'รฟท.' เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน PPP ‘สถานีหนองคาย -นาทา’ ดันไทยเป็นฮับขนส่ง

รฟท. เร่งพัฒนาย่านสถานีหนองคาย-สถานีนาทา เตรียม PPP พัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ปรับเพิ่มขบวนรถสินค้าให้บริการข้ามไป สปป.ลาว ดันไทยเป็นฮับขนส่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

30 พ.ค.2565 – นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศ(รฟท.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีอุดรธานี สถานีหนองตะไก้ สถานีนาทาและสถานีหนองคาย เพื่อติดตามความก้าวหน้าแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างเชื่อมทางรถไฟ จากสถานีหนองตะไก้ ถึงพื้นที่ ICD นิคมอุสาหกรรมอุดรธานี และแผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย รวมทั้งแผนพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) สถานีนาทา สำหรับเพิ่มการอำนวยความสะดวกระบบขนส่งโลจิสติกส์ รองรับการเติบโตทางการค้า การลงทุนของไทย และสปป.ลาวในอนาคต

นายจิรุตม์ กล่าวว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้มีการรับฟังการบรรยายโครงการก่อสร้างทางรถไฟ เพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยวและพัฒนาพื้นที่ จากสถานีรถไฟหนองตะไก้ ไปยังพื้นที่โครงการนิคมอุสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง 3.702 กิโลเมตร (กม.)

โดยมีพื้นที่อยู่ติดกับเส้นทางรถไฟ ซึ่งทางโครงการได้เสนอให้สร้างทางรถไฟจากสถานีหนองตะไก้ไปจนถึงเขตพื้นที่ของโครงการฯ ระยะทางประมาณ 2.802 กม. ส่วนที่เหลือโครงการจะเป็นผู้รับดำเนินการลงทุนสร้างทางรถไฟ รองรับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป

นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน จากการรับฟังการบรรยายการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศ ไทย–สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าหลากหลายชนิด อาทิ ข้าวมอลต์ ยางมะตอย เม็ดพลาสติก สินค้าอุปโภค และผลไม้ รวมทั้งยังได้ติดตามความก้าวหน้าแผนพัฒนาการขนส่งสินค้าทางราง ซึ่งการรถไฟฯ ได้มีการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีหนองคาย และ CY สถานีนาทา รวมถึงการเพิ่มขบวนรถสินค้า ทั้งรถจักร และรถพ่วง

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ ในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย–สปป.ลาว ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว–จีน

สำหรับการพัฒนาย่านสถานีหนองคายนั้น ในปัจจุบันกรมศุลกากรได้ออกประกาศเป็นพื้นที่ตรวจปล่อยแล้วจำนวน46,800 ตารางเมตร โดยการรถไฟฯ อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งพื้นที่คงเหลือจากการใช้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยเป็น 6 แปลง แปลงละ 16,640 ตารางเมตร เพื่อออกประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน 4 แปลง และกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง 2 แปลง พร้อมกับกำหนดราคาค่าเช่าให้เป็นไปตามระเบียบการรถไฟฯ

ส่วนแผนพัฒนา CY ย่านนาทา พื้นที่ 268 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศูนย์ซ่อมบำรุงเบาที่สถานีนาทา และสามารถเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ด้วยถนนตัดใหม่ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) รวมถึงเชื่อมต่อกับศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกทางด้านเหนือของพื้นที่ โดยปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้กำหนดแผนใช้พื้นที่ของศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ดังนี้

โซน A พื้นที่สำหรับกองเก็บตู้สินค้าประเภทต่างๆ (CONTAINER YARD) 120 ไร่ ,โซน B พื้นที่ลานขนส่งสินค้า (TRANSSHIPMENT YARD) ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ ราง ถนน และลานนกองเก็บโดยรอบ 75 ไร่ เพื่อให้สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีนและ สปป.ลาว รวมถึงส่งออกไปยังสปป.ลาวและจีน พร้อมกับมีการติดตั้งเครนสำหรับยกตู้และวางตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนลงมาวางชั่วคราว

