แต่ไม่ว่าอย่างไร การที่แพทยสภามีมติแบบนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการประทับตราว่า “ทักษิณ” ไม่ได้ป่วยในระดับวิกฤต และในทางสังคม เครดิตแพทย์ย่อมดีกว่านักการเมือง
บริบทการเมืองวันนี้เริ่มถูกตั้งคำถามว่า ความขัดแย้งยังจำกัดวงอยู่แค่ภายในพรรคร่วมรัฐบาลระหว่าง สีแดง พรรคเพื่อไทย กับ สีน้ำเงิน พรรคภูมิใจไทย อยู่หรือไม่
หรือมันขยายวงกว้างไปกว่านั้นแล้ว เพราะปัญหาในประเทศขณะนี้มีมากมายมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยได้รับแรงกระแทกอย่างหนักจากกำแพงภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เรื่อยไปจนถึงความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลับมารุนแรงอีกหน
จนกลายเป็นคำถามว่า ในสภาวะบ้านเมืองแบบนี้ ผู้นำอย่าง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวัยยังไม่ถึง 40 ปี เอาอยู่หรือไม่
ขณะที่ความสัมพันธ์ 2 พรรคร่วมเอง ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า ยังอยู่ในสถานะ ลิ้นกับฟัน หรือมันลามไปไกลจนถึงขั้นที่พร้อมจะ แตกหัก หรือไม่
โดยก่อนหน้านี้หลายคนมองว่า การขบเหลี่ยมเฉือนคมของ “แดง-น้ำเงิน” เป็นแค่การชิงไหวชิงพริบในเกมอำนาจธรรมดา แต่สุดท้ายต้องร่วมรัฐนาวากันไปตลอดรอดฝั่ง เพราะสมการทางการเมืองยังไม่เอื้อให้สามารถแตกหักกันได้ รวมไปถึงปัจจัยต่างๆ ยังไม่เหมาะสมต่อการเลือกตั้งในเวลานี้
ทว่า เกมเฉือนคมในสงครามตัวแทนมันดูเข้มข้นเกินการต่อรองธรรมดา โดยเฉพาะท่าทีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่ดูจะรุกหนักในคดีฮั้วเลือก สว.
มีการปล่อยข่าวรายวัน เสมือนหนึ่งมีความคืบหน้าไปอย่างมาก มีการอ้างอิงการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ เส้นทางการเมืองเชื่อมโยงกับบุคคลต่างๆ ฟังดูอาจจะถึงขั้นว่าจะเอาผิดกันได้ในเวลาอันใกล้
ล่าสุดมีการเรียก สว.ล็อตแรกหลายสิบคนเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยมีการไล่บี้ถึงขั้นเอาหมายเรียกไปแปะตามไว้ที่อยู่ในสำเนาทะเบียนบ้าน
หรือการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.ทวี ที่ประกาศกร้าวเลยว่าพร้อมจะสาวไปถึงผู้บงการ
ด้านฟากฝั่งสีน้ำเงินดูจะไม่ยอมเช่นกัน พยายามใช้กลไกในโครงข่ายอำนาจตอบโต้ หรือมีการแสดงท่าทีบางอย่างที่ดูจะไม่ตามน้ำไปกับพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย
โดยอยู่ๆ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาเสนอให้มีการทำประชามติกรณีเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งย่อมไม่เป็นที่พอใจของคนในพรรคเพื่อไทย เพราะกระบวนการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณมหาศาล ต้องยืดระยะเวลาออกไปอีกพอสมควร ที่สำคัญมันสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ผ่านด้วย
รวมไปถึงกรณีที่ สว.กลุ่มหนึ่งยื่นถอดถอนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ กรณีรับเรื่องฮั้วเลือก สว.เป็นคดีพิเศษ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายภูมิธรรมได้ส่งคำชี้แจงต่อศาลแล้ว
จากการตอบโต้กันคนละหมัดก่อนหน้านี้ กลายเป็นเขม็งเกลียวมากขึ้นจนเหมือนจะเอาเป็นเอาตายกันแล้ว
และในขณะที่ แดง-น้ำเงิน กำลังแลกหมัด ก็ปรากฏอีกความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ที่ทำให้หลายคนมองว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้มันเลยจุดความขัดแย้งภายใน ไปสู่จุดเปลี่ยนหน้ากระดานการเมืองกันใหม่แล้วหรือไม่ นั่นคือ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
