ดิจิทัลวอลเล็ต-แรงต้านสูง เดิมพันการเมือง'เศรษฐา-พท.' ถอยไม่ได้ เดินหน้าบนความเสี่ยง!

หมุดหมายสำคัญในการบริหารประเทศที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ประกาศมาตลอด หลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ และ รมว.การคลัง อย่างเป็นทางการเมื่อ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ก็คือจะต้องทำให้เศรษฐกิจ-จีดีพีประเทศไทยเติบโต 5 เปอร์เซ็นต์ตลอด 4 ปีของอายุรัฐบาลหลังจากนี้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้หลังเกิดเหตุเยาวชนอายุ 14 ปี ก่อเหตุยิงนักท่องเที่ยวและประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย คือ การท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบตามมา

โดยเฉพาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดใหญ่ของการท่องเที่ยวประเทศไทย หลังนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ในเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลเศรษฐาประชุม ครม.นัดแรก ก็ออกมาตรการวีซ่าฟรีให้กับประเทศจีนทันที

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ-กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต้องเทกแอกชันอย่างหนัก เพื่อไม่ให้ตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทย คือนักท่องเที่ยวจีน ผละหนีไม่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้ที่เป็นช่วงสำคัญที่สุดของการท่องเที่ยวทั่วโลก

เพราะแน่นอนว่า หากเครื่องยนต์เศรษฐกิจเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวหลุดจากเป้าที่รัฐบาลคาดหวังไว้ ย่อมมีผลกระทบต่อเป้าหมายที่ เศรษฐา ปักธงไว้มาตลอด เศรษฐกิจ-จีดีพีประเทศต้องโตปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ตลอด 4 ปีของอายุรัฐบาล

อย่างเช่นที่ เศรษฐา ประกาศไว้เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างการไปมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 กับหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐที่เมืองทองธานี เมื่อ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา

เป้าหมายของผม ชัดเจนครับ ด้านเศรษฐกิจ คือการทำให้ GDP ของประเทศโตเฉลี่ย 5% ตลอด 4 ปีนี้”

เมื่อเจอสถานการณ์แทรกซ้อนจากเหตุที่สยามพารากอน ทำให้ หลังจากนี้ต้องรอดูว่าเศรษฐาและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล จะนำพาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

และสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดก็คือ เศรษฐา-พรรคเพื่อไทย ยังไงถึงตอนนี้ยืนยันจะเดินหน้านโยบาย

ดิจิทัลวอลเล็ต-10,000 บาท

ให้กับประชาชนคนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการภายในไตรมาสแรกของปี 2567 หรืออาจจะเป็น 1 ก.พ.2567 นี้เลย แม้พบว่าเสียงคัดค้าน-แรงต้านจะเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งเหตุที่ เศรษฐา-เพื่อไทย ถอยไม่ได้ เพราะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตกลายเป็น เดิมพันการเมือง ของเศรษฐาและเพื่อไทยไปแล้ว หลังประกาศหลายครั้งว่าจะต้องทำให้ได้ และจะโอนเงินแบบล็อตเดียวได้ทุกคน คนละหนึ่งหมื่นบาท ใช้งบประมาณดำเนินการ 560,000 ล้านบาท

การที่ เศรษฐา-พรรคเพื่อไทย เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ชนิดไม่สนใจเสียงทักท้วงใดๆ หากจับชุดความเชื่อของเศรษฐาและทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย คงเพราะมั่นใจว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วแบบพายุหมุน และไม่ได้หมุนแค่รอบเดียว แต่จะหมุนหลายรอบ จนทำให้เศรษฐกิจ-จีดีพีประเทศโต 5 เปอร์เซ็นต์นั่นเอง

มันจึงทำให้ธงการเดินนโยบายดังกล่าวของเศรษฐาและเพื่อไทย เมื่อประกาศไปแล้วว่าไม่มีถอย จึงต้องโบกสะบัดต่อไป

