คอการเมืองวันนี้ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษเสียหน่อย กับเหตุการณ์ที่รัฐสภามีประชุมร่วมรัฐสภา โดย สส. สว.ประชุมด้วยกันในวันนี้ และอีกวันคือ วันที่ 14 ก.พ. พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.....จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับของพรรคเพื่อไทย (พท.) และฉบับของพรรคประชาชน (ปชน.) ในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ
ย้ำป้องกันการลืมอีกรอบ สมาชิกรัฐสภาจะพิจารณาแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเพิ่มใหม่หมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนหลายคนจะทราบแล้วว่า การถกเถียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เกิดปัญหาขึ้น อันเนื่องจากการเช็กเสียงแต่ละ สส. สว.แล้ว จะได้คะแนนเห็นชอบไม่ตรงตามที่มาตรา 256 กำหนดไว้
กล่าวคือ มาตราดังกล่าวระบุไว้ชัดว่า ในญัตติขอการแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นรับหลักการนั้น 1.ต้องได้คะแนนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา
2.ในจำนวนนี้ยังต้องมี สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ 67 เสียง
ลำพังเงื่อนไข ข้อที่ 1 เพียงแค่นับมือของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนร่วมกันก็ผ่านเกณฑ์ได้อย่างง่ายๆ แต่ปัญหาอยู่ที่เงื่อนไขข้อที่ 2 คือ สว. 67เสียง แนวโน้มสูงว่าจะได้รับเสียงจากส่วนนี้ไม่ครบ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น นั่นหมายความว่าปิดประตูตายการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที แล้วค่อยว่ากันใหม่ในสมัยประชุมต่อไป เท่ากับว่าสิ่งที่หลายพรรคหาเสียงไว้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยล้มเหลว ทำไม่ได้เหมือนที่ประกาศลั่นและสัญญาต่อหน้าประชาชน
แต่ด้วยมันสมองของนักการเมืองไทยมีอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชงประเด็นให้สมาชิกรัฐสภาทำเรื่องยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ตามมาตรา 210 ว่าสามารถทำประชามติได้กี่ครั้ง
เพราะจุดปวด PAIN POINT ของเรื่องดังกล่าว อยู่ที่ก่อนนี้หน้าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเกี่ยวกับการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติจากประชาชนเสียก่อน ทว่าในครั้งนั้นแต่ละพรรค แต่ละคนตีความไม่เหมือนกัน
บางคนว่าต้องทำถึง 3 ครั้ง คือ 1.ก่อนพิจารณาวาระที่หนึ่ง 2.หลังผ่านวาระที่สาม และ 3.หลังยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว บางคนว่าทำแค่ 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว คือหลังผ่านวาระที่สาม และหลังยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ
มิหนำซ้ำ สภาผู้แทนราษฎรเคยยื่นเรื่องสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วด้วย ว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง แต่ศาลเห็นว่าไม่มีหน้าที่ที่จะตอบ เพราะยังไม่เกิดปัญหา ที่สำคัญเป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการไปหารือกัน ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าบรรจุวาระเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีก
ต่อมามีข้อมูลเปลี่ยนแปลง โดย “พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ที่ได้รับมอบหมายจากพรรคให้เป็นโต้โผรับผิดชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมาเปิดเผยว่า จากการไปพบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับอ่านคำวินิจฉัยส่วนบุคคล พบว่าทำประชามติเพียง 2 ครั้งได้ จึงทำให้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ยอมบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งจะได้พิจารณากันวันนี้และพรุ่งนี้ (14 ก.พ.)
