สารพัดแผล ‘พิธา’ โผล่กลางทาง ฝ่าด่าน ส.ว.ยิ่งยาก-ปมหุ้นสื่อหนัก

    ชุลมุนกันอยู่กับกรณีถือหุ้นไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล กันมาสักพักใหญ่ๆ ส่วนใหญ่เป็นข้อคิดเห็นของนักวิชาการ   

    แต่เรื่องเพิ่งจะเริ่มเข้มข้นกันช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง หลังตัวละครสำคัญขยับ เริ่มจาก พิธา ที่ตัดสินใจโอนหุ้นไอทีวีไปให้ทายาทคนอื่นถือแทน เนื่องจากกลัวขบวนการฟื้นคืนชีพไอทีวีให้กลับมาเป็นสื่อ หลังมีข่าวว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาคดีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีฟ้องร้องกับไอทีวี   

    ในมุมที่ พิธา กลัวคือ หากไอทีวีชนะคดีขึ้นมา กลัวความเป็นสื่อจะกลับมาด้วย ฉะนั้น จึงรีบทำความสะอาดตัวเองด้วยการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม   

    แต่การตัดไฟแต่ต้นลมนี้ นักวิชาการหลายคนออกมาให้ความเห็นเป็น 2 มุมคือ เพื่อเซฟตัวเองให้ปลอดภัย กับเปล่าประโยชน์เพราะความผิดสำเร็จแล้ว  

    แต่นั่นเป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการ เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่จะให้คำตอบเรื่องนี้ได้คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลยุติธรรม 

    โดยเมื่อกลางสัปดาห์ กกต.เริ่มขยับในเรื่องนี้เหมือนกันหลังจากนิ่งมานาน โดยได้มีการประชุม กกต.ได้มีการพิจารณากรณีสำนักงาน กกต.รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องขอให้ตรวจสอบว่า พิธามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 42 (3) พระราชบัญญัติประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นไอทีวีหรือไม่   

    คำร้องดังกล่าวเป็นของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้ตรวจสอบว่า พิธา เข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่   

    โดยในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุม กกต.เห็นว่า สำนักงาน กกต.ยังเสนอรายละเอียดไม่ครบถ้วน จึงให้ไปดำเนินการให้ครบถ้วน และเสนอกลับมาที่ประชุม กกต.โดยเร็วที่สุด       

ต่อมาอีกไม่กี่วัน เมื่อวันศุกร์เรื่องเขยิบไปข้างหน้ามากขึ้น เมื่อ กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องที่บรรดานักร้องเคยร้องเอาไว้ แต่ที่น่าสนใจคือ กกต.เห็นว่า ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์มีหลักฐานพอสมควร และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไป ว่า พิธา เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม แต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42 (3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงดำเนินการไต่สวน ซึ่งเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏ

ซึ่งการไต่สวนในมาตรา 151 นี้ถือว่าแรงมาก เพราะเป็นคดีอาญาและมีโทษหนัก โดยมาตราดังกล่าวระบุว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี" 

อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลาการไต่สวนค่อนข้างนาน ขณะที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ระบุว่า อาจจะต้องรับรองความเป็น ส.ส.ของ พิธา ไปก่อน  

    อย่างไรก็ดี แม้ กกต.จะกล้ารับรองความเป็น ส.ส.ของ พิธา ไปก่อน แต่หากคดียังไม่สิ้นสุด ซึ่งเรื่องอาญาค่อนข้างใช้เวลานาน พิธา เองจะลำบาก เพราะมันจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นำมาประกอบการตัดสินใจที่จะไม่ยกมือให้ได้ ในเมื่อมันยังคลุมเครืออยู่   

    เป็นการเพิ่มอีกปมให้ชื่อของ พิธา ฝ่าด่านยาก เฉพาะของเก่าเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือว่าสาหัสอยู่แล้วที่ ส.ว.ประกาศไม่ยกมือให้

    แล้วระหว่างทางเดินก่อนถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี ยังไม่รู้ว่า พิธา จะเจออะไรอีกบ้าง หลังช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มเห็นปฏิบัติการขุดคุ้ยเรื่องในอดีตที่ไม่ชอบมาพากล หรือไม่สง่างาม ออกมาสู่สาธารณะหลายเรื่อง  

    โดยเฉพาะกรณี โอนไว หลังมีการเปิดรายงานตรวจสอบบัญชี "ธุรกิจน้ำมันรำข้าว" ให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกันในช่วงที่พิธาเป็นกรรมการบริษัท กว่า 117 ล้านบาท แต่กลับไม่มีการชำระหนี้คืนให้แก่บริษัทแต่อย่างใด

    หรือกรณีการหยิบประเด็นโปสเตอร์การ์ตูนของพรรคก้าวไกล ที่ปรากฏรูปค้อนเคียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ มาร้องเรียนให้ กกต.ตรวจสอบอีก

    ไหนจะเรื่องร้อนอย่างการจัดกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ที่จัดอภิปรายเรื่องการกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานี ที่มีการทำแบบสอบถามความเห็นที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ซึ่งในพรรคร่วมและพรรคก้าวไกลถูกจับโยงเข้าไปด้วย 

ขวากหนามของ พิธา โผล่กลางทางเพียบไปหมด!  

    และเชื่อขนมกินได้ว่า ระหว่างนี้น่าจะมีการแฉกันไปมาอีกหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องแม้แต่เจ้าตัวเองอาจจะยังไม่รู้ หรือนึกไม่ถึงเลยด้วยซ้ำ     

    ยิ่ง พิธา มีมลทิน มัวหมอง หรือคลุมเครือมากเท่าใด ข้ออ้างของฝ่ายที่จะไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลยิ่งมีมากเท่านั้น    

    การเมืองไทยนั้นโหดร้าย ยิ่งเมื่อยืนอยู่ในจุดนี้ อย่างไรต้องยอมรับสภาพ มิอาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นเรื่องที่พิธาต้องรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเจออะไร  

    บทเรียนของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และบทเรียนการยุบพรรคอนาคตใหม่ในอดีต มันควรจะเป็นภูมิคุ้มกันในการทำผิดพลาดอีกครั้ง   

    และในเมื่อรู้ว่าจะมี "นิติสงคราม" เหตุใดจึงไม่ระมัดระวังตัว ไม่ทำอะไรที่คาบลูกคาบดอก ปล่อยให้มีเรื่องต้องตีความ พาตัวเองไปอยู่ในแดนสังหาร  

    รู้ทั้งรู้ แต่ยังมั่นใจ แล้วมันควรต้องโทษใคร!   

    และหากนี่คือเกมการเมือง การที่พรรคก้าวไกลต้องเดินอย่างยากลำบาก มีอุปสรรคขวากหนามมากตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จสิ้น เหล่านี้ล้วนเกิดจากข้อจำกัดที่ตัวเองสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น  

    พรรคก้าวไกลเจอปัญหาเรื่องการรวบรวมเสียงให้ได้ถึง 376 เสียง ณ ปัจจุบันขาดอยู่ประมาณ 63 เสียง ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายพรรคเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ ส.ว.หลายคนจะไม่ยอมโหวตให้  

    ครั้นจะไปพึ่งเสียง ส.ส.มาช่วย เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. มีปัญหาอีกว่าพรรคก้าวไกลเคยประกาศระหว่างหาเสียงเลือกตั้งเอาไว้ว่า มีเราไม่มีลุง ทำให้ตัดเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐออกไปโดยอัตโนมัติ  

    รวมถึงกรณีของพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มีการไปดีลมาร่วมรัฐบาล แต่เมื่อเจอด้อมส้มคัดค้านหนัก เพราะเคยโหวตให้บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งก่อน ทำให้ต้องกลับลำ โบกมือลาพรรคชาติพัฒนากล้า จนเสียความน่าเชื่อถือในทางการเมือง  

    ซึ่งมันยังเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่า เมื่อไม่เอาพรรคชาติพัฒนากล้าที่เคยโหวตให้บิ๊กตู่ นั่นหมายความว่าจะไม่เอาพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนาด้วยเช่นกัน   

    พรรคก้าวไกลเล่นปิดทางตัวเองหมด!  

    นอกจากนี้ การเชื่อมั่นในตัวเอง โดยการเสนอชื่อ พิธา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวของพรรค ทำให้ถูกต้อนเข้ามุมได้ง่าย   

    เพราะหาก พิธา ต้องตกสวรรค์ในคดีถือครองหุ้นสื่อ หรือเจออุบัติเหตุอื่นๆ หรือไม่ได้รับเสียงโหวตจาก ส.ว. พรรคก้าวไกลไม่มีแผนสองเลย   

    เมื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลไม่สามารถฝ่าด่านไปได้ และมีเพียงคนเดียว มันจึงเป็นเรื่องง่ายต่อการสกัดกั้น     

    ทันทีที่รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลไม่ผ่าน ไม่ว่าจะลองกี่ครั้งๆ หรือต้องตกสวรรค์เพราะคดีความ สิทธินั้นมันจะไปเป็นของพรรคเพื่อไทยโดยอัตโนมัติ โดยที่พรรคเพื่อไทยแค่นั่งอยู่เฉยๆ ทำตัวเป็นมิตรสหายที่ดี   

    ท่าทีของพรรคเพื่อไทยนั้นชัดคือ ไม่แย่งพรรคก้าวไกล เว้นเสียแต่ว่าพรรคก้าวไกลจะประเคนให้เอง เพราะตัวเองไม่เหลือตัวละครอื่นแล้ว  

    และพรรคเพื่อไทยคงไม่ทิ้งพรรคก้าวไกลเช่นกัน ต่อให้ได้สิทธิในการรวบรวมเสียง เพียงแต่พรรคก้าวไกลจะรับวิธีการของพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่เท่านั้น เพราะหากจะไม่พึ่ง ส.ว.เลย พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องไปเปิดดีลกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่พรรคก้าวไกลเคยไม่เอา   

    หากพรรคก้าวไกลรับไม่ได้ เลือกเดินออกไป แบบนี้จะถือว่าพรรคเพื่อไทยทิ้งมิตรสหายหรือไม่?  

    ฉะนั้น ทางที่มันแคบลงล้วนมาจากพรรคก้าวไกลสร้างขึ้นมาทั้งนั้น   

    แล้วที่สำคัญ ล็อกต่างๆ เหล่านี้ คนอื่นสามารถปลดง่ายทั้งหมด แค่เพียงเขี่ย พิธา ออกจากกระดานเพียงคนเดียวเท่านั้น ทุกอย่างก็จบ.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...

'ทักษิณ-โจ๊ก'ย่ามใจ! จุดจบเส้นทาง'สีเทา'

ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ เดินทางมาร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และ สส.ของพรรค ร่วมรับประทานอาหารกับนายทักษิณอย่างคึกคัก

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่