คลังรับเฟ้อพุ่งเกิน 5% กดดันเศรษฐกิจ

“อาคม” รับเงินเฟ้อพุ่งทะลุ 5% หลังราคาน้ำมันกระฉูดกดดันเศรษฐกิจ รัฐเร่งอัดมาตรการลดภาษีดีเซล ลดค่าน้ำ-ไฟช่วยประคอง แจงต้องพิจารณาเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศอย่างรอบคอบก่อนออกมาตรการ หวั่นเป็นภาระการคลังในอนาคต ลุ้นเปิดประเทศ ยกเลิก Test & Go ดูดต่างชาติเข้าไทยปีนี้ไม่ต่ำ 2 ล้านคน ฟุ้งส่งออกยังแกร่ง รับบทพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระทุ้งรัฐวิสาหกิจเร่งลงทุน

12 พ.ค. 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “รวมพลังก้าวข้ามวิกฤติ เดินหน้าเศรษฐกิจไทย” ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญที่ต้องเผชิญ 2 เรื่องสำคัญ คือ ปัญหาราพลังงานและอาหารสดที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ ที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวพุ่งขึ้นไปเกิน 5% จากปกติอยู่ที่ไม่เกิน 1% โดยเฉพาะราคาพลังงานในรอบนี้ที่ถือว่าค่อนข้างเข้มข้นมากกว่าราคาพลังงานที่เคยเพิ่มสูงขึ้นในอดีตหลายเท่าตัว ด้วยเหตุผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาพลังงานด้วย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือทั้งแบบพุ่งเป้าและแบบทั่วไป อาทิ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และมาตรการลดภาระค่าครองชีพสำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น กลุ่มวินมอเตอร์ไซด์ และมาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟ

สำหรับการพยุงราคาน้ำมันดีเซลนั้น ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ชี้แจงไว้ชัดเจนแล้วว่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงกว่าคาดการณ์ค่อนข้างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องยกระดับเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลจาก 30 บาทต่อลิตรขึ้นไปตามสถานการณ์ แต่รัฐบาลก็ยังคงหลักการในการเข้าไปสนับสนุนราคาคนละครึ่ง เช่น หากราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นจากราคาเพดาน 1 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปช่วยเหลือ 50 สตางค์ต่อลิตร ส่วนอีก 50 สตางค์ต่อลิตรนั้น เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องแบกรับ

“มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 3 บาทต่อลิตรนั้น เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปช่วยพยุงราคาน้ำมันไว้ให้ต่ำกว่าเพดานที่รัฐบาลเคยกำหนด หรืออยู่ในระดับเพดานที่เหมาะสม ถือเป็นมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ใช้น้ำมันเป็นการทั่วไป” นายอาคม กล่าว
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดประเทศ ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 และการยกเลิกมาตรการ Test & Go ในเดือน พ.ค. 2565 ส่งผลดีกับภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 7 แสนคน ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 2 ล้านคน ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในแถบชายแดนก็น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังจากมีการเปิดด่านการค้าชายแดน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ พื้นที่ชายแดนกลับมาคึกคักมากขึ้น ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในส่วนของภาคส่งออก ยังถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในปี 2564 ตัวเลขการส่งออกของไทยเติบโตได้ 20% ขณะที่ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขส่งออกอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 15% ดังนั้นจึงถือว่าภาคการส่งออกยังสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีในปี 2565

นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐผ่านงบประมาณแผ่นดิน และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ยังคงเดินหน้าตามปกติ โดยรัฐบาลได้เร่งรัดให้หน่วยงานต่าง ๆ เบิกจ่ายงบประมาณตามที่ได้รับจัดสรรตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2565 โดยเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงนี้ รวมทั้งรัฐบาลยังมีการออกมาตรการด้านภาษีต่าง ๆ ทั้งการยกเว้น และลดหย่อนให้ตามสถานการณ์โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโควิด-19 ส่วนรายได้ของประชาชนที่ได้รับอุดหนุนจากภาครัฐผ่านโครงการคนละครึ่งนั้น ไม่ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี และยังมีมาตรการสนับสนุนสตาร์ทอัพ กองทุนร่วมทุน (เวนเจอร์ แคปปิตอล) และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นต้น

“มาตรการด้านภาษีที่รัฐบาลได้เร่งผลักดันออกมานั้น อาจทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไป แต่ท้ายที่สุดรายได้ของภาษีจะกลับมาในอนาคต เมื่อธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ รัฐบาลก็จะมีรายได้กลับมาเป็นรายได้แผ่นดินในรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการดำเนินมาตรการเพื่อดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ยังจำเป็นต้องดูแลสถานะและเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศด้วย มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่เป็นการสร้างภาระให้ภาคการคลังในอนาคต” นายอาคม กล่าว

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้ รัฐบาลจะมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริม 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. สังคมดิจิทัล หรือเศรษฐกิจดิจิทัล 2. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นและสนับสนุนการลงทุนและธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 3. การลงทุนและพัฒนาด้านสุขภาพ เพื่อให้สอดรับกับการก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย ถือเป็นประเด็นสำคัญ และเป็นภาระของภาครัฐในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินสำหรับดูแลวัยเกษียณ วัยชราภาพ ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ดังนั้นมาตรการดูแลสังคมผู้สูงวัย จึงเป็นนโยบายที่ภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแล ทั้งการใช้จ่ายงบประมาณและการดูแลหลักประกันทางสุขภาพ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดอาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ นายธีธัช สุขสะอาด นายประณต เลิศมีมงคลชัย รองกรรมการผู้จัดการ และนายกรานต์ ฉายาวิจิตรศิลป์