.ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว โดยเฉพาะให้ส่งไปถึงศาลก่อนวันที่จะมีการเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ

ท่าทีดังกล่าว เพราะ ส.ว.ที่คงไม่ใช่มีแค่เสรีคนเดียว แต่มี ส.ว.อีกจำนวนมากที่ต้องการให้เป็นแบบนี้ เพราะ ส.ว.กลุ่มดังกล่าวเชื่อว่า เมื่อ กกต.ส่งไป ทางศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับคำร้อง และน่าจะมีคำสั่งให้พิธาหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่จากการเป็น ส.ส.ไว้ก่อน แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

 และถึงแม้ต่อมา 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง จะมีมติยืนยันเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ ต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส.ทำให้พิธายังสามารถเป็นนายกฯ ได้ แต่การที่พิธาถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มันก็จะทำให้ ส.ว.กลุ่มที่จะไม่โหวตให้พิธา หรือพวกยังลังเลรอดูหน้างาน ก็จะมีเหตุผลมาอ้างได้ว่า พิธาน่าจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติทางรัฐธรรมนูญ ทาง ส.ว.จะใช้เหตุผลนี้มา งดออกเสียง ไม่โหวตให้พิธา ส่วนพวกไม่เอาพิธา-ก้าวไกลอยู่แล้ว ก็จะ โหวตไม่เห็นชอบ วัดกันไปเลย 

ส่วนครั้นจะให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีพิธาให้จบก่อนรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ คาดการณ์ว่าน่าจะทำได้ยาก เพราะหากทำแบบนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็จะถูกมองว่า เร่งรัดคดี มากเกินเหตุ เพราะคดีหุ้นสื่อก่อนหน้านี้ เช่น คดีหุ้นสื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, คดีหุ้นสื่อ 64 ส.ส.สมัยที่แล้ว จะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะตัดสินแล้วเสร็จ ดังนั้นน่าจะยากที่ศาลจะวินิจฉัยคดีพิธาเสร็จก่อนโหวตนายกฯ แต่แค่การที่ศาลสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็น่าจะทำให้กลุ่ม ส.ว.พึงพอใจแล้วที่จะใช้เรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการไม่โหวตให้พิธา

เส้นทางการขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ของพิธาแต่ละก้าว จึงเต็มไปด้วยขวากหนามอย่างแท้จริง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

สส.ระยอง ก้าวไกล ตั้งข้อสงสัยวางเพลิงโรงงานเก็บสารเคมี 'วิน โพรเสส' จี้รัฐบาลตรวจสอบ

นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีของบริษัท วินโพรเสส จำกัด ว่า ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ตนได้ลงพื้นที่จุดหลังเกิดเหตุตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเวลา 22.00 น.