'พิธา-ก้าวไกล' ติดกับดักตัวเอง ได้เวลา 'เพื่อไทย' หักเหลี่ยมสลับขั้ว

เป็นไปตามคาดสำหรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้รับเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่้งของสมาชิกทั้งหมดของสองสภา

ทำให้ไปนายพิธาไปไม่ถึงฝั่งฝัน ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย 

โดยที่ประชุมเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง ในส่วนของ ส.ว.ที่ลงคะแนนเห็นชอบ มีเพียง 13 คนเท่านั้น จาก ส.ส.ทั้งหมด 249 คน โดยมี ส.ว.ลาการประชุม 33 คน ทำให้เหลือ ส.ว.ที่เข้าร่วมประชุม 216 คน ซึ่งปรากฏว่าในการลงมติ มี ส.ว.ที่ขานชื่อลงมติเพียง 205 คนเท่านั้น แสดงว่ามี ส.ว.อีก 11 คนที่ไม่ได้ลาประชุม แต่ไม่ยอมร่วมลงมติใดๆ ส่วนการลงคะแนนของ ส.ส.ลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ไม่มีแตกแถว

ประเด็นที่ประชุมรัฐสภา โดย ส.ว.และ ส.ส.อภิปรายท้วงติง นายพิธา-พรรคก้าวไกล มากที่่สุดก็คือ การแก้ไข ป.อาญา ม.112 ซึ่งแนวทางของก้าวไกลปรับโทษลงมาต่ำมาก จากเดิมมาตรา 112 ระบุว่า ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ราชวงศ์ ต้องถูกลงโทษจำคุก 3-15 ปี เหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี และโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท พระราชินีและรัชทายาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

จึงมองว่าไม่ได้เป็นการแก้ไข แต่กำลังจะยกเลิกมาตรา 112 จะมีผลใหญ่หลวงจากความผิดในความมั่นคงของรัฐ กลายมาเป็นความผิดในระนาบบุคคลธรรมดา และไม่เชื่อว่าจะเป็นการรักษาเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่ได้อย่างสมพระเกียรติตามที่อ้าง

ภายหลังการลงมติ นายพิธา ให้สัมภาษณ์ว่า ผลที่ออกมา เรายอมรับ และจะไม่ยอมแพ้ หลังจากนี้เราก็จะหาเวลาคิดยุทธศาสตร์เพื่อรวบรวมเสียงในการโหวตครั้ง และจะไม่ยอมถอยการแก้ไขมาตรา 112 นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็ยืนยันจะไม่ลดเพดานเรื่อง ม.112 เช่นกัน

ส่วนการโหวตรอบ 2 จะเสนอชื่อนายพิธาได้อีกหรือไม่ นายประพันธุ์ คูณมี ส.ว. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ที่กำหนดว่า "ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติซึ่งยังไม่มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานสภาอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป" และ รธน.มาตรา 272 วรรคสอง หากจะปลดล็อกต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา และต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสองสภา หรือ 500 เสียง 

จึงต้องจับตา ประธานรัฐสภานัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค.2566 เวลา 09.30 น. โดยมีเรื่องเสนอใหม่คือ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272  คงจะต้องมีการถกเถียงกันดุเดือดแน่ และหากต้องโหวตว่าจะเสนอชื่อนายพิธารอบสองได้หรือไม่ ก็เชื่อว่าไม่ผ่านแน่นอน

ขณะเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ซึ่งเปรียบเสมือน ผู้นำทางจิตวิญญาณของด้อมส้ม เสนอแนะให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. หากพวกเขายังไม่ยอมอีก ก็ถอยมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ยอมเป็น "แกะดำ” ของการเมืองไทย ในวันนี้ แล้วอดทนรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เส้นแบ่ง “ใหม่/เก่า” และขั้วขัดแย้งในการเมืองไทย ชัดขึ้นกว่าเดิม แหลมคมกว่าเดิม เมื่อ 14 ล้านยังไม่พอในวันนี้ ต้องทำให้ได้ถึง 20 ล้าน 25 ล้านในวันพรุ่ง!!!

ต่อมานายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคฯ พร้อมด้วย ส.ส.ก้าวไกล เข้ายื่นหนังสือร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ต่อประธานสภาฯ ซึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคืนอำนาจการเลือกนายกฯ ให้กับประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกกันว่าปิด สวิตช์ ส.ว.

