แบงก์ชาติชี้ศก.ไทยยังเสี่ยงเงินเฟ้อจ่อทะลุ 5%

“แบงก์ชาติ” ชี้ระยะสั้นเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง หวั่นปัญหา global supply disruption แรงกว่าคาด ค่าครองชีพทะยานกระทบการบริโภค รับไตรมาส 2-3 เงินเฟ้อจ่อพุ่งสูงกว่า 5% หลังราคาพลังงานขยับไม่หยุด ลุ้นปลายปี 65 ถึงต้นปี 66 ทุเลา ชมเปาะมาตรการกระตุ้นภาคการคลังเป็นพระเอก ประคองเศรษฐกิจช่วงโควิด ลุ้นครึ่งหลังปี 66 จีดีพีกลับมาโตใกล้เคียงก่อนโควิด

19 เม.ย. 2565 – นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมเมื่อปลายเดือนมี.ค. 2565 ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ อยู่ที่ 3.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4% และปี 2566 อยู่ที่ 4.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.7% จากปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

“ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบผ่านเรื่องราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก และส่งผ่านมายังต้นทุนการผลิต กำลังซื้อ ค่าครองชีพให้เพิ่มสูงขึ้น ส่วนผลกระทบผ่านช่องทางการค้าและตลาดเงินยังมีจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปรัสเซียน้อย เพียง 0.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 2564” นายสักกะภพ กล่าว

ขณะที่การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้น ไม่กระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเท่าระรอกเดลต้า จึงคาดว่าน่าจะไม่มีมาตรการควบคุมในลักษณะที่เข้มงวดในวงกว้าง รวมทั้งการทยอยผ่อนคลาย และเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นไปตามคาดตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2565 ดังนั้นจึงคาดว่าในปีนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ที่ 7% ส่วนปี 2566 อยู่ที่ 1.5% ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ อยู่ที่ 5.6 ล้านคน ส่วนปีหน้าเหลือ 19 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 20 ล้านคน

นายสักกะภพ กล่าวอีกว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงระยะสั้นช่วง 6 เดือนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหา global supply disruption ที่อาจรุนแรงกว่าคาด, ผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากจนกระทบต่อการบริโภคภาคประชาชน, การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ แต่ยังพอจะมีปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงกว่ากรณีฐาน คือ การใช้จ่ายภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ชะลอการใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้า (pent-up demand)

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะปรับตัวขึ้นสูงกว่าที่คาด ที่ระดับ 4.9% และปีหน้าที่ 1.7% โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 2-3/2565 อาจสูงกว่า 5% ก่อนจะปรับลดลงมาในช่วงไตรมาส 4/2565 ถึงต้นปี 2566 จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับสูงมาก และการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในปีหน้า

นอกจากนี้ ประเมินว่าเมื่อสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือของ ธปท. (มาตรการ 3 ก.ย.) ตัวเลขหนี้เสียคงมีการปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพิ่มในลักษณะก้าวกระโดด ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินมีการติดตามดูแลเรื่องการกันสำรอง และเงินกองทุนที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มากกว่า โดยน้ำหนักสำคัญคือต้องทำให้มั่นใจว่ารายได้ของครัวเรือนกลับมาได้เร็ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องไม่สะดุด

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 1 ปีข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานหลัง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% และไม่อ่อนไหวตามความผันผวนของราคาระยะสั้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะบรรเทาลง ขณะที่แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีน้อย แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินนนั้น จะให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า โดยสามารถมองข้ามผ่านอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นในช่วงนี้ได้ แต่ก็จำเป็นต้องสื่อสารที่มาของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นให้สาธารณชนได้เข้าใจ

“ยังไม่เห็นราคาที่สูงขึ้นในหมวดสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหมวดอาหารสดและราคาพลังงาน เป็นการส่งผ่านปกติ ขณะเดียวกันข้อมูลล่าสุดชี้ว่าโมเมนตั้มของ relative price changes ที่สำคัญบางตัว เช่น อาหารสำเร็จรูป เริ่มชะลอลง” นายสุรัช กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ พัฒนาการของเงินเฟ้อ เช่น การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ แรงกดดันค่าจ้าง อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ และเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าจะได้เห็นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินธปท. กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา นโยบายการคลังและนโยบายการเงินทำงานควบคู่กันเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นวิธีที่จะดูแล shocks รุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้ดีที่สุด โดยหากดูตัวเลขโดยรวมของมาตรการกระตุ้นจากภาคการคลังของไทย ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งการใช้จ่ายภาคการคลังในช่วงโควิด-19 นั้น ถือเป็นพระเอกในการรองรับแรงกระแทกจาก shocks ใหญ่ได้ ขณะที่ภาพรวมเสถียรภาพการคลังของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หนี้สาธารณะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ สะท้อนว่าบทบาทของนโยบายการคลังในสถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นสิ่งสำคัญ และหลายประเทศทั่วโลกก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

“ประเมินว่าระดับของจีดีพีไทยจะกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปี 2566 และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ตัวเลขจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาด โดยในช่วงนี้ยังต้องมีการพิจารณาข้อมูลความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนประเด็นเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐนั้น จากพื้นฐานเศรษฐกิจด้านต่างประเทศของไทยที่ยังมีความเข้มแข็ง จึงทำให้ปัจจุบันจะมีส่วนต่างที่ค่อนข้างมากระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ แต่ยังถือว่ามีผลค่อนข้างจำกัดต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังไม่พบกว่าเป็นการไหลออกไปมาก หรือมีการไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว และจะเห็นได้จากค่าเงินบาทตั้งแต่ช่วงต้นปี ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ดังนั้นจึงถือว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จึงไม่เป็นประเด็นที่กังวลมากนัก” นายปิติ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ปาฐกถาพิเศษ 1 ชม. พูดเรื่องธุรกิจอสังหาฯ ในฐานะนายกฯ รับสับสนนิดหน่อย

“เศรษฐา” ร่ายยาวเกือบ 1 ชม. เหน็บบางคนนั่งทางในบนหอคอย ลองลงมามือเปื้อนดินตีนเปื้อนโคลนบ้าง โวคนไทยโชคดีที่มีนายกฯ Pro Business พ้อ รมว.คลัง ไม่มีอำนาจลดดอกเบี้ย ทั้งที่แพงโคตร ลั่นไม่เคยเลียรองเท้าบูธ ขอคืนพื้นที่ทหาร

นายกฯ แขวะ 'ธปท.' ชมคนพูดลดดอกเบี้ยจิตใต้สำนึกดี

'เศรษฐา' แขวะ 'แบงก์ชาติ' ไม่ยอมหั่นดอกเบี้ย ชมเปาะเหล่าทัพ-หน่วยงานรัฐ มีจิตสำนึกดีอยากให้ลด ขอบคุณเห็นความลำบากประชาชน ย้ำเรื่องหนี้สารตั้งต้นหายนะประเทศ

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