เห็นได้จากที่เศรษฐาแสดงความเชื่อมั่นดังกล่าวไว้ที่เวทีมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณฯ เมื่อ 2 ต.ค.ที่ผ่านมาเช่นกัน ที่ระบุตอนหนึ่งถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า

การฟื้นฟูรายได้ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในต้นปี 2567 จะมีเงินอัดฉีดเข้าไปในเศรษฐกิจด้วยกรอบประมาณ 560,000 ล้านบาท นโยบายนี้จะแตกต่างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไม่ถึงทุกพื้นที่ ไม่ถึงทุกชุมชน กล่าวคือเป็นการกระตุ้นฝั่ง Demand หรือกระตุ้นอุปสงค์ ความต้องการเป็นหลัก แต่การกระตุ้นฝั่ง Demand อย่างเดียวจะทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ไม่เท่าเทียม เพราะ Demand ที่มากขึ้นก็จะวิ่งเข้าหาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ได้กระจายไปยังชุมชน

ในครั้งนี้ เงิน 560,000 ล้าน ที่เข้าไปกระตุ้น Demand และจะขับเคลื่อนฝั่ง Supply หรืออุปทานให้โตขึ้น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่ได้รับคืนมาคือ ภาษีที่กลับคืนสู่ภาครัฐ การจำกัดการใช้จ่ายให้อยู่ในชุมชน จะทำให้เงินหมุนเข้าไปถึงระดับรากหญ้าก่อนเสมอ ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเศรษฐกิจนี้” (เศรษฐา-นายกฯ 2 ต.ค.2566)

สิ่งที่เห็นชัดก็คือ ถึงตอนนี้คงยากที่เศรษฐา-เพื่อไทยจะถอยในเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แม้จะมีบางฝ่ายเสนอแนะว่าจะทำก็ได้ แต่อาจทำแบบมีการวัดผลการดำเนินโครงการควบคู่ไป เช่น ทยอยให้เป็นงวดๆ อย่างรอบแรกให้ไปก่อนสามพันบาท เพื่อวัดประสิทธิผล แล้วรอบต่อไปก็ให้ไปเรื่อยๆ จนครบหนึ่งหมื่นบาท จะได้ประเมินได้ว่านโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งจะได้ไม่ต้องเร่งหางบประมาณมาทำโครงการ ที่ถึงตอนนี้ เศรษฐา-เพื่อไทย-กระทรวงการคลัง ก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะหาเงิน 560,000 ล้านบาทมาจากแหล่งใด ทว่าท่าทีของเศรษฐาก็ไม่ยอมที่จะถอยหรือกลับไปตั้งหลักใหม่ จุดใหญ่ก็เพราะคงไม่อยากเสียหน้าและเสียเครดิตรัฐบาล ถึงต่อให้คนทักท้วงจะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักวิชาการ-อดีตคนทำงานในแวดวงการเงินการธนาคาร อย่างเช่น วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เศรษฐาก็ยังประกาศเดินหน้าไม่มีถอย

ถือเป็นความคิดเห็นซึ่งเราก็ต้องฟัง แต่เรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของเรา ทั้งนี้เรารับฟังความคิดเห็นจากทุกท่าน แต่ก็มีเสียงจากประชาชนที่ถามว่าเมื่อไหร่จะมาเสียที ซึ่งเราก็ต้องรับฟัง”

และเมื่อสื่อถามย้ำว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทบทวนไม่แจกทั้งหมด นายกฯ กล่าวทันทีว่า “ไม่ครับ เป็นไปไม่ได้ครับ”

ทิศทางล่าสุดพบว่า แรงต้าน-เสียงทักท้วงต่อการที่เศรษฐา-เพื่อไทยจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ เสียงบริสุทธิ์ ที่ไม่ใช่ นักการเมือง-พรรคการเมือง ที่ออกมากระตุกรัฐบาลเพื่อไทยให้คิดให้รอบคอบก่อนจะเดินหน้าทำนโยบายดังกล่าว ที่อาจจะสร้างปัญหาในอนาคต

