อีกบททดสอบผู้นำหญิงของไทย “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ที่เข้ามานำทัพบริหารประเทศกว่า 7 เดือนแล้ว ภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังจากประชาชน เพราะยังไม่ทิ้งภาพนายกฯ หุ่นเชิดของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบิดา ซึ่งอยู่เบื้องหลังการผุดนโยบายสำคัญต่างๆ ของรัฐบาล
ภายหลังการเข้ามาบริหารประเทศของนายกฯ อิ๊งค์ ที่รับไม้ต่อจากรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีจากค่ายเพื่อไทยด้วยกัน หลายนโยบายได้ถูกสานต่อ ทำให้การเดินหน้าทำงานสามารถทำได้ต่อเนื่อง
แต่ระหว่างทางไม่ได้ราบรื่น ด้วยยังต้องเผชิญหลายวิกฤตประเทศเข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำ
ทั้งนี้ ในช่วงกว่า 7 เดือนของการบริหารประเทศ นายกฯ อิ๊งค์เจอหลายบททดสอบที่เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศในหลายเหตุการณ์ เริ่มต้นวิกฤตแรก “วิกฤตน้ำท่วมใหญ่” ในภาคเหนือที่หนักที่สุด แม้มวลน้ำจะไม่เท่ากับปี 2554 ที่ท่วมเมืองกรุง แต่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยกลับได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการท่วมฉับพลัน ดินถล่ม
จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ถือเป็นงานหนักของนายกฯ อิ๊งค์ ที่ในตอนนั้นเจอเสียงวิจารณ์การทำงานที่ล่าช้าของรัฐบาลในการเข้าช่วยเหลือประชาชน ที่ภาคเอกชนสามารถเข้าไปได้รวดเร็วกว่าหน่วยงานรัฐ
ขณะเดียวกัน นายกฯ อิ๊งค์ยังเจอดรามาระหว่างลงพื้นที่ภาคเหนือ แต่ภาคใต้ก็กำลังเผชิญปัญหาน้ำท่วมหนักเช่นกัน จนเป็นที่มาของคำจากปากนายกฯ อิ๊งค์ที่ว่า “สามีเป็นคนใต้” ยืนยันไม่ละเลยคนใต้แน่นอน
หลังจากผ่านวิกฤตน้ำท่วมมาแล้ว ล่าสุดได้เผชิญวิกฤตใหญ่จากภัยธรรมชาติอีกครั้ง จากเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เรียกว่างานเข้านายกฯ หญิง ที่ระหว่างเกิดเหตุการณ์เจ้าตัวกำลังนั่งประชุมด้านการท่องเที่ยวอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต
ถึงกับต้องหยุดทุกอย่างเพื่อติดตามสถานการณ์ ก่อนบินด่วนกลับมาเมืองหลวงทันที เพราะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซึ่งมีเหตุการณ์ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ 30 ชั้นย่านจตุจักร ถล่มลงมา จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ พร้อมเรียกประชุมด่วนติดตามสถานการณ์ และสั่งการจัดตั้งศูนย์บัญชาการทันทีที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในวันดังกล่าว
ขณะที่นายกฯ ก็ลงไปในพื้นที่เพื่อบัญชาการด้วยตัวเองที่จุดตึก สตง.ถล่ม และที่ศูนย์บัญชาการศาลาว่าการกรุงเทพฯ ก่อนวันถัดมาถกบูรณาการแก้ไขปัญหาการส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชน หลังถูกด่าหนัก จนเจ้าตัวออกอารมณ์เข้มในที่ประชุม ไล่บี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อติดขัด ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้
นับเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และมาเกิดในห้วงรัฐบาลแพทองธารพอดี งานนี้นายกฯ หญิงเลยต้องรับบทหนัก และยังต้องรับบทหนักต่อเนื่อง เพราะการกู้ซากตึก สตง.ถล่มยังไม่เรียบร้อย
อีกทั้งยังต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อเนื่องกับสายตาชาวโลก ทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคการลงทุน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นกับคนไทยในระบบการรับมือสถานการณ์แผ่นดินไหวอีกด้วย
และอีกวิกฤตที่รัฐบาลแพทองธารต้องเจอในขณะนี้คือ “กำแพงภาษีสหรัฐ” ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมาตรการในการขึ้นภาษีสินค้าของไทยที่ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา ในอัตราร้อยละ 36 เรียกว่างานหินวัดฝีมือผู้นำประเทศกันไปเลย เพราะต้องเจอแรงกดดันจากทุกฝ่าย แถมยังเป็นเรื่องระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะจากฝ่ายค้านที่มองว่านายกฯ หญิงทำงานล่าช้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้นักวิชาการหลายคนได้ออกมาคาดการณ์แล้วว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกมาตรการทางภาษี อีกทั้งรัฐบาลควรจะชัดเจนกว่านี้ว่าไทยมีอะไรต่อรองกับสหรัฐบ้าง แต่ทางฟากนายกฯ อิ๊งค์ยืนยันไม่นิ่งเฉย
พร้อมออกแถลงการณ์ “ท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา” โดยระบุช่วงหนึ่งว่า
“ตนได้ตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้ขึ้นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มกราคมปีนี้ และมีการหารือกับภาคเอกชน รวมทั้งตัวแทนของสหรัฐถึงข้อเสนออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการมาโดยตลอด สำหรับสิ่งที่เราจะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐคือ ประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่เราคือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐเชื่อถือได้ในระยะยาว
โดยขณะนี้รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และสินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก ขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอเหล่านี้ ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศไทยเหนือสิ่งอื่นใด”
ก่อนวันที่ 8 เมษายน นายกฯ ได้ประชุมสรุปมาตรการรับมือกำแพงภาษีสหรัฐอีกด้วย
ส่วนวิกฤตสุดท้ายที่เป็นเรื่องร้อนเร่งด่วน แต่สุดท้ายรัฐบาลต้องยอมถอยเสียเอง นั่นคือ “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ที่ล่าสุดนายกฯ อิ๊งค์ไฟเขียวถอยก่อน ให้เข้าสภาฯ ในสมัยการประชุมหน้าแทน หลังเจอเสียงค้านจนทนแรงต้านไม่ไหว สู้ถอยออกไปตั้งหลักก่อน ให้กองไฟที่กำลังโหมได้สงบลงไปชั่วคราวก่อนจะดีกว่า
นับว่าห้วงเวลาเพียง 7 เดือน ในการทำหน้าที่นายกฯ เป็นช่วงที่ท้าทาย “แพทองธาร” ในหลายวิกฤต ที่ต้องอาศัยทั้ง “ฝีมือและภาวะผู้นำ” เพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนหนทางต่อจากนี้ยังต้องเผชิญอีกหลายเรื่องให้ต้องแก้ จวบจนรัฐบาลจะครบเทอม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอาแล้ว! ศาลฎีกาฯ นัด 30 เม.ย. ฟังคำร้อง 'ชาญชัย' ขอให้บังคับ 'ทักษิณ' รับโทษ
อดีต สส.ประชาธิปัตย์ไม่ถอย ยื่นศาลฎีกาฯ นักการเมือง รอบที่ 3 ขอให้ไต่สวนกรณี “ทักษิณ” ได้รับอนุญาตให้นอนโรงพยาบาลนอกราชทัณฑ์ ชี้อาจขัดต่อกฎหมายอาญา แม้ศาลเคยยกคำร้องมาแล้ว 2 ครั้ง นัดฟังคำสั่ง 30 เม.ย.นี้
สวนแรง! ลูกนอนใส่แว่นโชว์ไข้-พ่อปางตายอยู่ รพ. 6 เดือนไม่มีรูป
แพทองธาร ชินวัตร นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล สวมแว่น–ใส่น้ำเกลือ บอกพ่อปางตายยังไม่มีภาพ ลูกเป็นไข้โชว์ซะเต็มตา
พปชร. เย้ยไม่บ้าลงเรือใกล้ล่ม รู้ทัน 'ทักษิณ' ห่วงลูกโดนสอย ไม่กล้าทิ้ง ภท.
'ชัยวุฒิ' เปรียบรัฐบาลเหมือนเรือใกล้ล่ม ใครคิดจะไปลงก็บ้าแล้ว ย้ำ พปชร. ชัดเจนไม่เอากาสิโน 'ทักษิณ' ห่วงลูกโดนสอย ยังไม่กล้าทิ้ง ภท. รอจับมือพรรคส้มเลือกตั้งครั้งหน้า
สองตระกูล หนึ่งผลประโยชน์: เบื้องหลังสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
ในขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของไทย เดินทางเยือน ราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน 2568 ในวาระ ครบรอบ