และโซน C พื้นที่อาคารสำนักงาน โรงพักสินค้า และที่จอดรถ 73 ไร่ จะประกอบไปด้วย ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่สำนักงานศุลกากร และคลังสินค้าศุลกากร ส่วนที่ 2 เป็นศูนย์ปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ อาทิ ลานและอาคารตรวจสอบสินค้าอาคารเอ็กซเรย์รถบรรทุก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการแบบ One -Stop Service

สำหรับการพัฒนา CY นาทา การรถไฟฯ ได้คำนึงถึงความต่อเนื่องในการใช้งานภายในพื้นที่ และสามารถต่อเชื่อมกับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถบรรทุกของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสถานะปัจจุบันฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ ออกแบบรายละเอียดงานโยธาแล้ว รวมถึงฝ่ายบริการสินค้าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจ้างบริษัทปรึกษาเพื่อดำเนินการโครงการลงทุนแบบร่วมทุน (PPP)

นายจิรุตม์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากแผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย และการพัฒนา CY สถานีนาทาแล้ว การรถไฟฯยังได้ดำเนินปรับเพิ่มขบวนรถสินค้าสำหรับให้บริการ เพื่อรองรับการเติบโตทางการค้าผ่านแดนในอนาคตอีกด้วยโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

แผนระยะสั้น ปี 2564–2565 ได้เปิดให้บริการ 5 ขบวนไป–กลับ พ่วง 25 แคร่วิ่งทุกวัน มีรถจักรให้บริการ 10 คัน และรถพ่วง 350 แคร่ รองรับการขนส่งสินค้าได้ 73,000 TEU,แผนระยะสั้น ระยะกลาง ปี 2566-2568 มีการเพิ่มขบวนรถให้บริการเป็น 8 ขบวนไป–กลับ พ่วง 25 แคร่วิ่งทุกวัน มีรถจักรให้บริการเพิ่มเป็น 16 คัน และรถพ่วง 530 แคร่ รองรับการขนส่งได้ 116,800 TEU

และแผนระยะยาว ปี 2569 เป็นต้นไป มีการเพิ่มขบวนรถให้บริการเป็น 12 ขบวนไป–กลับ พ่วง 25 แคร่วิ่งทุกวัน มีรถจักรให้บริการเพิ่มเป็น 24 คัน และรถพ่วง 794 แคร่ รองรับการขนส่งได้ 175,200 TEU

อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ คาดหวังว่า การพัฒนาย่านสถานีหนองคาย และ CY นาทา

นอกจากนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางราง รองรับการเติบโตทางการค้าผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น อีกทั้งยังสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตามนโยบายรัฐบาลได้ในอนาคตอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แอป Pi Financial ลงทุนครบจบทุกหลักทรัพย์ รุกตลาดต่างประเทศ เทรดฟรี! หุ้นสหรัฐฯ ถึง 30 มิ.ย.นี้

Pi Financial แอปลงทุนครบวงจร จาก บริษัท หลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) (Pi Securities Public Company Limited) ภายใต้คอนเซ็ปต์ Pi Financial Store ลงทุนง่าย

ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกจีน ตอบรับลงทุนไทย คาดร่วมตั้งฐานผลิตมูลค่า 3 หมื่นล้าน

โฆษกรัฐบาล เผย ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกจากจีนตอบรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทย คาดร่วมตั้งฐานการผลิตมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านในไทยภายในปี 2567

5 ประโยชน์ของหม้อแปลงไฟฟ้า ควรค่าแก่การลงทุนไหม

หม้อแปลงไฟฟ้า ถือเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สำคัญมาก เพราะทำหน้าที่แปลงแรงดันไฟฟ้าจากระดับหนึ่งไปยังอีกระดับหนึ่ง โดยหม้อแปลงมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีการออกแบบและรูปแบบใช้งานเฉพาะ

'เซลส์นิด' แจงสภาสูง ขยันทัวร์นอกเหตุจำเป็น เมินตอบปม 'ทักษิณ'

'เศรษฐา' ปัดแก้ตัวงบไม่มางานไม่เดิน เคลมราคายางพุ่งผลงานรัฐบาล ชี้ดึงต่างชาติลงทุนล้านล้านบาท ใช้เวลามากกว่า 7 เดือน แถลงความก้าวหน้าทัวร์นอก 26 มี.ค.