‘คมนาคม-กทม’ ถกอัปเดตยอดหนี้สายสีเขียวกว่า5.33 หมื่นล้าน เล็งเสนอสภา กทม. รับทราบ

‘คมนาคม’ถกร่วม กทม. หารือการจำหน่ายทรัพย์สิน-โอนภาระทางการเงินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ-ใต้เปิดยอดภาระการเงิน อัปเดต พ.ค. 65 กว่า 5.33 หมื่นล้าน ด้าน กทม. เล็งเสนอเข้าสภา กทม.ชุดใหม่ภายใน 2-3 เดือนนี้ ก่อนชง ครม.รับทราบ ชี้รับบริหารเป็นเรื่องของนโยบาย

17 มิ.ย.2565-นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 2/2565 เพื่อดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (สายสีเขียวเหนือ) และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (สายสีเขียวใต้) โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานฯ วันนี้ (17 มิ.ย. 2565) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) เพิ่มเติม ฉบับที่ 1 ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าว ของ รฟม. โดยรับทราบภาระทางการเงินโครงการฯ

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน (ณ พ.ค. 2565) วงเงินรวม 53,321.90 ล้านบาท แบ่งเป็น สายสีเขียวเหนือ วงเงิน 34,171.70 ล้านบาท และสายสีเขียวใต้ วงเงิน 19,150.19 ล้านบาท ขณะเดียวกัน รฟม. ยังได้ประมาณการภาระทางเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสายสีเขียวเหนือ และสายสีเขียวใต้ จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565 วงเงินรวม 53,313.22 ล้านบาท ประกอบด้วย ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงจากโครงการรถไฟฟ้าทั้งหมด, งบประมาณการเวนคืนที่ดิน, ค่าจ้างที่ปรึกษาฯ, รายได้ของ รฟม. รวมถึงภาระดอกเบี้ยช่วง เม.ย.-ก.ย. 2565 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาระทางการเงินจะเป็นเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่ว่า กทม. จะรับจริงไปเมื่อใด 

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ กทม. จะนำเสนอเข้าที่ประชุมสภา กทม. ชุดใหม่ เพื่อบรรจุวาระและพิจารณาเห็นชอบภาระหนี้ที่จะรับโอนภายใน 2-3 เดือนนับจากนี้ จากนั้นทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคมจะเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบร่างฯ และรายละเอียดทางด้านการเงินการคลัง ก่อนที่จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ เบื้องต้นกำหนดไว้ว่า ภายใน ก.ย. 2565

“กทม. ขอเวลา 2-3 เดือน เพราะสภา กทม. มีวาระการพิจารณาค้างเยอะ และต้องจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากเป็นสภา กทม. ชุดใหม่ ที่เพิ่งจะมีการเลือกตั้งเข้ามา ซึ่งจะต้องซักซ้อม และทำความเข้าใจในเรี่องดังกล่าว โดยรายละเอียดของ MOU ฉบับเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 จะเป็นการโอนโครงการฯ มีการอ้างอิงที่มาที่ไป อีกทั้งมติ ครม. และมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) รวมถึงเงื่อนไขการรับโครงการเพื่อเดินรถ และการรับภาระทางการเงินของ กทม. ที่เกิดจากการดำเนินการโครงการจาก รฟม. ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร ส่วนกรณีหากจะโอนโครงการฯ กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม.นั้น เป็นเรื่องนโยบายของรัฐ ซึ่ง รฟม. พร้อมดำเนินการตามนโยบาย” นายภคพงศ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินหน้า ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงินค่าทดแทน เวนคืนอสังหาริมทรัพย์

'รัดเกล้า' เผย คค. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน