หากรัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย อาจถือเป็นการเริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าต่อได้
พรรคประชาชน เสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ มีกรอบเวลาไม่เกิน 360 วัน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกำหนดกระบวนการให้มีการทำประชามติทั้งหมด 2 ครั้ง จากการอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ว่าไม่ขัดกัน
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน มองว่า เมื่อลองคำนวณตามไทม์ไลน์ระยะเวลาแล้ว หากที่ประชุมรัฐสภาไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมี ส.ส.ร.ในวาระ 1 ‘การที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ทันต่อการเลือกตั้งปี 2570 ก็จะเป็นไปไม่ได้เลย ถือว่าวันดังกล่าวจะเป็นโอกาสสุดท้าย’ ที่เราจะยังคงความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันต่อการเลือกตั้งครั้งถัดไป
พร้อมกดดันว่า “ปกติเราจะเห็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอร่างเข้ากฎหมายต่างๆ เข้ามาประกบด้วย แต่เรื่องนี้ เห็นเพียงแค่ร่างของพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าฝ่ายบริหาร หรือ ‘นายกรัฐมนตรี’ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ย่อมถูกคาดหวังให้รับผิดชอบงานของรัฐบาลในสภา คือการแก้กฎหมายในสภา และการโน้มน้าวเสียงในสภา ต้องออกมาช่วยกันอีกหนึ่งแรง เพื่อให้นโยบายเรือธงของรัฐบาลประสบความสำเร็จ และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาได้”
ขณะที่ พรรคเพื่อไทย วางเงื่อนไขห้ามการจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 พร้อมเสนอให้มี ส.ส.ร.จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และวาระที่สาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ย้ำจุดยืนของพรรคว่า “แม้จะทำได้ยาก แต่เราก็พยายามทำอยู่ ยืนยันว่า ควรทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นั้น ยังไม่ใช่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นเราจึงพยายามให้ความมั่นใจ สส.และ สว.ว่าสามารถดำเนินการได้ ไม่ขัดต่อหลักการกฎหมาย หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด”
“พรรคเพื่อไทยเขียนหลักการไว้กว้าง เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เพื่อให้มีบทบัญญัติเรื่องนี้ ไม่ใช่เอารายละเอียดของรูปแบบ ส.ส.ร.ไว้ในหลักการ หมายความว่า ไม่ว่าร่างดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาเข้าไปในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มากน้อยแค่ไหน แต่ก็สามารถปรับแก้เนื้อหารายละเอียดได้”
แม้แนวโน้ม สส.ทั้งพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย และ สว.บางส่วน ในกลุ่มพันธุ์ใหม่ จะดูเป็นไปในทิศทางเดียวกันในขั้นแรก
สอดคล้องความเคลื่อนไหวภาคประชาชน คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้เริ่มจัดกิจกรรมตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ผ่านการยื่นหนังสือถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก่อนจะร่วมเดินขบวนมายังรัฐสภา วันที่ 13 ก.พ.เพื่อติดตามการประชุม
แต่ท่าทีของ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยเฉพาะฝ่าย อนุรักษนิยม กลับสวนทาง เนื่องจากยังยืนยันตามแนวเดิมของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
อาทิ พลเอกสวัสดิ์ ทัศนา สว.ผู้กุมเสียงสีน้ำเงิน กล่าวถึงแนวโน้มที่ สว.จะโหวตเห็นชอบถึง 1 ใน 3 หรือไม่ ว่า "คงเสียงไม่ถึง เพราะค่อนข้างชัดเจนว่า เป็นการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะส่งผลกระทบกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยตรง ทางฝั่ง สว.เราคงไม่เห็นด้วย"
นายชาญวิศว์ บรรจงการ สว. มองว่า “กระบวนการทั้งหมดที่พวกเขาทำ ก็เหมือนกับเป็นเกมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ต้องถามประชาชนก่อน แต่คุณมาเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ ก็เหมือนเป็นศรีธนญชัย คือมาใช้วิธีเสนอแก้รายมาตรา”
อีกทั้งยังพบว่า “ไม่ได้เป็นการทำประโยชน์ให้กับประชาชนอยู่ดีมีสุขขึ้นมาเลย มีแต่ตอบสนองนักการเมืองบางพวกบางฝ่ายเท่านั้นเอง เช่นสุดท้ายจะไปยกเลิกมาตรฐานจริยธรรมนักการเมืองที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แบบนี้ตนไม่เอาด้วย”
