ทักษิณรุกคอนโทรล พท. ยิ่งขยับ ยิ่งเข้าทาง ก้าวไกล

การเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ เจ้าของพรรค-หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง วันอังคารที่ 26 มี.ค.นี้ ถ้าไม่มีการยกเลิกเสียก่อน แต่ก็พบว่า กระแสข่าวดังกล่าวค่อนข้างคอนเฟิร์มว่าทักษิณไปแน่

อ่านทางไว้ว่า ตัวทักษิณ-แกนนำพรรคเพื่อไทย คงระมัดระวังตัวพอสมควร กับทุกจังหวะก้าวย่างเมื่อไปปรากฏตัว ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย

ตัวทักษิณคงไม่ “ทิ้งไพ่โง่” ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงจะถูกร้องตามมาว่าทำผิด พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทย และลูกสาว อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตกม้าตายง่ายๆ ถ้ามีคนไปร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าพรรคเพื่อไทยทำผิด พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 28 และมาตรา 29 ที่มีเนื้อหาคือ

มาตรา 28 ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิก กระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

เพราะด้วยตัวทักษิณ เคยต้องคำพิพากษาในคดีอาญา-ทุจริตฯ ที่ตัดสินให้จำคุก อีกทั้งยังเคยถูกศาลฎีกาฯ สั่งยึดทรัพย์ จึงทำให้ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ ดังนั้นหากการไปที่พรรคเพื่อไทยของทักษิณ แล้วแสดงพฤติการณ์บางอย่างทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยง เช่น ไปกล่าวในที่ประชุม สส.พรรค ที่ส่วนใหญ่ก็จะประชุมกันทุกวันอังคารอยู่แล้วในช่วงบ่าย ถ้าแบบนี้ก็โดนร้อง กกต.แน่

แต่ก็เชื่อว่า ทักษิณ-แกนนำพรรคเพื่อไทยคงไม่ทำอะไรโง่ๆ ที่สุ่มเสี่ยงให้ถูกร้อง กกต. แม้ต่อให้จะคุยกันภายใน ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมบันทึกภาพ-สังเกตการณ์ เว้นแต่ทักษิณจะคุยแบบวงซูเปอร์วีไอพีของพรรคเพื่อไทย ที่มั่นใจได้ว่าไม่มีอะไรหลุดออกไปจริงๆ เท่านั้น

จึงทำให้คาดว่า การไปที่พรรคเพื่อไทยคงน่าจะเป็นลักษณะอีเวนต์การเมืองของทักษิณ ที่ต้องการอยากไปเห็นตึกที่ทำการพรรคเพื่อไทย-ห้องสมุดพรรคเพื่อไทย-มุมกาแฟในพรรคเพื่อไทย-ห้องประชุมพรรค-ห้องทำงานของอุ๊งอิ๊งที่พรรคเพื่อไทย เพื่อรำลึกความหลังทางการเมืองของตัวเอง เพื่อปลุกพลังการเมือง ที่จะทำทุกอย่างให้เพื่อไทยกลับมาเป็นพรรคการเมืองที่มีกระแสนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน

เพราะอย่างที่เห็น รัฐบาลเพื่อไทยโดยการนำของเศรษฐา ทวีสิน บริหารประเทศมา 7 เดือนแล้ว แต่ก็ยังสอบไม่ผ่านในความรู้สึกประชาชน ที่มองว่า เศรษฐายังไม่ใช่นายกฯ ตัวจริง อีกทั้งไม่มีผลงานที่จับต้องได้มากนัก ซึ่งหากสถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันสุ่มเสี่ยงที่เลือกตั้งรอบหน้าจะแพ้ให้กับก้าวไกลอีก แม้ต่อให้พรรคก้าวไกลโดนยุบพรรคจากศาลรัฐธรรมนูญแต่ก็จะมีพรรคใหม่สีส้มเกิดขึ้นมารับช่วงต่อ

จุดนี้ เห็นได้ชัดเจนจากผลโพลของ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ที่ออกมาล่าสุดเมื่อ 24 มี.ค.

ซึ่งในคำถามที่ว่า บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 42.75 ระบุว่าเป็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 20.05 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ 17.75 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 4 ร้อยละ 6.00 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

และเมื่อถามถึง พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 48.45 ระบุว่า พรรคก้าวไกล, อันดับ 2 ร้อยละ 22.10 พรรคเพื่อไทย, อันดับ 3 ร้อยละ 12.75 ระบุว่ายังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้

โพลที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า คะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ทั้งคะแนนพรรคและคะแนนตัวบุคคล คือ เศรษฐา กับอุ๊งอิ๊ง ตามหลังพรรคก้าวไกล-พิธาแบบห่างหลายช่วงตัว ทั้งที่เพื่อไทย-เศรษฐาเป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ ที่กุมอำนาจรัฐ สามารถใช้กลไกรัฐออกนโยบายหรือแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ทันที อีกทั้งตกอยู่ในโฟกัสการเมืองของสังคมมากกว่าก้าวไกลและพิธา แต่คะแนนนิยมของเพื่อไทย-เศรษฐากลับตามหลัง ก้าวไกล-พิธามากขนาดนี้

มันจึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นแล้วว่า สถานการณ์การยอมรับ-กระแสนิยมของประชาชนที่มีเพื่อไทยและเศรษฐา น่าเป็นห่วง เพราะยิ่งนานไปยิ่งถูกก้าวไกลทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ

ทำให้ทักษิณก็ต้องคิดวางแผนและเตรียมขยับ หลายจังหวัด เพื่อทำให้กระแสนิยมของเพื่อไทย-อุ๊งอิ๊ง-รัฐบาลตีตื้นขึ้นมาให้ได้

เชื่อได้ว่าอย่างไรเสีย ทักษิณคงรู้ตัวดีว่า การที่เขาขยับทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงต่อจากนี้ ว่าไปแล้วก็ไม่เป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทยเช่นกัน เพราะจะยิ่งทำให้สิ่งที่พรรคเพื่อไทยพยายาม “รีแบนด์” กันมาก่อนหน้านี้ เช่น เอาคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นกรรมการบริหารพรรคกันเกือบยกแผง รวมถึงพยายามผลักดันคนรุ่นใหม่ในพรรคให้มีบทบาทการเมืองทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ มากขึ้น ตลอดจนพยายามพรีเซนต์นโยบายหลายอย่างเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่-กลุ่มชนชั้นกลาง เช่น นโยบาย soft power ที่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

แต่สุดท้าย พอเจอเคสทักษิณที่ใช้เหลี่ยมคูทางกฎหมาย จนทำให้ไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว ซึ่งประชาชนหลายคนรับไม่ได้ แล้วมาตอนนี้ทักษิณขยับหนัก และขยับเข้ามาถึงพรรคเพื่อไทยมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นดีเอ็นเอทางการเมืองของทักษิณ

ที่ชอบเล่นบท เพลย์เมกเกอร์ทางการเมือง ที่ต้องคอนโทรลทางการเมืองทุกอย่างในมือ เสมือนพรรคการเมืองเป็นบริษัทจำกัด แล้วตัวเองเป็นซีอีโอ

สุดท้าย การรีแบรนด์พรรคเพื่อไทยที่คนในพรรคทำกันมา ก็วนลูป ไม่มีอะไรใหม่ เพราะยังต้องยึดติดกับทักษิณที่เป็นศูนย์กลางทุกอย่างของเพื่อไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ หรือแม้แต่คนที่อาจชอบเพื่อไทยแต่ไม่ใช่แบบแฟนพันธุ์แท้มากนัก ย่อมเห็นว่า เพื่อไทยสร้างภาพรีแบรนด์พรรคแต่สุดท้ายทำไม่ได้จริง ก้าวข้ามไม่พ้นทักษิณ ผลที่ตามมา คนกลุ่มนี้ก็จะยิ่งถอยห่างเพื่อไทย รวมถึงไม่ยอมรับในตัวรัฐบาล-นายกฯ เศรษฐาตามไปด้วย

การขยับทางการเมืองของทักษิณ แน่นอนว่ามันสร้างความฮึกเหิมให้กับ สส.-สมาชิกพรรค ว่านายใหญ่ที่เป็นศูนย์รวมทุกอย่างของเพื่อไทยกลับมาแล้ว แต่ทักษิณกับเพื่อไทยก็มีสิ่งที่ต้องจ่ายเช่นกันเมื่อคิดจะเล่นเกมนี้ โดยฝ่ายที่จะได้เก็บแต้มไป โดยเฉพาะระยะยาว ก็คือ พรรคก้าวไกล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

งบ68ทร.ซื้อเครื่องบินลำเลียง “เรือดำน้ำ-ฟริเกต”ไปถึงไหน?

ฟันธงกันว่าปิดจ๊อบปรับคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 2” ที่โรงแรมหรูกลางกรุงไปแล้ว โดยมี ทักษิณ ชินวัตร นั่งหัวโต๊ะคุยรอบสุดท้ายโดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ว่ากันว่า โผนี้ชื่อของ เกรียง กัลป์ตินันท์ กับ สุทิน คลังแสง ยังเหนียว

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่