ไฮไลต์อยู่ที่สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนไม่มั่นใจว่าจะต้องทำประชามติก่อนเข้าสู่วาระที่หนึ่งก่อนหรือไม่ เพราะหากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว อาจถูกร้องเรียนในภายหลังได้ จึงมีรายงานข่าวออกมาทำนองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่ร่วมสังฆกรรม
เช่น “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า “เราไม่เสี่ยงหรอกครับเรื่องพวกนี้ ถ้ามันมีความเสี่ยงแม้แต่น้อย และมันไม่ใช่เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ หรือ ครม.เสนอ และเป็นเรื่องของแต่ละพรรค เมื่อเรามีความเห็นของตัวเอง ก็แปลว่าเราไม่ได้เป็นทีมเดียวกัน เราก็ต้องรักษาเอกสิทธิ์ ก่อนย้ำว่าเราไม่อยากมีความเสี่ยงแม้แต่น้อย”
เช่นเดียวกับ สว.สายสีน้ำเงินที่เกาะกลุ่มประมาณ 150-160 เสียง ก็มีท่าทีไม่เล่นด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ส่อเค้าการแก้รัฐธรรมนูญจะแท้ง ทำคลอดไม่สำเร็จ พรรคประชาชนก็ซดน้ำแห้วเหมือนเดิม
แต่รอบนี้มี “เพื่อไทย” ร่วมมือแก้รัฐธรรมนูญด้วย รอบเครื่องเขาสูงกว่าพรรคน้องใหม่ “ชูศักดิ์” จึงเสนอให้สมาชิกรัฐสภายื่นเรื่องทำประชามติกี่ครั้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื้อเวลาออกไป อย่างน้อยๆ วันที่ 13-14 ก.พ.นี้ ก็ยังไม่ถึงขั้นปิดเกม ปล่อยให้ที่ประชุมรัฐสภาอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แล้วรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปก่อน ส่วนหลังจากนั้นเพื่อไทยจะเดินเกมอย่างไรก็ค่อยว่ากันต่อ เนื่องจากบางฝ่ายก็มองว่าเพื่อไทยไม่ได้จริงจัง จริงใจเท่าไหร่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกติกาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อไทยก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไรมากมายเช่นกัน
ทั้งนี้ ต้องติดตามว่าใครกันที่จะนำเรื่องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกศาลไม่รับ แต่คาดการณ์กันว่าครั้งที่สองนี้มีเปอร์เซ็นต์สูงที่ศาลจะรับไว้พิจารณา เพราะปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว สมาชิกรัฐสภาไม่อาจลงมติเดินหน้าได้ เนื่องจากกังวลเรื่องจำนวนครั้งในการทำประชามติ และคงต้องจับตาว่าแม้ได้ข้อสรุปเรื่องจำนวนครั้งแล้ว จะมีเหตุผลใดที่ไม่เห็นด้วยกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘วันนอร์’ ชี้ช่อง ใช้ ‘สทร.’ แทน
"วันนอร์" ลั่น! แก้ญัตติซักฟอกกับการอภิปรายในสภาเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าพาดพิง "ทักษิณ" ก็ต้องสั่งหยุด แนะใช้ สทร.แทนก็ได้ เพราะไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคล "หัวหน้าเท้ง"
‘ทักษิณ’โวยใส่ฝ่ายค้าน ทิ้งปริศนาสายสัมพันธ์ ‘ผู้ก่อตั้งพรรคส้ม’
ต้องไปตามลุ้นกันอีกในสัปดาห์นี้ พุธที่ 19 มีนาคม ว่าสุดท้ายผลการเจรจาพูดคุยระหว่างแกนนำพรรคฝ่ายค้าน-วิปรัฐบาล เรื่องกรอบเวลาในการ
'วันนอร์' ขอเวลาไม่เกิน 3 เดือน ตรวจสอบคำร้องถอดประธาน ป.ป.ช.
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีที่พรรคประชาชนยื่นถอดถอนนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานคณะกรรมการป้องกั
'วันนอร์' ไฟเขียวฝ่ายค้านใช้ 'สทร.' ในญัตติซักฟอก ไม่ผิดข้อบังคับ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านยอมแก้ชื่อญัตติแล้ว คงไม่มีปัญหาอะไรรอหนังสือที่มีการแก้ไขเข้ามาคาด
‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ พายุ(ไม่)หมุน เข็น ‘เฟส3’ แจกวัยรุ่นฝ่าเสียงค้าน
“พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” พายุที่รัฐบาลคาดหวังจาก “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” หรือโครงการแจกเงินหมื่น ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร
พรรคส้มจ่อถอย! ตัดชื่อ 'ทักษิณ' เหลือคำว่า 'พ่อ' ได้เพิ่มวันซักฟอก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่าช่วงเวลาประมาณ 10.00น.วันนี้(13 มี.ค.)นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เชิญนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน