'แบงก์ชาติ’ ยันไม่แทรกแซงบาทอ่อนค่า! ปล่อยไปตามกลไกตลาด

‘แบงก์ชาติ’ ยันไม่แทรกแซงบาทอ่อนค่า ปล่อยไปตามกลไกตลาด เหตุปัจจัยนอกกดดัน ลุ้นครึ่งปีหลังพลิกกลับมาแข็งค่า ระบุยังไม่เห็นเงินทุนไหลออก พร้อมย้ำชัดเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น จับตาเงินเฟ้อทะยานแตะ 8%

9 ก.ค. 2565 – นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในขณะนี้ เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากเงินดอลล่าร์ที่แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนทั่วโลก โดยตั้งแต่ต้นปีพบว่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าไปแล้ว 11.3% ขณะที่เงินสกุลต่าง ๆ อ่อนค่าทุบสถิติ เช่น เงินยูโรที่อ่อนค่าในรอบ 20 ปี ส่วนเงินบาทของไทยอ่อนค่าอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยจากข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ต้นปีพบว่า เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 7.6% ซึ่งมาจากปัจจัยเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเข้ามากดดันเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศ ปัจจัยเรื่องระบบเศรษฐกิจการเงินภายในของไทยก็มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน โดยแนวทางในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในขณะนี้จะยังคงปล่อยให้การเคลื่อนไหวเป็นไปตามกลไกของตลาดเป็นหลัก เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวสะท้อนราคาทุกอย่าง ดังนั้น ธปท. ไม่สามารถบอกได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง และการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ระดับระดับหนึ่งอาจก่อให้เกิดการสะสมความเสี่ยงที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว
“ธปท. ไม่ได้มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับใดในใจ ยังคงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเป็นหลัก แต่ถ้าหากมีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากผิดปกติ ตรงนี้ ธปท. จะเข้าไปดูแล เราแทรกแซงเรื่องความผันผวน แต่เราไม่แทรกแซงเรื่องระดับของค่าเงินบาท เรามีแนวทางในการดูแลอยู่แล้วว่าจะเข้าไปในช่วงไหน ตอนไหน แต่เราไม่เคยกำหนดว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ที่ระดับไหน ธปท. เน้นดูความผันผวนมากกว่า ถ้าผันผวนมากกว่าปกติจึงจะเข้าไปดูแล มองไปข้างหน้าทุกอย่างยังมีความเสี่ยง อ่อนได้ก็แข็งได้ แต่บาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ยังเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก” นางดารณี กล่าว

นางสาวดารณี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นการไหลออกของเงินทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย โดยตั้งแต่ต้นปี ถึง 5 ก.ค. 2565 เงินทุนยังเป็นบวกสุทธิที่ 9.7 หมื่นล้านบาท โดยในตลาดทุนเป็นบวก 1.04 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดพันธบัตร ไหลออกราว 7 พันล้านบาท ส่วนในระยะข้างหน้า เชื่อว่าตลาดมีการคาดการณ์อยู่แล้ว หากไม่มีปัจจัยใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ทุกอย่างก็น่าจะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ขณะที่ ธปท. ยืนยันว่ายังไม่มีมาตรการในการควบคุมเงินทุนไหลออก เพราะเชื่อว่าการปล่อยให้ตลาดเคลื่อนไหวเสรีเป็นกลไกที่ดี แต่มาตรการในการดูแลยังต้องมี ซึ่งถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ หรือไม่มีวิกฤติจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้

สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ ธปท. ดูแลค่าเงินบาทนั้น มองว่า ค่าเงินอ่อนหรือแข็งมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ธปท.พูดมาตลอดว่าเงินบาทขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก ๆ แต่ถามว่าสิ่งที่ ธปท.พยายามพูดมาตลอดคือให้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง ธปท.ทำนโยบายภาพรวม ภาพใหญ่ ก็เข้าใจแต่ละกลุ่มมีผลกระทบที่ต่างกัน สิ่งที่ ธปท. พยายามทำคือให้แต่ละกลุ่มมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ดี มีการพยายามลดกฎเกณฑ์ให้ทุกคนบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น พยายามทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงถูกลง แต่เรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนก็จะยังอยู่กับเราอีกนาน

นางสาวณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ระดับ 7.66% ยังไม่ถึงระดับสูงสุด โดยคาดว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าอาจจะได้เห็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสูงกว่านี้ มีโอกาสที่จะถึงระดับ 8% แต่เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าระดับราคาสินค้าจะต้องเพิ่มขึ้นทุกเดือน เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้เป็นการเทียบกับปีก่อน ซึ่งสะท้อนฐานที่อยู่ในระดับต่ำ ถ้าไม่มีช็อกเพิ่มเติม เงินเฟ้อก็น่าจะทยอยหายไปเอง ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ยังไม่ส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในทันที แต่จากการศึกษาพบว่า หากเงินบาทอ่อนค่ายาวกว่าที่ประเมิน อาจส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการมากกว่าในอดีต

“ธปท. คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีแรงบวกกลับเข้ามาที่ทำให้บาทไม่อ่อนมากกว่านี้ หรือกลับมาแข็งขึ้นด้วยซ้ำ หากท่องเที่ยวกลับมา ราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าขนส่ง ค่าระวางการส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ ซึ่งคาดว่าปีนี้จะติดลบประมาณ 8% แต่เราเริ่มเห็นความคลี่คลายว่าตัวซับพลายคลี่คลาย ทำให้ค่าขนส่ง ค่าระวางการส่งสินค้าระหว่างประเทศเริ่มปรับลดลง และหากท่องเที่ยวกับมา ราคาน้ำมันไม่สูง ก็จะช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลังหรือต้นปีหน้า ที่ 5 พันล้านดอลล่าร์” นางสาวณชา กล่าว

นางสาวณชา กล่าวอีกว่า นโยบายการเงินขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ และเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว ซึ่ง ธปท. ต้องการออกมาย้ำเพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ชัดเจน จากก่อนหน้านี้ที่การปรับนโยบายการเงินจะให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ล่าสุดปัจจัยต่าง ๆ เปลี่ยนไป เศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว มองไปในระยะข้างหน้าก็เห็นแนวโน้มการส่งผ่านการฟื้นตัวที่ชัดเจน จึงต้องให้น้ำหนักกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยแตกต่างจากสหรัฐ และไทยก็ไม่ได้ใช้นโยบายกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ทำให้มีอิสระในการทำนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ดี การทำนโยบายการเงินจะต้องดูเป้ามาย 3 เรื่อง ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเงินเฟ้อจะมีเป้าหมายในระยะปานกลาง แม้ว่าในระยะสั้นปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่ากรอบ แต่ในระยะปานกลางและระยะยาวยังต้องติดตามเครื่องชี้หลายอย่าง การทำนโยบายการเงินจะต้องมุ่งให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2% ในระยะ 5-10 ปี และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะยังไม่มีการส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อในระยะสั้น แต่เป็นการยึดเหนี่ยวไม่ให้อัตราเงินเฟ้อไปไกลกว่าที่คาดการณ์ เป็นการทำให้เกิดความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับนี้ และไม่ถูกลากให้สูงขึ้นไปตามคาดการณ์ในระยะสั้น

เพิ่มเพื่อน