นายชัยธวัช กล่าวยืนยันว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งต่อไป ก็จะยังเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ ต่อไป ขณะเดียวกันยังต้องเดินหน้าประสานกับ ส.ว.เพื่อขอคะแนนเสียง พร้อมกันนี้ก็จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. คู่ขนานไปกับการโหวตนายกฯ    

แต่พรรคเพื่อไทย โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองเรื่องนี้ว่า "เรื่องการแก้ไขมาตรา 272 พรรคเพื่อไทยเคยยื่นแก้ไขแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ผ่านการพิจารณาในรัฐสภา"

และหากย้อนไปในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งพรรคการเมืองและภาคประชาชนได้เสนอปิดสวิตช์ ส.ว.มาแล้วถึง 5 ครั้ง แต่ก็ไม่เคยผ่าน เพราะต้องอาศัย ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ร่วมลงมติด้วย

สำหรับการโหวตอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. นายประเสริฐบอกว่า "หากไม่มีข้อมูลใหม่หรือไม่มีอะไรเพิ่มเติม ตนคิดว่าาการโหวตน่าจะเป็นลักษณะใกล้เคียงกับวันที่ 13 ก.ค. คงไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก"

ส่วนการหารือระหว่างแกนนำพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล ก็ยังไม่สรุปว่าจะเสนอชื่อนายพิธาให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้เป็นนายกฯ อีกครั้งหรือไม่ จึงต้องรอความเห็นจากที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อน

จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจ พรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อนายพิธารอบ 2 โดยไม่ลดเพดานแก้ ม.112 และยังเสนอแก้ ม.272 ปิดสวิตช์ ส.ว. พร้อมกับเดินหน้าขอเสียง ส.ว.หนุนนายพิธาเพิ่ม จึงเป็นเรื่องย้อนแย้งตัวเอง พอๆ กับจิกหัวด่า ส.ว.มาตลอด เสนอ ปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ให้มีอำนาจเลือกนายกฯ แต่กลับกดดันให้ ส.ว.เลือกนายพิธาเป็นนายกฯ?

หากใครเห็นต่าง ไม่เห็นด้วยกับพวกตัวเองก็ต้องเจอทัวร์ลง ยกพวกไปถล่มด่าในโซเชียลมีเดียด้วยถ้อยคำหยาบคาย ส.ว. ส.ส.ที่ไม่โหวตให้นายพิธา ก็เผยแพร่ชื่อประจาน แถมไปขุดชื่อบริษัทธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาปลุก ด้อมส้ม ไม่ให้การสนับสนุนด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรม ล่าแม่มด ที่พวกตัวเองเคยกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม แต่กลับทำเสียเอง   
ทำให้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวเตือนว่า ขณะนี้ ส.ว.หลายคนกำลังรวบรวมหลักฐานที่มีบุคคลอื่นมาบูลลี่ตนเองและครอบครัว เพื่อแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเฉพาะในการประชุมรัฐสภา ในการลงมติโหวตเลือกนายกฯ เพราะถือเป็นการคุกคาม ซึ่งถือว่าเลวร้ายกว่าในอดีต เป็นวิธีการที่สกปรก ชั่วช้า และเลวทราม ขอเตือนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่จะไปคุกคามคนอื่น

แกนนำก้าวไกลก็รู้ตัวเองดี โดยยอมรับกับนักข่าวเป็นการภายในว่า ส.ว.โหวตให้ไม่ถึง 64 เสียง แต่กลับประโคมข่าวผ่านสื่อว่าการประสานงานกับ ส.ว.เป็นไปด้วยดี และได้เสียงครบแล้ว สร้างกระแสว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นชอบโหวตให้นายพิธา พอผลโหวตออกมา นายชัยธวัช ก็โทษว่า "กระแสกดดัน ส.ว.ในช่วงโค้งสุดท้าย มีทั้งการข่มขู่และกระแสข่าวการให้เสนอผลประโยชน์ต่างๆ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ ส.ว.หลายคนเปลี่ยนใจ" และก็รู้ดีว่าการเสนอแก้ ม.272 เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

การขับเคลื่อนของแกนนำก้าวไกล-ก้าวหน้า จึงเป็นไปเพื่อสร้างเงื่อนไขปลุกมวลชนให้มาโอบล้อมตัวเอง สร้างความชอบธรรมในการนำม็อบลงถนน ปลุกความเกลียดชัง กลุ่มอนุรักษนิยม มากกว่าเดิม เพื่อเป้าหมายที่ไกลกว่าการเป็นรัฐบาล ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่ให้เหมือนเดิมนั่นเอง

และก็คงประเมินได้ว่า หากจะลดเพดานแก้ ม.112 ลง ส.ว.ก็ไม่โหวตให้อยู่ดี เพราะ ส.ว.และ กลุ่มอนุรักษนิยม มองว่าก้าวไกลมี ชุดความคิด ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งนโยบายด้านอื่นๆ ที่กระทบต่อความมั่นคง เช่น ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการปลุกปั่นให้มีความคิดแบ่งแยกดินแดน

ส่วนเรื่องคุณสมบัติของนายพิธา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง จากกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี หากศาลรับคำร้องก็สามารถสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งรับคำร้องกรณีนายพิธา-พรรคก้าวไกล หาเสียงแก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครองอีกด้วย

นอกจากนี้ นายพิธายังมีปัญหาส่วนตัว การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ การขายที่ดิน หลบเลี่ยงภาษี การไซฟอนเงินบริษัทตัวเอง ทำให้ญาติพี่น้องต้องแบกหนี้แทน เป็น วิบากกรรม ของตัวเองที่ต้องตามชี้แจงแก้ไขอีกยาว

เท่ากับว่า พิธา-ก้าวไกล สร้างกำแพงเป็นกับดัก กักขังตัวเอง ไร้พันมิตรทางการเมือง จนขยับไปต่อได้ยาก

ส่วนการขับเคลื่อนของพรรคเพื่อไทย เป้าหมายแรกวางไว้คือ ประธานสภาฯ ต้องไม่ให้ก้าวไกล แม้ช่วงแรกจะมีกระแสว่าเพื่อไทยวางตัว นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธานสภาฯ แต่สุดท้ายพลิกเกมไปเสนอชื่อ นายวันนอร์ แทน โดยไม่มีเสียงคัดค้าน ซึ่งถือว่าเพื่อไทยบรรลุเป้าที่ขวางก้าวไกลนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ได้สำเร็จ 

ส่วนเก้าอี้นายกฯ แม้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ยังหนุนนายพิธานั่งนายกฯ แต่ตนเองก็บอกว่าไม่แน่ใจว่าจะเสนอชื่อนายพิธารอบสองได้หรือไม่ และก็เชื่อว่าผลจะออกมาไม่ต่างจากเดิม แต่ก็เล่นเกมประชาธิปไตยไปให้สุดๆ เมื่อ นายพิธา-ก้าวไกล ติดกับดัก จนสังคมเชื่อว่าไปต่อไม่ได้แล้ว เพื่อไทยก็อ้างความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

โดยสลับขั้วไปจับมือกับฝั่ง 188 เสียง หนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯ ตาม ดีลลับ ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประวิตรคุมเสียง ส.ว.ได้ แล้วโหวตให้จนครบ 375 เสียง 

ส่วน ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศจะกลับบ้านในเร็วๆ นี้ มองออกว่าหากจะจับมือกับก้าวไกลคงไม่ได้กลับแน่ จึงต้องพึ่งพา กลุ่มอนุรักษนิยม เพื่อเปิดทางให้ตัวเองได้กลับบ้านอย่างสะดวกและปลอดภัย

หากจะถูกมองว่าเป็นการจับมือกับฝ่ายเผด็จการ คสช. แต่ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) วางมือทางการเมืองไปแล้ว เท่ากับปลดล็อก เปิดทางให้จับมือร่วมรัฐบาลกันได้โดยสะดวก 

จึงเห็นว่าเพื่อไทยเดินเกมอย่างรัดกุม รอจังหวะซุ่มหาโอกาส หักเหลี่ยม สลัดก้าวไกลออกไป แล้วเดินหน้าเอาชนะ ก้าวไกล-ด้อมส้ม ในระยะยาว

เพื่อไทย-ก้าวไกล จึงถึงเวลาที่จะแยกทางกัน หลังเล่นเกมสองหน้าหลอกกันเองมาตลอด!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคาต์ดาวน์สว.5ปีอำลาเก้าอี้ จับตาเลือกตะลุมบอนรอบใหม่

เคาต์ดาวน์สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 11 พ.ค.นี้ บางคนบอกลากันทีชุดลากตั้ง ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ให้กำเนิด และมาพร้อมกับอำนาจพิเศษที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

'เศรษฐา' อวดคนอีสาน 10 เดือน ผลงานเพียบ ไตรมาส 4 ได้เงินหมื่นแน่

นายกฯ พบชาวหนองพอก อวดผลงาน 10 เดือน ราคาพืชผลการเกษตรดี ยันเร่งแก้ปัญหาน้ำประปา ปราบหนี้นอกระบบให้หมด ย้ำ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ไตรมาส 4 ได้แน่

นายกฯ ปลื้ม! คนร้อยเอ็ดเชียร์นั่ง 2 สมัย 'พระอาจารย์ต้อม' มอบของขลัง

'เศรษฐา' ลุยต่อร้อยเอ็ด กราบนมัสการ 'พระอาจารย์ต้อม' ให้พรประสบความสำเร็จ มอบพระเครื่อง 'เสาร์ 5 ร้ายกลับดี' รับปากเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม - ยาเสพติด ขณะชาวบ้านเชียร์นั่งนายกฯ 2 สมัย