นั่นก็คือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์-อดีตนักวิชาการ-อดีตผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ ที่ร่วมกันเคลื่อนไหวลงชื่อ ทำข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนการเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งล่าสุดพบว่ามีกลุ่มที่ร่วมลงชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยถึงช่วงสายวันเสาร์ที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็มีร่วม 117 คนแล้ว ที่ร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท เพราะ ได้ไม่คุ้มเสีย ที่มีผู้ร่วมลงชื่อ อาทิ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตรองอธิการบดีและรองคณบดีเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จากทีดีอาร์ไอ, ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

ที่พบว่าหลายคน เช่น รศ.ดร.สิริลักษณา-ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ -ดร.เมธี ครองแก้ว-ดร.นิพนธ์ ก่อนหน้านี้เคยออกมาเตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่เริ่มทำโครงการ รับจำนำข้าว ว่าให้ระวังการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน และทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ฟัง โดยอ้างว่าต้องทำตามที่หาเสียงกับประชาชนตอนเลือกตั้ง จนสุดท้ายเกิดปัญหาการทุจริตมากมาย และสร้างภาระหนี้สินหลายแสนล้านบาทจนถึงปัจจุบัน

สำหรับเหตุผลในการไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตดังกล่าวของกลุ่มนักวิชาการ-อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ ก็มีอาทิ ไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงไม่มีความจำเป็นที่จะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า-เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัด ย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งล้วนที่จะสร้างศักยภาพการเติบโตในระยะยาว แทนการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างหนี้สาธารณะให้เป็นภาระคนรุ่นหลัง-การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ "เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย" เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 560,000 ล้านบาท เข้าระบบเป็นการคาดหวังเกินจริง เป็นต้น

เมื่อ "เศรษฐา-เพื่อไทย” ยืนยันจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป สิ่งที่ต้องรอดูต่อจากนี้คือ การดำเนินการของรัฐบาลในจุดต่างๆ ภายใต้โจทย์ใหญ่สำคัญที่ต้องตอบให้ได้ก่อนก็คือ จะใช้เงินงบประมาณจากส่วนใดมาทำนโยบายดังกล่าว รวมถึงจะป้องกันความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่จะตามมาอย่างไร ซึ่งหากตอบไม่ได้ มันย่อมสร้างความกังวลใจให้กับประชาชนว่าเศรษฐาและเพื่อไทยกำลังพาประเทศไทยไปสู่ความเสี่ยงที่อาจมีผลรุนแรงตามมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อวดคนอีสาน 10 เดือน ผลงานเพียบ ไตรมาส 4 ได้เงินหมื่นแน่

นายกฯ พบชาวหนองพอก อวดผลงาน 10 เดือน ราคาพืชผลการเกษตรดี ยันเร่งแก้ปัญหาน้ำประปา ปราบหนี้นอกระบบให้หมด ย้ำ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ไตรมาส 4 ได้แน่

นายกฯ ปลื้ม! คนร้อยเอ็ดเชียร์นั่ง 2 สมัย 'พระอาจารย์ต้อม' มอบของขลัง

'เศรษฐา' ลุยต่อร้อยเอ็ด กราบนมัสการ 'พระอาจารย์ต้อม' ให้พรประสบความสำเร็จ มอบพระเครื่อง 'เสาร์ 5 ร้ายกลับดี' รับปากเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม - ยาเสพติด ขณะชาวบ้านเชียร์นั่งนายกฯ 2 สมัย

“อุ๊งอิ๊ง”เล่นใหญ่เกินเบอร์ ไล่ทุบ"แบงก์ชาติ"กระแสตีกลับ สงครามเย็น พท.-ธปท.จบยาก

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พาณิชย์ แกนนำรัฐบาลเพื่อไทย ออกมาดาหน้าปกป้อง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร-หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นการใหญ่ หลังโดนวิจารณ์-ถล่มเละ กรณี อุ๊งอิ๊ง เล่นใหญ่เกินเบอร์ ใช้เวทีอีเวนต์การเมืองของพรรคเมื่อ 3 พ.ค. อ่านโพยตามสคริปต์ที่คนเขียนมาให้ ด้วยการ อัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า