เพราะแม้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะยกคำร้องของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 และวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 กับขอให้ไต่สวนการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยในคดีหมายเลขแดง ที่ อม.4/2551 จำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดง ที่ อม.10/2552 และจำเลยในคดีหมายเลขแดง ที่ อม.5/2551 หรือคดีชั้น 14
แต่ศาลได้เรียกไต่สวนเอง โดยให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของศาล ว่าการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลหรือไม่ ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้
กรณีนี้ทำให้ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เกิดอาการระแวง ไล่เช็กสัญญาณกันวุ่นว่ามีนัยอะไรหรือไม่ ซึ่งในมุมบวก นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ชัดเจน สิ้นข้อสงสัย
แต่นั่นเป็นมุมบวก เพราะหากผลออกมาตรงกันข้าม เป็นลบต่อตัวนายทักษิณ เรื่องดังกล่าวจะสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองได้
และล่าสุด แพทยสภามีมติลงโทษแพทย์ 3 คน กรณีมีการกล่าวโทษแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม กรณีส่งตัวนายทักษิณรักษาที่ชั้น 14 โดยตักเตือน 1 คน ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน และพักใช้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 คน ในกรณีให้ข้อมูลและเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง
โดยที่ประชุมแพทยสภาเห็นว่า ด้วยข้อมูลหลักฐานทั้งหลายที่ได้รับไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่า นายทักษิณมีอาการป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤต
ที่น่าสนใจ ผู้ที่ลงมาแถลงมติแพทยสภาคือ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 และยังตอบคำถามนักข่าวถึงมติที่ประชุมว่า “มติที่ออกมาเป็นเสียงส่วนใหญ่มากๆๆๆ แล้วกัน”
การที่มติแพทยสภาออกมาแบบนี้ถือว่ามีผลในทางการเมือง และมีผลต่อคดีชั้น 14 เป็นอย่างมาก และอาจจะมีผลต่อวันที่ 13 มิถุนายนนี้ด้วยหรือไม่ เพราะเกี่ยวพันกัน
ซึ่งขณะนี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งแม้นายทักษิณจะไม่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่หากผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมออกมาว่าไม่ได้วิกฤตจริง ย่อมหมายถึงสถานะของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
เพราะ “ทักษิณ” คือผู้นำจิตวิญญาณพรรคเพื่อไทย เป็นพ่อของนายกฯ เป็นคนค้ำยันรัฐบาลชุดนี้
ยังไม่นับรวมว่าใครต้องเซ่นในคดีชั้น 14 นี้หรือไม่ ไม่เว้นแม้แต่ “แพทองธาร” ในฐานะนายกฯ เอง เพราะมีการหยิบคำให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันก่อนที่ออกมายืนยันว่า พ่อป่วยจริงและมีการผ่าตัด ซึ่งอาจเป็น “สารตั้งต้น” ลามมาถึงตัวเองในบริบทผู้นำประเทศได้ อย่างที่ขณะนี้เริ่มมีการพูดถึงเรื่องจริยธรรมกันแล้ว
อย่างไรก็ดี เรื่องมติแพทยสภาจะยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนความตามกฎหมาย เพราะต้องให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษพิจารณา โดยนายสมศักดิ์จะมีเวลาพิจารณา 15 วัน ซึ่งหากรับรองมติแพทยสภาถือว่าจบ แต่หากไม่เห็นด้วยจะต้องกลับเข้าที่ประชุมแพทยสภาเพื่อยืนยันโดยใช้เสียง 2 ใน 3 คือ 48 คน แต่ถ้าเห็นแย้ง แต่ตรงกับความเห็นของ รมว.สาธารณสุข ต้องใช้เสียง 1 ใน 3 คือ 24 คน
ตรงนี้ถือเป็นการวัดใจนายสมศักดิ์ ซึ่งมาจากฝ่ายการเมือง และอยู่ในพรรคเพื่อไทย ว่าจะทำอย่างไร เพราะการตัดสินใจไม่ว่าทางใดทางหนึ่งมีผลกับตัวเองหมด
หาก “สมศักดิ์” เห็นแย้ง และตีกลับแพทยสภา แน่นอนว่าอาจจะถูกใจนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย แต่ตัวเองอาจจะถูกม็อบกดดัน และมีการยื่นร้องเรียนต่อองค์กรอิสระ แต่หากเห็นตรงกับมติแพทยสภา ก็อาจสร้างความไม่พอใจให้นายทักษิณได้เช่นกัน จนอาจมีผลต่อเก้าอี้ รมว.สาธารณสุขที่ตัวเองนั่งอยู่
แต่ไม่ว่าอย่างไร การที่แพทยสภามีมติแบบนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการประทับตราว่า “ทักษิณ” ไม่ได้ป่วยในระดับวิกฤต และในทางสังคม เครดิตแพทย์ย่อมดีกว่านักการเมือง
และนอกจากสัญญาณจากศาลและแพทยสภา อีกจุดที่ชวนให้พรรคเพื่อไทยหวาดระแวงคือ การที่ศาลไม่อนุมัติให้ “ทักษิณ” ออกไปต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเดิมที่ตั้งใจจะไป หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่การมายื่นขออนุญาตในช่วงเวลานี้ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะไม่มั่นใจ และต้องการเช็กสัญญาณอะไรหรือไม่ เพราะหลายสิ่งหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมามันดูแปลกๆ จากที่เคยเป็น
บริบทการเมืองตอนนี้หลายๆ เหตุการณ์ บางครั้งมันดูเลยจุดความขัดแย้งภายใน และชวนให้สงสัยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.อานนท์ ตั้งข้อสังเกต หรือฮุนเซนแค้นทักษิณ เพราะกำลังจะเปิดบ่อนแข่ง!
รศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ วิเคราะห์เดือด ปมฮุนเซนลงมือเชือดแพทองธาร อาจมีเบื้องหลังแค้นฝังลึกจากทักษิณ ชินวัตร ผู้กำลังพยายามดันกาสิโนในไทยชนกับผลประโยชน์ใหญ่ในกัมพูชา
'นิพิฏฐ์' แซะทักษิณเงียบผิดปกติ สงสัย 'ลุงนักอัด' มีคลิปลับในมือ
อดีต สส.พัทลุงตั้งข้อสังเกต “ทักษิณ” เงียบสนิทไม่ออกมาปกป้องลูกสาวหลังคลิปฉาว ชี้คำพูดนายกฯเหมือนยืนคนละฝั่งกับราชอาณาจักรไทย บอกตรงๆ “ไม่ไว้วางใจ” พร้อมประชด ถ้าแก้ตัวไม่ได้ คงต้องข้ามโขงไปเป็นนายกฯกัมพูชาจริงๆ
วัดใจ 'พีระพันธุ์-รทสช.' ถอนตัวหรือเอาเก้าอี้ หลังขยับขึ้นเป็นพรรคร่วมอันดับ 2
จับตา พรรครวมไทยสร้างชาติ หลังที่ประชุมใหญ่ มีมติส่ง “พีระพันธุ์” แจ้ง “แพทองธาร” ขอเปลี่ยนตัวนายกฯเป็น “ชัยเกษม” หวังลดแรงต้านกรณีคลิปเสียงฉาว ขณะที่สถานะพรรคกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 มีสิทธิ์ได้เก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่ม
เสียงปริ่มน้ำ อำนาจปริ่มแตก: เมื่อ 'แพทองธาร' กลายเป็นศูนย์กลางวิกฤติ!
เมื่อ คลิปเสียงระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร กับ สมเด็จฮุน เซน ถูกฝ่ายกัมพูชาเผยแพร่ ไม่ใช่แค่เพียงเปิดเผยเนื้อหาสนทนา แต่คือจุดเริ่มต้นของการ สะท้อนวิกฤติภายในรัฐบาลชุดนี้ อย่างชัดเจน
ห่วงชามข้าวมากกว่าอธิปไตย 'ม็อบ-นิติสงคราม'ลั่นกลองรบ
ความพยายามดันทุรังของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หลังคลิปหลุดระหว่างสนทนากับ สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภา และพ่อนายกฯ กัมพูชา
คลิปเสียงสะท้านแผ่นดิน! เกมสกปรกของฮุนเซน กับความอัปยศของแพทองธาร
คลิปเสียงความยาวกว่า 17 นาทีที่หลุดออกมาระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร กับ สมเด็จฮุน เซน กลายเป็น จุดเปลี่ยนทางการเมือ