ทำให้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเสนอผ่านไปทางวิปรัฐบาล ให้มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 210 วินิจฉัยว่า สามารถทำประชามติได้กี่ครั้ง เพื่อคลายความกังวลของสมาชิก เรื่องการทำประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง และป้องกันกรณีที่สมาชิกไม่กล้าพิจารณาโหวต
ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดเผย ภายหลังการหารือร่วมกับคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล วุฒิสภา และผู้แทนคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งเสียงข้างมากเห็นว่า “ควรบรรจุเข้าวาระการประชุม อีกทั้งยังได้ตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ว่าหากรัฐสภาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะต้องทำประชามติสอบถามประชาชน”
“จึงต้องบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาได้พิจารณาก่อนว่า ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากรัฐสภารับหลักการ ก็จะต้องชะลอกระบวนการทั้งหมดไว้ก่อน และส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้จัดการออกเสียงประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชน”
“ถ้า สส.คนใดต้องการจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 40 ชื่อ และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ว่าจะเห็นด้วยว่าให้ประธานรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ ซึ่งหากรัฐสภาเห็นด้วย ประธานรัฐสภาก็จะเสนอเรื่องให้ แต่จะต้องใช้เสียงเห็นชอบจากรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และหากคะแนนเสียงไม่ถึง ก็เดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อได้”
ต้องติดตามกันต่อว่า ผลการลงมติจะเป็นไปในทิศทางใด เนื่องจากตามข้อกำหนดในกฎหมาย ยังจำเป็นต้องได้ความเห็นชอบจาก สว.ในวาระ1 และ 3 อย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือ 67 คนด้วย
หาก ‘สายสีน้ำเงิน’ ไม่ให้ความร่วมมือ ก็อาจทำให้ความพยายามแก้ไขครั้งนี้สะดุดลง วนกลับไปสู่จุดตั้งต้นอีกครั้งอยู่ดี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ทักษิณ’โวยใส่ฝ่ายค้าน ทิ้งปริศนาสายสัมพันธ์ ‘ผู้ก่อตั้งพรรคส้ม’
ต้องไปตามลุ้นกันอีกในสัปดาห์นี้ พุธที่ 19 มีนาคม ว่าสุดท้ายผลการเจรจาพูดคุยระหว่างแกนนำพรรคฝ่ายค้าน-วิปรัฐบาล เรื่องกรอบเวลาในการ
‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ พายุ(ไม่)หมุน เข็น ‘เฟส3’ แจกวัยรุ่นฝ่าเสียงค้าน
“พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” พายุที่รัฐบาลคาดหวังจาก “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” หรือโครงการแจกเงินหมื่น ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร
แดน 5 ปลายทางชีวิต 'ผู้กำกับโจ้' หลายเงื่อนงำรอ 'ความจริงเปิดเผย'
การเสียชีวิตของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ ห้องในหมายเลข 50 แดน 5 เรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2568 เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจและความสงสัยอย่างมากในสังคม กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมได้ชี้แจงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ ผู้กำกับโจ้ ดังนี้
‘ปชน.’ (ดื้อ) ไม่ถอดชื่อ ‘ทักษิณ’ ดึงเกมสภา ขอวันอภิปรายเพิ่ม?
จากข้อพิพาทการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือ ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ ภายหลัง ‘พรรคร่วมฝ่ายค้าน’ ใส่ชื่อ ‘นายใหญ่’ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะบิดา เพื่อซักฟอก ‘นายกฯ อิ๊งค์’ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นลูกสาว แต่เพียงผู้เดียว
“ไม่มีตัวปลอม”ในเวทีเจรจา เหตุใดไปไม่ถึงโจทย์ดับไฟใต้?
เหตุการณ์รุนแรงที่หน้าที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 2 ราย ยังไม่นับเหตุการณ์ในจุดอื่นที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกหลายราย
ปธ.สภาฯดับเครื่องชนฝ่ายค้าน สัมพันธ์ลึก ทักษิณ-วันนอร์ กับดีลการเมือง"เจ้าสัว"คนดัง
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาให้สัมภาษณ์ 2 รอบย้ำชัดๆ ฝ่ายค้านต้องแก้ไขเนื้อหาใน ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี