17-18 ก.พ.อภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ ฝ่ายค้านรอ 'หวด-ลงดาบ' รัฐบาล

การเมืองสัปดาห์นี้ต้องติดตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงวันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ 17-18 ก.พ.นี้ ที่จะมีการประชุมสภาตามญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน 173 คน เข้าชื่อกันเพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลในประเด็นต่างๆ เช่น ความผิดพลาดในการบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

โดยแม้การอภิปรายครั้งนี้จะเป็นการอภิปรายทั่วไป ไม่มีการลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ อีกทั้งไม่ใช่ศึกซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นดีกรีความเข้มข้นในห้องประชุมและการเคลื่อนไหวนอกห้องประชุมสภาจึงยังเทียบกับศึกซักฟอกไม่ได้ แต่ก็คาดว่าคงเข้มข้นระดับหนึ่ง โดยฝ่ายค้านมีเวลาในการอภิปราย 22 ชั่วโมง ส่วนรัฐบาลมีเวลาในการชี้แจง-หักล้างการอภิปรายของฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง รวมเวลาทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง ถือเป็นไฮไลต์สำคัญการเมืองในสภาอีกหนึ่งฉาก ก่อนปิดสมัยประชุมสภา 28 ก.พ.นี้

ซึ่งสัปดาห์นี้ สภาจะงดการประชุมในวันพุธที่ 16 ก.พ. เพื่อมาประชุมพฤหัสบดีกับศุกร์สองวันติด ทำให้ฝ่ายค้านและรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ก็จะได้มีเวลาในการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องข้อมูล-เอกสารการอภิปรายต่างๆ

อย่างในส่วนของ พรรคเพื่อไทย พบว่ามี ส.ส.เข้าชื่อขออภิปรายร่วม 50 คน และได้เวลาในการอภิปรายทั้งสิ้นประมาณ 12 ชั่วโมงเศษ ขณะที่ พรรคก้าวไกล มีข่าวว่ามีการเปิดห้องติวเข้ม ส.ส.ของพรรคที่จะอภิปรายกันอย่างเข้มข้น หลังพรรคได้เวลาในการอภิปราย 5 ชั่วโมง และมี ส.ส.ก้าวไกลขออภิปรายร่วม 18 คน

สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย-ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวไว้ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมเต็มที่ เรื่องเวลาได้จัดสรรปันส่วนลงตัวแล้วทั้งในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านและภายในพรรคเพื่อไทย โดยพรรคเพื่อไทยได้เวลาอภิปราย 760 นาที เรื่องเนื้อหาพรรคร่วมฝ่ายค้านประชุมและแบ่งเนื้อหาให้แต่ละพรรคไปแล้วว่าใครจะพูดเรื่องอะไร มุมใด ในพรรคเพื่อไทยก็มีการแบ่งแล้วเช่นเดียวกัน เหลือเพียงการขัดเกลาและฝึกซ้อมเพื่อให้แม่นยำในเนื้อหาของตัวเอง

"เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาของรัฐบาลที่เสื่อมลงทุกอย่าง คนจะได้เห็นข้อบกพร่องของรัฐบาลอย่างชัดเจน แม้เขาจะทำงานต่อได้ แต่เข้าสู่การนับถอยหลัง เพราะประชาชนหมดศรัทธาแล้ว คิดว่าหากอยู่ต่อได้ก็คงอยู่ต่อได้อีกไม่นาน" ประธานวิปฝ่ายค้านโหมโรงเรียกน้ำย่อย ก่อนลงทำศึกลับฝีปากกับรัฐบาล

ขณะที่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า ประเด็นในการอภิปรายจะชี้ให้เห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปต่อไม่ไหวแล้ว ถ้ายังบริหารประเทศอยู่ มันเดินหน้าไม่ได้ เช่นในเรื่องเศรษฐกิจ และย้ำว่ากรอบการอภิปรายจะเทน้ำหนักไปที่เนื้อหา 4 เรื่องคือ  1.เศรษฐกิจที่เกี่ยวกับปากท้องประชาชน 2.โรคระบาด ทั้งโควิดและอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 3.การทุจริตคอร์รัปชัน และ 4.การบริหารราชการแผ่นดิน

จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องเหมืองทองอัครา ตอนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจปีที่แล้วจนได้รับการพูดถึงอย่างมาก บอกไว้เช่นกันว่า จะเป็น ส.ส.เพื่อไทยคนหนึ่งที่ลุกขึ้นอภิปรายรอบนี้ โดยที่ผ่านมาเพื่อไทยมีการเตรียมการมานานพอสมควร เช่นในเรื่องของการ เตรียมข้อมูลที่จะใช้ในการอภิปราย มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสนับสนุนในเรื่องของข้อมูลที่จะให้ ส.ส.ของพรรคนำไปใช้ในการอภิปราย ส่วนประเด็นเรื่อง การทุจริต จะเป็นประเด็นที่ค่อนข้าง ปิดลับ สักเล็กน้อย เพราะพรรคเพื่อไทยจะมีคณะทำงานในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

"คิดว่าจะเป็นการเปิดแผลด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ประชาชนอยากรับรู้รับทราบ อะไรที่รัฐบาลซุกไว้ใต้พรมก็อาจจะสามารถนำมาเปิดเผยในครั้งนี้ และอาจจะสั่นคลอนรัฐบาลได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน เพราะขณะนี้รัฐบาลเองก็ค่อนข้างจะมีปัญหาความขัดแย้งภายใน"

โดย จิราพร-ส.ส.ร้อยเอ็ด เพื่อไทย ย้ำว่า อภิปรายรอบนี้จะมีการอภิปรายประเด็นเรื่องเหมืองทองอัคราด้วยแน่นอน หลังเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเลื่อนการชี้ขาดคดีข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดฯ กับรัฐบาลไทยออกไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งฝ่ายค้านพบความผิดปกติตรงที่ว่า คดีดังกล่าวยังไม่จบ แต่ทางรัฐบาลไทยกับบริษัท คิงส์เกตฯ ได้มีการเจรจาระหว่างกัน และระหว่างที่ข้อพิพาทอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ก็พบว่ามีการนำพื้นที่ 4 แสนไร่ให้กับบริษัท คิงส์เกตฯ เพื่อที่จะเข้ามาสำรวจแร่ทองคำเพิ่มเติม ทั้งที่ยังไม่มีคำชี้ขาดออกมาว่าการที่ออกคำสั่งปิดเหมืองดังกล่าวถูกหรือผิด ใครเป็นฝ่ายถูก ใครเป็นฝ่ายผิด แต่มีการเริ่มให้สัมปทานเพิ่ม มีการให้สิทธิพิเศษในการสำรวจเพิ่ม และจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ายังเหลือที่ดินอีกประมาณ 6 แสนไร่ในอีกหลายจังหวัด ที่ทางบริษัท คิงส์เกตฯ ประกาศไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทว่า เขาได้ขอมายังประเทศไทยว่าจะอนุญาตให้บริษัทสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งบริษัท คิงส์เกตฯ ระบุด้วยว่าผลการเจรจาเป็นไปในทางบวก น่าจะได้ตามที่ขอทั้งหมด โดยหากรวม 4 แสนไร่กับ 6 แสนไร่ ก็เท่ากับจะได้รวมประมาณเกือบ 1 ล้านไร่ในการได้สิทธิพิเศษเข้ามาสำรวจแร่ในประเทศไทย

"เรื่องเหมืองทองอัครา การอภิปรายทั่วไปที่จะมีขึ้นจะมีการอภิปรายย้ำอีกครั้งหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยตอบคำถามกับประชาชนเลย และจะมีการเปิดประเด็นใหม่ที่เป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับประชาชนด้วย" จิราพรระบุไว้

ขณะที่ฝ่ายพลเอกประยุทธ์ นายกฯ ก็มีการให้ทีมงานในตึกไทยคู่ฟ้าเตรียมประเด็นในการชี้แจงและประสานข้อมูลกับกระทรวงต่างๆ เพื่อขอข้อมูลไว้เตรียมพร้อมชนกับฝ่ายค้านไว้แล้ว และคาดว่าประชุม ครม.อังคารที่ 15 ก.พ.นี้ คงมีการหารือพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเช็กความพร้อมของแต่ละกระทรวงก่อนขึ้นเวทีดวลกับฝ่ายค้านต่อไป. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

'เศรษฐา' แพลมโผครม.นิ่งแล้ว ไม่มีแกว่ง อุบตอบเก้าอี้หดเหลือแค่ตำแหน่งนายกฯ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ระบุว่าส่งรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีถึงนายกฯ โดยนายกฯย้อนถามว่า “หรือครับ ไม่ทราบ”

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

เปิดภาพนักการเมืองหลายพรรคร่วมประชุม 'ผู้ช่วยรัฐมนตรี'

นายสุทิน คลังแสง รมว.กห. ให้การต้อนรับคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ โดยมี พล.อ.อ.สุรพล พุทธมนต์ และ นายจำนงค์ ไชยมงคล ผช.รมต.ประจำ กห. เป็นประธาน

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)